xs
xsm
sm
md
lg

“วสันต์” นำสถาบันต้านทุจริต มธ. ยื่นนายกฯ ปฏิรูป 9 ข้อต้านโกง ยัน สปช.ไม่ล็อกสเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(แฟ้มภาพ)
สถาบันต้านทุจริต มธ. ยื่น “นายกฯ ตู่” หนุนปฏิรูปป้องโกงให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มโทษโกงไม่มีอายุความ เพิ่มประสิทธิภาพการทำหน้าที่ ปฏิรูปเลือกตั้ง ตรวจบัญชี งดใช้งบพีอาร์ส่วนตัว สอบจัดซื้อ เข้มใช้ กม. ดันไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต้านติดสินบน เลิกรางวัลนำจับ พร้อมเสนอ สนช.-สปช.ต่อ เชื่อโกงลดลง “วสันต์” ยัน สปช.ไม่มีล็อกสเปก


วันนี้ (13 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชนชั่วคราว (กพ.) ตัวแทนสถาบันต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะ ผอ.สถาบันฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กรณีขอสนับสนุนข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และขอเสนอมาตรการในการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานงานสื่อมวลชน ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนรับเรื่อง

ทั้งนี้ ข้อเสนอ 9 ข้อของสถาบันฯ ประกอบด้วย 1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากยิ่งขึ้น อาทิ คดีทุจริตมีโทษไม่ต่ำกว่า 5 ปี และไม่มีอายุความ กำหนดให้มีศาลชำนาญพิเศษดำเนินคดีทุจริต 2. ปฏิรูปหน่วยงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 3. ปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งให้ปราศจากการทุจริต และป้องกันมิให้ผู้ทุจริตคอร์รัปชันได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประชาชน 4. ปฏิรูปให้มีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน รวมถึงภาษรอากรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงเมื่อเข้าสู่ตำแหน่ง ขณะดำรงตำแหน่ง รวมถึงภายหลังจากดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 2 ปี และมีการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวประจำปีอย่างต่อเนื่อง 5. ปฏิรูปการให้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐ และป้องกันการใช้งบประมาณรัฐในการประชาสัมพันธ์ส่วนตัว

6. ให้กรมบัญชีกลางมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ อาทิ ราคากลาง งบประมาณ และบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบโดยวิธีการที่สามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและตลอดเวลา 7. ปฏิรูปการบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันให้มีความเข้มงวดจริงจังมากยิ่งขึ้น เช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนในกรณีคดีเกี่ยวกับการทุจริต ตาม พ.ร.บ.ร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 การป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการก่อสร้างหรือจัดทำโครงการของหน่วยงานรัฐ เป็นต้น 8. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน (OECD Anti-Bribery Convention) เพื่อผูกมัดให้ภาครัฐต้องดำเนินการและให้ความร่วมมือในการลดปัญหาการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และ 9. ยกเลิกรางวัลนำจับและสินบนนำจับเฉพาะกรณี โดยในกรณีที่มิอาจยกเลิกได้เนื่องจากเหตุผลให้นำเข้ากองทุนสวัสดิการของหน่วยงานนั้นๆแทน

นายวสันต์กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวเมื่อเสนอต่อนายกฯ แล้ว จะนำไปเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประธาน สปช.ด้วย ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวมีความเป็นรูปธรรม และสามารถทำได้ ซึ่งจะช่วยให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเบาบางและลดลงไปได้มาก โดยตนหวังผลอย่างสูงเนื่องจากประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ และฝากความหวังมาว่าเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

นายวสันต์ยังกล่าวถึงการคัดเลือกประธาน สปช.ว่า เป็นเรื่องที่ สปช.ต้องหารือกัน โดยชื่อบุคคลที่ปรากฏออกมาก็มีความเหมาะสม คงต้องหารือกันว่าใครมีความพร้อม และปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ส่วนจะมองว่าเป็นการล็อกสเปกหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่มีแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น