สุราษฎร์ธานี - อัยการจังหวัดเกาะสมุย เตรียมสรุปสำนวนสั่งฟ้องคดีฆ่า 2 นักท่องเที่ยวบนเกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ได้ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากรับสำนวนจากพนักงานสอบสวนมาตรวจอย่างละเอียดมาแล้ว ด้านกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เตรียมฟื้นฟูสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติหลังเกิดเหตุ ในขณะที่ชาวบ้านหวั่นแรงงานเถื่อนจะก่อเหตุซ้ำเพราะไม่มีการควบคุมดูแล
สำหรับคืบหน้าคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุด คณะอัยการจังหวัดเกาะสมุย และอัยการภาค 8 ได้เร่งพิจารณาสำนวนในคดีฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่หาดทรายรี หลังจากให้ทางพนักงานสอบสวนส่งมอบสำนวนคดีมาตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ครบ 12 วันแล้ว ซึ่งทางอัยการได้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวน สอบเพิ่มเติมอีก 2 ประเด็น ล่าสุด ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนมาแล้วแต่มีติดขัดเพียงเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าภายในสัปดาห์นี้ทางอัยการจังหวัดเกาะสมุย จะสามารถสรุปสำนวนคดีสั่งฟ้องต่อศาลจังหวัดเกาะสมุยได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ทางสำนักงานกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ได้จัดส่งคณะทำงานรับฟังข้อคิดเห็นการหารมาตรการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวเกาะเต่า นำโดย น.ส.สุตสิริ สุคนธรัตน์ หัวหน้าคณะทำงาน ร่วมประชุม เพื่อเข้ารับข้อคิดเห็น และรับข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้นำชุมชน และหัวหน้าส่วนราชการบนเกาะเต่า ซึ่งในการประชุม ทางผู้ประกอบการได้เสนอให้มีการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวรู้จักวัฒนธรรมของคนไทยก่อนเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ รวมถึงเรื่องของการแต่งกาย จะต้องแต่งกายให้เหมาะสม ไม่แต่งกายในเชิงยั่วยุ การท่องเที่ยวต้องเที่ยวในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ไปในที่เปลี่ยว และให้เลือกสถานที่ในการมีเพศสัมพันธ์ ควบคุมแท็กซี่ให้มีคุณภาพ จัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวให้ครบวงจร จัดทำแผ่นป้ายประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว พร้อมแทรกเนื้อหาประเพณีวัฒนธรรมของไทย และข้อปลีกย่อยให้นักท่องเที่ยวรู้ว่าสิ่งไหนควรทำสิ่งไหนไม่ควรทำ พร้อมทั้งให้มีความระมัดระวังอันตรายในจุดเสี่ยง
นอกจากนั้น กลุ่มผู้ประกอบการยังเรียกร้องให้ทางภาครัฐเร่งหามาตรการการควบคุมการก่อสร้างบ้านพักบังกะโล เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบสังคม ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยบางแห่งปล่อยน้ำเสียลงในทะเลโดยตรง และบางแห่งจัดทำส้วมไม่ถูกสุขอนามัยโดยต่อท่อระบบขับถ่ายลงในทะเลโดยตรง ซึ่งของเสียเหล่านี้จะไปทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศในบริเวณทะเลใกล้ชายหาด
หลังจากรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการ และผู้นำชุมชนแล้ว น.ส.สุตสิริ สุคนธรัตน์ หัวหน้าคณะทำงาน ได้เปิดเผยว่า ทางกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวจะเร่งจัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวรับรู้ข้อมูลในการเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ และนำขึ้นเว็บไซต์ และจะเร่งจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร พร้อมเตรียมจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ และอาสาสมัครในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ พร้อมนำข้อมูลที่ได้รับรายงานต่อผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยวเพื่อนำเสนอต่อผู้รับผิดชอบต่อไป
ขณะที่แหล่งข่าวรายหนึ่งในพื้นที่เกาะเต่า กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ประชาชนบนเกาะเต่ายังมีความหวาดผวา และระแวงเกี่ยวกับการดูแลป้องกันเหตุของของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ เกี่ยวกับแรงงานชาวต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมาย ที่มีมากกว่า 4,000 คน เท่าที่ผ่านมา มีข้อมูลว่าการนำแรงงานต่างด้าวขึ้นมายังเกาะเต่าจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการการจัดเก็บหัวคิว หรือเรียกขึ้นบัญชีดำโดยดำเนินการจัดทำบัตรผ่าน หรือบัตรที่ชาวแรงงานเถื่อนเรียกว่าบัตร 12 ราศี โดยกำหนดผู้ที่จะนำแรงงานเถื่อนขึ้นมาทำงานบนเกาะเต่าจะเสียเงินค่าทำบัตรครั้งแรกในราคา 1,500 บาท พร้อมปั๊มรูปสัตว์ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งบัตรดังกล่าวจะมีอายุเพียง 1 เดือน
จากนั้นแรงงานเถื่อนจะต่อเสียค่าต่อบัตรเดือนละ 500 บาท โดยจะมีการเปลี่ยนบัตรและรูปสัตว์ในบัตรไปทุกๆ ครั้งที่มีการต่อบัตร หากผู้ใดไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้นกำหนด หากถูกจับกุมจะต้องจ่ายครั้งละ 5,000 บาท ทางชาวบ้านจึงอยากให้มีการควบคุมแรงงานต่างด้าวบนเกาะเต่าให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน แรงงานต่างด้าวที่ทำงานบนเกาะเต่า เจ้าหน้าที่ไม่มีการควบคุม หรือปฏิบัติตามกฎหมาย ปล่อยให้อยู่กันอย่างเสรี กลุ่มคนงานที่เป็นวัยรุ่นพอหลังเลิกจากงานแล้วในยามค่ำคืนยังออกมาดื่มสุรากินอาหารปะปนกับนักท่องเที่ยวตามชายหาด ซึ่งหลายคนหวั่นวิตกว่าอาจเป็นชนวนการก่อเหตุสะเทือนขวัญในครั้งต่อไปอีกก็ได้