xs
xsm
sm
md
lg

ศาลอุทธรณ์ลดโทษจำคุก 3-8 เดือน นักรบศรีวิชัยบุกเอ็นบีที

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก 3-8 เดือน 85 นักรบศรีวิชัย บุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที่ ปี 51 ส่วนจำเลยที่เป็นเยาวชน ศาลปรานีให้รอลงอาญา ด้านทนายความยื่นหลักทรัพย์คนละ 2 แสนขอประกันตัว

ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา เมื่อเวลา 12.15 น. วันนี้ (17 พ.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำ อ.4486/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายธเนศร์ คำชุม กับพวก รวม 85 คนซึ่งเป็นกลุ่มนักรบศรีวิชัยของกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง, ร่วมกันไม่มีเหตุอันสมควรเข้าไปหรือซ่อนตัวในเคหสถาน หรือสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยมีอาวุธในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ หรือทรัพย์สิน โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธ,ร่วมกันพาอาวุธไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 210, 215, 309, 358, 364, 365 และ 371 พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490, พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2535

คำฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 22-26 ส.ค. 2551 จำเลย 85 คน ร่วมกันประชุมวางแผนนัดแนะระดมพลจากสะพานมัฆวานรังสรรค์และสถานที่อื่น ตกลงกันไปเพื่อกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกอาคารสำนักงานสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25-26 ส.ค. 2551 จำเลยทั้งหมดพกพาอาวุธปืน เครื่องกระสุน มีดดาบ มีดพก ร่วมกันไปทำลายทรัพย์สินและบุกรุกสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันทำลายทรัพย์สินกว่า 15 รายการ รวมความเสียหายกว่า 6 แสนบาท โดยเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้หยุดการกระทำจำเลยทั้งหมดก็ไม่หยุด อีกทั้งจำเลยยังร่วมข่มขืนใจ น.ส.ตวงพร อัศววิไล และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และพนักงานคนอื่นๆ ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ไม่ให้จัดรายการออกอากาศ และขับไล่ให้ออกจากที่สำนักงาน

คดีนี้ศาลชั้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ. 2490 ความผิด พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และฐานซ่องโจร รวมจำคุก 1 ปี 18 เดือน จำเลยที่ 2 มีความผิด พ.ร.บ.อาวุธปืนฯและซ่องโจร จำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท ส่วนจำเลยอื่นได้รับโทษตามความผิดฐานบุกรุก ฐานซ่องโจรลดหลั่นกันได้แก่ จำเลยที่ 3-29, 31-38, 40, 41, 43-46, 48-79 และ 82 จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 39 และ 80 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ปรับ 500 บาท จำเลยที่ 30, 47 และ 81 มีกำหนด 12 เดือน จำเลยที่ 83-85 มีกำหนด 9 เดือน จำเลยที่ 24 มีกำหนด 1 ปี 12 เดือนไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 30, 47, 81, 83-85 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 30,47 และ 81 อายุยังไม่เกิน 20 ปี จำเลยที่ 83-85 ยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จึงเห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษจำเลยดังกล่าวไว้มีกำหนด 2 ปี ให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ข้อหาและคำร้องอื่นให้ยก

โดยวันนี้ จำเลยที่ 7, 19, 36, 42, 73 และ 85 ไม่มาศาล จากนั้นศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลยทันที แม้ทนายความจำเลยจะพยายามขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาก็ตาม ศาลอุทธรณ์เห็นว่ามีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยที่ 1-41 และจำเลยที่ 43-85 กระทำผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองหรือไม่ เห็นว่าโจทก์พนักงานสอบสวนเบิกความสอดคล้องกันว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มีคำสั่งให้กลุ่มจำเลยกับพวกที่ไม่นำตัวมาฟ้องให้บุกรุกสถานทีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในวันที่ 26 ส.ค. 2551 เวลา 05.00 น.จำเลยรวมกลุ่มกันที่ริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีอาวุธปืน มีด ไม้กอล์ฟ บุกเข้าไปภายในอาคารดังกล่าว บังคับให้พนักงานหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไล่ให้ทุกคนออกจากอาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าห้ามแต่ไม่เป็นผล เห็นว่าแม้จำเลยจะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่การที่บุกรุกให้หยุดเสนอข่าวต้องมีกฎหมายรองรับ พฤติการณ์แห่งคดีและการกระทำของจำเลยเป็นการมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้น ส่วนจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน แต่การนำสืบของโจทก์ไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้า ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์นั้น โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยคนใดเป็นผู้กระทำผิด อุทธรณ์โจทก์จึงฟังไม่ขึ้น

ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นฯ โจทก์มีนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้ประกาศข่าวของสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที เบิกความว่า ในคืนเกิดเหตุขณะปฏิบัติหน้าที่กลุ่มจำเลยพกอาวุธเข้ามาในสำนักงาน พร้อมกับให้พนักงานทุกคนหยุดปฏิบัติหน้าที่และออกไปจากสำนักงานดังกล่าวนั้น เห็นว่าการบุกรุกโดยมีอาวุธและสั่งให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติงาน ทำให้พนักงานเกิดความหวาดกลัว ยอมทำตามคำสั่งของพวกจำเลย การกระทำดังกล่าวจึงถือเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมพาอาวุธปืนไปในเมืองโดยไม่มีเหตุ ฟังจากคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นผู้ครอบครองอาวุธโดยมีใบอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 2 รับสารภาพว่า พกเครื่องกระสุนปืน ขนาด .22 จำนวน 1 นัด และขนาด .38 จำนวน 5 นัด การกระทำดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจำเลยอื่นจะมีส่วนรู้เห็นด้วย อีกทั้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจเบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 กับพวกพกอาวุธปืนและไม้ แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของใคร พยานที่นำสืบยังไม่สามารถฟังได้ว่าจำเลยอื่นร่วมกระทำผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะตามฟ้อง

ส่วนความผิดฐานสมคบกันเป็นซ่องโจร นั้นโจทก์นำสืบว่าทราบข่าวแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯจะมีการบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที แต่พยานหลักฐานโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่า พวกจำเลยทั้ง 85 คนได้ร่วมประชุมวางแผนกันล่วงหน้าก่อนบุกรุก เห็นว่าเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร ที่ศาลชั้นต้นลงโทษ ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยขอให้ศาลรอการลงโทษเห็นว่า ลักษณะการชุมนุมขอจำเลยเป็นการชุมนุมทางการเมือง ก่อความไม่สงบวุ่นวาย สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง และบุกรุกสำนักงานของผู้อื่น ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องกันกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานบุกรุก แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องในฐานนี้แต่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจนำมาวินิจฉัยได้

พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1-41, 43-85 มีความผิดฐานบุกรุกในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและข่มขู่จะใช้กำลังประทุษร้าย ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ขณะก่อเหตุอายุไม่เกิน 20 ปี ลงโทษจำคุก 8 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ขณะเกิดเหตุอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้จำคุกคนละ 6 เดือน และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานพกพาอาวุธปืน ไปในที่สาธารณะ และมีเครื่องวิทยุสื่อสารโดยไม่ได้รับอนุญาตลงโทษจำคุก 4 เดือน จำเลยที่ 1-41, 43-85 ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ยกเว้นจำเลยที่ 1 รวมโทษแล้วคงจำคุกไว้ 8 เดือน จำเลยที่ 30 ,47 และ 81 ลดโทษหนึ่งในสามคงจำคุก 6 เดือน และจำเลยที่ 83-85 ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 3 เดือน โดยจำเลยที่ 30, 47, 81, 83-85 ขณะกระทำผิดเป็นเยาวชนจึงให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ยกฟ้องฐานซ่องโจร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ภายหลัง นายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความจำเลย กล่าวว่า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดและกรมธรรม์ประกันชีวิตขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดคนละ 2 แสนบาทในระหว่างฎีกาสู้คดี ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้











กำลังโหลดความคิดเห็น