xs
xsm
sm
md
lg

ทนายดัตช์คดีค้ากัญชา ฟ้องกลับอัยการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

แฟ้มภาพ
ผู้ต้องหาฮอลแลนด์คดีฟอกเงิน-ค้ากัญชาข้ามชาติ ส่งทนายฟ้องกลับอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนกับพวก 10 ราย ดำเนินการจับกุมและปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (8 ต.ค.) นายโยฮันเนส เพทรุส มาเรีย ฟานลาร์โฮเวน ชาวเนเธอร์แลนด์ และนางมิ่งขวัญ ฟานลาร์โอเวน หรือแก่นอินทร์ สามีภรรยา โจทก์ที่ 1-2 มอบอำนาจให้ น.ส.บุญญารัตน์ หวังชัย และนายสุประวัตร ใจสมุทร ทนายความยื่นฟ้องนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน,นายกิตินันท์ ธัชประมุข รองอธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน , นายวีรยุทธ เนติวุฒิพงศ์ อัยการผู้เชี่ยวชาญสำนักงานการสอบสวน , นายฉัทปณัย รัตนพันธุ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานการสอบสวน 2 , ร.ต.ท.โสภณ เกษมพิบูลย์ไชย อัยการประจำสำนักงานการสอบสวน 1 , นายเจษฎา ธนาสิทธิ์พันธ์กุล อัยการประจำสำนักงานการสอบสวน 1 , นายกฤตกร รุ่งพรทวีวัฒน์ อัยการสำนักงานการสอบสวน , พ.ต.อ.กู้เกียรติ เจริญบุญ อัยการประจำกอง สำนักงานการสอบสวน 1 , พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้อง กันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และนายอภิชาติ ถนอมทรัพย์ เป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายบุคคลอื่น และเป็นพนักงานสอบสวน กระทำการในตำแหน่งมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200

คำฟ้องสรุปว่า โจทก์ที่ 1 เคยประกอบอาชีพโดยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการร้านกาแฟ หรือคอฟฟีชอปในประเทศเนเธอร์แลนด์ ต่อมาในปี 2552 โจทก์ที่ 1 ได้โอนหุ้นในบริษัทที่เกี่ยวข้องให้กับบุคคลอื่นซึ่งเป็นเจ้าของและดำเนินกิจการดังกล่าวต่อไป และไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจการของร้านกาแฟหรือคอฟฟีชอปดังกล่าวอีก ทั้งนี้ ประเทศเนเธอร์แลนด์มีกฎหมายอนุญาตให้ร้านกาแฟหรือคอฟฟีชอปสามารถประกอบกิจการขายยาเสพติดอย่างอ่อน (soft drug) ในลักษณะค้าปลีกให้แก่ลูกค้าของร้าน กล่าวคือกัญชาผสมในมวนบุหรี่ และกัญชาสด โดยระหว่างที่โจทก์ที่ 1 เคยร่วมประกอบกิจการดังกล่าว ไม่เคยปรากฏว่าถูกทางการของประเทศเนเธอร์แลนด์จับกุมแต่อย่างใด ต่อมาประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2557 พนักงานอัยการสำนักงานอัยการการศาลแขวงของประเทศเนเธอร์แลนด์ได้ประสานขอความร่วมมือมายังสำนักงานอัยการสูงสุดของไทย ขอให้สืบที่อยู่ของโจทก์ที่ 1 รวมทั้งแจ้งให้โจทก์ที่ 1 เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญา พ.ศ. 2535

กระทั่งวันที่ 15-22 กรกฎาคม 2557 จำเลยที่ 1-8 ซึ่งรู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดีกลับไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด โดยร่วมกันเป็นคณะทำงานการสอบสวนและสืบสวนคดีอาญา และยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้ออกหมายค้นและหมายจับ โจทก์ที่ 1 โดยกล่าวหาว่าร่วมกับภรรยา และนายฟรานซีล โจเซฟ คอลเนียล มาเรีย ฟานลาร์โฮเวน พี่ชายโจทก์ที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 โดยเป็นการนำหนังสือขอความร่วมมือของพนักงานอัยการประเทศเนเธอร์แลนด์อันมีขอบเขตจำกัดในการขอความร่วมมือความช่วยเหลือดังกล่าวไปขยายความให้ศาลอาญาเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองกระทำความผิดอันมีอัตราโทษเกินกว่า 3 ปี

เบื้องต้นศาลให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งว่าจะนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์หรือไม่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ เวลา 13.30 น.

