สน.พระอาทิตย์
เพราะหากวันหนึ่งวันใดไม่มีเงินล่อใจ หรือมีรางวัลเชิญชวนแล้ว ภาพพจน์ด้านลบๆของตำรวจ รวมทั้งพฤติกรรมการเรียกรับสินบนจะกลับคืนมาหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่พล.ต.อ.สมยศต้องตรึกตรองให้ถ่องแท้ถึงรากเง้าปัญหาตำรวจ จะแก้ด้วย”เงิน”นำหน้ามากกว่าการสร้างจิตสำนึกคำว่า "หน้าที่ตำรวจ" สิ่งไหนจะเหมาะสมกว่ากัน.
การบริหารงานตำรวจยุค "บิ๊กอ๊อด"พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กุมบังเหียน "กรมปทุมวัน"ผ่านมาครบ 1 เดือนเต็ม เริ่มจะเห็นสไตล์การทำงานของ "แม่ทัพสีกากี"รายนี้แล้วว่า น่าจะใช้ "เงิน"นำหน้าขับเคลื่อนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ฉีกแนว"ผบ.ตร."ในอดีต มาเป็นสไตล์ตำรวจนักเล่นหุ้นที่อู่ฟู่ลำดับต้นๆของเมืองไทย!!!
เมื่อไม่นานหลังเป็นผบ. ตร. เพิ่งมีข่าวพล.ต.อ.สมยศ ควักเงินจำนวน 270 ล้านบาท ซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง(PP) ของ บมจ. วธน แคปปิตัล (WAT) จำนวน 7,500 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 14.20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ซึ่งยังไม่รวมบุตรสาว "ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง"ที่เข้ามาถือหุ้นเดียวกันอีก 2,500 ล้านหุ้น มูลค่า 90 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 4.73% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท
สไตล์การใช้เงินในการบริหารงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อแลก” งานจากลูกน้อง ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตั้งแต่ครั้งที่พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) ดูแลงานด้านการจราจร ผุดไอเดีย "แจกเงินลดคอรัปชั่น"
โครงการนี้เป็นการมอบเงินรางวัลจำนวน 1 หมื่นบาท ให้ตำรวจจราจรที่สามารถจับผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ทำผิดกฎจราจรแล้วนำเงินมาติดสินบนตำรวจจราจร โดยให้ถ่ายคลิปเอาไว้เป็นหลักฐานดำเนินคดีฐานติดสินบนเจ้าพนักงาน
เ เพื่อหวังแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นและการเรียกรับผลประโยชน์ ไม่ให้ตำรวจรับสินบน
แม้ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองหลายคน และกระแสสังคมจะออกมาทักท้วงโครงการนี้ เพราะเห็นว่าอาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนกับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการจับกุมผู้ติดสินบนเจ้าหน้าที่แลกกับการพ้นความผิดทางกฎหมาย ถือเป็นเรื่องผิด ตำรวจผู้ทำหน้าที่รักษากฎหมายมีหน้าที่ต้องจับกุมดำเนินคดีอยู่แล้ว ไม่ต้องมีรางวัลใดๆ
แต่พล.ต.อ.สมยศ เห็นด้วยกับไอเดีย "แจกเงินลดคอรัปชั่น” เพราะมองว่าการให้เงินรางวัล 1 หมื่นบาทกับตำรวจที่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดกำหมายจราจรและพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ จะช่วยทำลายวัฒนธรรมการรับส่วย จึงให้ดำเนินการต่อเนื่องทั่วประเทศเกี่ยวกับสินบนทุกกรณี ไม่เฉพาะงานจราจร
“จะไม่เป็นเพียงการจ่ายรางวัลนำจับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น แต่หากประชาชนมีพยานหลักฐาน จนถึงขั้นแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับสินบน ก็พร้อมจะมอบเงินรางวัล 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนด้วยเช่นกัน”
แนวทางการบริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยุคพล.ต.อ.สมยศกุมบังเหียนยังคงถูก ตอกย้ำขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้ในกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่ง เดย์ ซึ่งเป็นกิจกรรมทำความสะอาดภายในรั้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะมีขึ้นทุกวันพุธสุดท้ายของแต่ละเดือน
กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์มีขึ้นเพื่อให้ข้าราชการตำรวจที่มีที่ตั้งอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่านปทุมวัน ได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบดูแลความสะอาด ดูแลความเรียบร้อยภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สร้างความสามัคคีเป็นหมู่คณะ
