xs
xsm
sm
md
lg

8 สมาคมวิชาชีพชง 7 ข้อเสนอนายกฯ ช่วยแก้ปัญหาออกใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
วสท.ร่วมกับ 7 สมาคมวิชาชีพอุตสาหกรรมก่อสร้าง สุดทนหน่วยงานรัฐออกใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้านานนับปี ทำให้เสียโอกาสลงทุน พร้อมจัดทำ 7 ข้อเสนอยื่นนายกรัฐมนตรี ต้นเดือน พ.ย.นี้ หวังให้ช่วยแก้ปัญหา ลดขั้นตอนพิจารณา กำหนดค่าธรรมเนียมชัดเจนลดปัญหาคอรัปชั่น

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างประสบกับปัญหาการอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้ามาเป็นเวลานาน เนื่องจากปัญหาขั้นตอนซับซ้อน เอกสารจำนวนมากและต้องผ่านหลายหน่วยงาน ซึ่งผลพวงจากความล่าช้าในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ทำให้นักลงทุนในประเทศและต่างชาติมองเห็นปัญหา กลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและเป็นภาระของผู้ซื้อและประชาชน

“ขณะนี้ผู้ประกอบการทนไม่ไหวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างของหน่วยงานราชการที่ล่าช้า บางกรณีนานนับปี ซึ่งแต่ละปีมูลค่างานก่อสร้างภาคราชการสูงถึงประมาณปีละ 6-7 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมการก่อสร้างภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่ต้องล่าช้า ซึ่งการก่อสร้างเป็นต้นทางของการลงทุนต่างๆ ส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจแต่ละปีอย่างมาก ขณะที่อีกปีเศษประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หากไม่รีบแก้ปัญหาไทยจะเสียโอกาสด้านการลงทุนและการแข่งขันกับต่างชาติ” นายสุชัชวีร์ กล่าว

ดังนั้น 8 องค์กรที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.), สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมอาคารชุดไทย และสภาวิศวกร โดยทั้ง 8 องค์กรได้ร่วมกันจัดทำ 7 แนวทางในการแก้ไขปัญหาการออกใบอนุญาตก่อสร้างล่าช้าเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีภายในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ และยินดีรับข้อเสนอแนะอื่นๆ เพิ่มจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

สำหรับ 7 ข้อเสนอมีดังนี้ 1. กำหนดระยะเวลาการออกใบอนุญาตก่อสร้าง และใบอนุญาตถมดิน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระบุการใช้เวลา จำนวนวันการอนุมัติให้ชัดเจน โดยกำหนดไม่เกิน 30 วัน ตามประเภทของอาคารและโรงงานอุตสาหกรรม หากพ้นกำหนดตามระยะเวลาให้แจ้งสาเหตุความล่าช้า สำหรับหน่วยงานอนุญาต ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด

2. กำหนดค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตก่อสร้าง แบ่งตามชนิดและประเภทของอาคาร ประเภทของโรงงานและใบอนุญาตถมดิน โดยให้ใช้เป็นมาตรฐานแก่หน่วยงานของรัฐในส่วนความรับผิดชอบทั่วประเทศ และห้ามไม่ให้มีค่าใช้จ่ายใดๆ อีก เพื่อลดการทุจริตคอรัปชั่น ในการเรียกเก็บเงินสินบนลดการทุจริต คอรัปชั่น

3. ยกเลิกมาตรา 39 ทวิ ในการให้วุฒิวิศวกรหรือวุฒิสถาปนิกเซ็นรับรองการขอใบอนุญาตก่อสร้างในการออกแบบและคุมงานก่อสร้าง เพื่อจะได้มาซึ่งหน่วยงานราชการอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้างในโครงการนั้น

4. ให้สภาวิศวกร และสภาสถาปนิก ห้ามไม่ให้ข้าราชการ วิศวกร และสถาปนิก ที่ทำงานในเขต กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ออกแบบ คุมงานโครงการก่อสร้างในพื้นที่ที่เขตการปกครองของตน ทำงานอยู่ เพื่อปกป้องวิชาชีพวิศวกรและสถาปนิก

5. เจ้าหน้าที่รัฐของ กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ทำหน้าที่ทุกระดับชั้นในการออกใบอนุญาตก่อสร้างต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินทุกปีแก่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อแสดงความมีคุณธรรม

6. กรณีหน่วยของรัฐขอใบอนุญาตก่อสร้างจากหน่วยงานรัฐ กทม. อบจ. อบต. เทศบาล ให้หน่วยงานของรัฐขอโดยตรง โดยไม่ต้องรอผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ขอใบอนุญาตก่อสร้างแทน

และ 7. ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงและ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารที่ล้าสมัย

“หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาได้เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อการลงทุนและการพัฒนาประเทศ และจะทำให้นักลงทุนสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น” นายสุชัชวีร์ กล่าวปิดท้าย

 

กำลังโหลดความคิดเห็น