xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” บูรณาการ กม.ฟอกเงิน หลัง FATF ถอดชื่อออกจากบัญชีดำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

รมว.ยุติธรรม มอบนโยบาย 40 หน่วยบูรณาการกฎหมายฟอกเงินเตรียมรับการประเมิน FATF ในปี 2559 หลังจากไทยพ้นถูกขึ้นบัญชีดำ



วันนี้ (21 พ.ย.) ที่สโมสรราชพฤกษ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการเรื่องการบูรณาการทำงานกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 พร้อมกับมอบนโยบายและแนวทางการทำงาน โดยมีผู้บริหารจาก 40 หน่วยงานเข้าร่วมประชุมเพื่อ นำไปกำหนดเป็นนโยบายและดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมรับการประเมินของ FATF ในปี 2559

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้จะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเพื่อสร้างความเข้าใจถึงบทบาท และหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานตามกฎหมายฟอกเงินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพื่อให้นำไปกำหนดเป็นนโยบายด้านการทำงานในอนาคต

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปี 2555 คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ FATF ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดมาตรฐานสากลในด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการ้าย กำหนดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่ก่อการร้าย ส่งผลให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จนกระทั่งในปี 2556 ภายหลังจากรัฐบาลและปปง.ร่วมกันผลักดันและสนับสนุนจนกระทั่งมีการตรา พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งเพิ่มเติมความผิดมูลฐานอีกหลายฐาน รวมถึง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ที่ประชุมคณะทำงานหรือ FATF พิจารณาและมีความเห็นว่าประเทศไทยมีความคืบหน้าอย่างมากในการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวจึงได้พิจารณาถอดรายชื่อประเทศไทยออกจากบัญชีดำ

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวอีกว่า แม้ประเทศไทยจะถูกถอดจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายแล้ว แต่ไทยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพโดยจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับการประเมินผลของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน หรือ FATF ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานสากล ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ที่จะมาประเมินผลซ้ำอีกครั้งในปี 59 ว่าได้นำกฎหมายดังกล่าวไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ กฎหมายดังกล่าวไม่ใช่เฉพาะ ปปง.เท่านั้นที่ต้องนำไปใช้ จะต้องทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนำไปใช้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามความผิดมูลฐานทั้ง 25 มูลฐาน ทาง ปปง.นั้นได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานมาโดยตลอด แต่ในการดำเนินการบางเรื่อง ยังมีปัญหาอุปสรรค ข้อขัดข้อง เพราะหลายหน่วยงานยังไม่เข้าใจกฎหมายดังกล่าว และบทบาทอำนาจหน้าที่ ที่ไม่ชัดเจน

ดังนั้น การประชุมวันนี้ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงิน จะได้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ ในการประสานความร่วมมือ ในการบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม โดยนำแนวนโยบาย แนวทางปฏิบัติที่ได้รับวันนี้ไปกำหนดเป็นนโยบาย และถ่ายทอดสู่แผนงานโครงการประจำปีของแต่ละหน่วยงานต่อไป

รมว.ยุติธรรมกล่าวต่อว่า ตนมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำงานสรุปผลการปฏิบัติงานว่านำกฎหมายการฟอกเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร ก่อนให้สำนักงานป้องกันและปรามปราบการฟอกเงินเป็นฝ่ายตรวจสอบ และสร้างกลไกลขึ้นมาว่าจะตั้งเป็นศูนย์การทำงานหรือไม่ จากนั้นให้รวบรวมผลส่งให้คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน ประเมินผลต่อไป

นอกจากนี้ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ ในระดับสากล และนำไปสู่การเป็นประเทศที่ไม่มีความเสี่ยง ในด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสนับสนุนการก่อการร้ายที่ยั่งยืนซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุน และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น