วันพุธที่ 29 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นพุธสิ้นเดือนครั้งแรก นับตั้งแต่พล.ต.อ.สมยศรับตำแหน่งผู้นำกรมปทุมวัน กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ที่ตำรวจหลายร้อยนายจากหน่วยงานต่างๆภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เข้าร่วม ก็ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบแตกต่างจากที่ผ่านมา
โดยผบ.ตร.ในยุคก่อนๆ กิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์จะมีเพียงการร่วมกันทำความสะอาดสถานที่ภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มาในยุค "บิ๊กอ๊อด"นอกจากร่วมกันทำความสะอาดแล้วยังมีการจัดซุ้มอาหาร และตั้งโต๊ะเก้าอี้ รวมทั้งมีดนตรี ขับกล่อมให้ตำรวจที่เข้าร่วมกินกรรมได้รับประทานอาหารร่วมกันเคล้าเสียงเพลง มิหนำซ้ำในการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ในวันพุธสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน แว่วๆว่านอกจากมีซุ้มอาหาร ดนตรี และเครื่องดื่ม เหมือนที่ผ่านๆมาแล้ว ยังจะมีการจับรางวัลแจกให้กับตำรวจที่เข้าร่วมกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ด้วย
ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรับกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ สร้างความรื่นรมย์ พร้อมรางวัลมากมาย นอกจากคืนความสุขให้ลูกน้องตามคำยอดฮิตที่สังคมทั่วไปชอบนำมาใช้แล้ว อีกนัยยะหนึ่งก็เป็นสิ่งล่อใจให้ตำรวจอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมที่พล.ต.อ.สมยศจัดขึ้นกันให้มากๆ
ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลก ที่พล.ต.อ.สมยศจะใช้ "เงิน”ในการขับเคลื่อนงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างแรงจูงใจลูกน้องให้ทำงาน เพราะดูจากการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพล.ต.อ.สมยศและนางพจมาน พุ่มพันธุ์ม่วง คู่สมรส ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กรณีเข้ารับตำแหน่ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
พล.ต.อ.สมยศ มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 374,679,849 บาท แบ่งเป็นของพล.ต.อ.สมยศ 246,455,152 บาท(เงินฝาก 18 บัญชี 11,544,651 บาท เงินลงทุน 12 แห่ง 53,117,900 บาท เงินให้กู้ยืม 2 รายการ 109,000,000 บาท ที่ดิน 10 แปลง 40,792,601 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 1 หลัง 2 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น 30 ล้านบาท)
ของนางพจมาน 128,224,696 บาท (เงินฝาก 4 บัญชี 27,790,529 บาท เงินลงทุน 3 แห่ง 1,280,216 บาท ที่ดิน 14 แปลง 65,810,000 บาท โรงเรียนและสิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง 23,343,950 บาท ทรัพย์สินอื่นๆ 10 ล้านบาท) มีหนี้สิน 18,822,122 บาท แบ่งเป็นของพล.ต.อ.สมยศ 13,947,466 บาท ของนางพจมาน 4,874,676 บาท(เป็นเงินกู้จากธนาคารทั้งหมด)
ซึ่งแสดงให้เห็นว่า พล.ต.อ.สมยศ เป็นยอดนักบริหารการเงิน และดำเนินธุรกิจควบคู่กับการเป็นตำรวจได้อย่างประสบความสำเร็จ ทั้งการเงินและหน้าที่การงาน แต่ความสำเร็จในการบริหารการเงินในทางธุรกิจต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องการันตีว่าเมื่อใช้ "เงิน"มาเป็นตัวนำในการบริหารงานตำรวจ จะประสบความสำเร็จสามารถทำให้ตำรวจปลอดจากการคอรัปชั่น หรือมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานเพื่อประชาชนมากขึ้นอย่างถาวรหรือไม่
เพราะหากวันหนึ่งวันใดไม่มีเงินล่อใจ หรือมีรางวัลเชิญชวนแล้ว ภาพพจน์ด้านลบๆของตำรวจ รวมทั้งพฤติกรรมการเรียกรับสินบนจะกลับคืนมาหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่พล.ต.อ.สมยศต้องตรึกตรองให้ถ่องแท้ถึงรากเง้าปัญหาตำรวจ จะแก้ด้วย”เงิน”นำหน้ามากกว่าการสร้างจิตสำนึกคำว่า "หน้าที่ตำรวจ" สิ่งไหนจะเหมาะสมกว่ากัน.