xs
xsm
sm
md
lg

สถาบันต้านทุจริตฯมธ. ยื่น"ประยุทธ์"ดัน 9 มาตรการสู้โกงกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (13ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ชั่วคราว (กพ.) ตัวแทนสถาบันต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผอ.สถาบันฯ เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนข้อเสนอและแนวทางแก้ไขปัญหาขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และขอเสนอมาตรการในการปฏิรูปการป้องกันและแก้ไขปัญหาทุจริตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีนายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานงานสื่อมวลชน ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนรับเรื่อง

สำหรับแนวทางที่เสนอประกอบด้วย
1. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการป้องกันปละปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น กำหนดให้มีศาลชำนาญพิเศษเพื่อดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่น พิจารณาคดีเป็นระบบไต่สวน เปิดเผย ไม่ล่าช้า สำหรับข้าราชการ นักการเมือง และเอกชนที่เกี่ยวข้องและกำหนดให้คู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทั้งกำหนดให้คดีทุจริตซึ่งมีโทษไม่ต่ำกว่า 5 ปี ไม่มีอายุความ

2. ปฏิรูปหน่วยงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีอำนาจรับผิดชอบกรณีการทุจริตโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับ 10 ขึ้นไป และให้สำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งจะให้ยกเลิกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับจังหวัด(ป.ป.จ.)กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดโดยให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติในระดับภาคแทนเพื่อแก้ปัญหาบุคลากรถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองและข้าราชการระดับสูงในพื้นที่

3. ปฏิรูปกระบวนการเลือกตั้งให้ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น และป้องกันมิให้ผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนประชาชนโดยกำหนดโทษสำหรับการทุจริตการเลือกตั้งให้รุนแรง เด็ดขาดให้ผู้สนับสนุนการทุจริตเลือกตั้งมีความผิดเทียบเท่าผู้กระทำผิดเป็นโทษร้ายแรงและห้ามผู้ถูกตัดสินว่ามีความผิดทุจริตคอร์รัปชั่นลงสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

4. ปฏิรูปให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินภาษีอากรของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งขณะดำรงตำแหน่ง หลังดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 2 ปีและมีการวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวประจำปีอย่างต่อเนื่อง

5. ปฏิรูปการให้ข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานรัฐและป้องกันการใช้งบประมาณรัฐในการประชาสัมพันธ์ส่วนตัวโดยให้มีกฏหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐปรับปรุงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540ให้เปิดเผยข้อมูลเป็นหลักให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างจริงจัง

6. ให้กรมบัญชีกลางมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐเช่น ราคากลาง งบประมาณ และบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการจัดซื้อจัดจ้างและเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบโดยวิธีการที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเข้าถึงได้ตลอดเวลา

7. ปฏิรูปการบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้มีความเข้มงวดเช่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกรณีคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นตามพ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา พ.ศ.2535 การป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือการขัดกันแห่งปลประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการก่อสร้างหรือจัดทำโครงการหน่วยงานรัฐเป็นต้น

8. ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นภาคีสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบน หรือConvention on Combating Bribery of Foreign Public Officials inInternational Business Transaction (OECD-Anti-Bribery Convention)เพื่อผูกมัดให้ภาครัฐต้องดำเนินการและให้ความร่วมมือในการลดปัญหาการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ

9. ยกเลิกรางวัลนำจับและสินบนเฉพาะกรณีโดยในกรณีที่มิอาจยกเลิกได้เนื่องจากเหตุผลสำคัญให้นำเข้ากองทุนสวัสดิการของหน่วยงานนั้น ๆ แทน

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนำข้อเสนอนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ยังจะเสนอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ด้วย ทั้งมองว่าข้อเสนอดังกล่าวค่อนข้างเป็นรูปธรรมหากสามารถทำได้จะช่วยให้ปัญหาทุตริตลดลงทุกวันนี้ประชาชนตื่นตัวและฝากความหวังกับเรื่องนี้เราจึงต้องร่วมกันแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้ได้และหวังว่ารัฐบาลจะผลักดัน และทางสปช.จะได้นำข้อเสนอนี้ไปพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น