จากนั้น เมื่อเวลา 15.00 น. น.ส.คณิตณัฎฐ์ เอี่ยมตระกูล ทนายความ บริษัทสุประวัติ อินเตอร์เนชั่นแนล คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ให้เอกสารแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ระบุว่าตามที่ได้ปรากฏข่าวในสื่อต่างๆ เมื่อประมาณปลายเดือน กรกฎาคม 2557 ว่าพนักงานอัยการร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ยึดทรัพย์แก๊งค้ากัญชาข้ามชาติ กล่าวคือ นายโยฮันเนส เพทรุส มาเรีย ฟาน ลาร์โฮเวน กล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงินและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ จึงได้ทำการยึดอายัดทรัพย์สินและบัญชีเงินฝากของบุคคลดังกล่าว พร้อมกับทรัพย์สินของคู่สมรสและควบคุมตัวทั้งสองไว้ดำเนินคดี ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 ซึ่งได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยประสานงานกับนักกฎหมายในประเทศเนเธอร์แลนด์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง พบว่า นายโยฮันเนส แม้จะเคยร่วมประกอบกิจการร้านกาแฟหรือคอฟฟี่ช๊อป ในประเทศเนเธอร์แลนด์มาก่อนแต่ได้โอนหุ้นและกิจการและร้านกาแฟรวม 4 ร้าน ที่เป็นกิจการดังกล่าวตั้งแต่ พ.ศ.2554 ขณะเดียวกันร้านกาแฟหรือคอฟฟี่ช๊อปดังกล่าวจัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำกัดและได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการตามข้อยกเว้นในพ.ร.บ.ฝิ่น พ.ศ.2571 ของประเทศเนเธอร์แลนด์ มาตรา 13 บี ซึ่งอนุญาตให้นายกเทศมนตรีในแต่ละเมืองออกใบอนุญาตให้กับร้านกาแฟ จำหน่ายกัญชาที่ผสมในมวลบุหรี่หรือกัญชาสด โดยมีมาตรการควบคุมอย่างเคร่งครัด ซึ่งตามใบอนุญาตดังกล่าวจะมีระเบียบและนโยบายตาม พ.ร.บ.ฝิ่นฯ ดังกล่าว ควบคุมซึ่งเรียกว่า “มาตรการทางการปกครอง”โดยหากร้านกาแฟใดๆ ที่ได้รับใบอนุญาต(ประเทศเนเธอร์แลนด์มีประมาณ 600 ร้าน) หากมีการฝ่าฝืน ได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าห้ามใช้บทลงโทษทางอาญา แต่ให้ใช้มาตรการทางการปกครองในการกำหนดดังกล่าว คือ ให้ปิดร้านตามระยะเวลาแห่งความหนักเบาที่ได้กระทำการละเมิดระเบียบฯ ดังกล่าว

นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่าเงินได้จากการจำหน่ายบุหรี่ผสมกัญชาและกัญชาสด ตลอดถึงกิจการธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น โต๊ะสนุกเกอร์ ของที่ระลึก เป็นเงินได้ที่ถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบดังกล่าว และบริษัทที่เป็นผู้บริหารร้านกาแฟหรือคอฟฟี่ช๊อป ล้านแต่เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมายและได้มีการชำระภาษีให้กับรัฐบาลมาตลอด ดังนั้นเงินได้จากการจำหน่ายหรือกิจการของร้านกาแฟนทั้งหมดดังกล่าวที่ได้โอนมายังบัญชีเงินฝากของนายโยฮันเนส ในประเทศไทยได้ผ่านพิธีการโอนเงินโดยถูกต้องตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ทรัพย์สินที่นายโยฮันเนสและคู่สมรสได้ซื้อ,สร้างและดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทต่างๆ จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบและสุจริต มิได้ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานฟอกเงินหรือความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 แต่อย่างใด และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน ถึง เดือน กรกฎาคม 2557 เจ้าหน้าที่จากประเทศเนเธอร์แลนด์ได้แจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายหรือความร่วมมือมายังเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยให้สืบหาที่อยู่และแจ้งให้ไปให้ปากคำในฐานะพยาน ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในคดีอาญา พ.ศ.2535 แต่เนื่องจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลเนเธอร์แลนด์มิได้มีสนธิสัญญาระหว่างกัน จึงต้องดำเนินการผ่านพิธีทางการทูต ดังนั้นเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายเนเธอร์แลนด์ได้ส่งขอความร่วมมือ,ความช่วยเหลือทางกฎหมายมาทางสถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำกรุงเทพแล้ว เจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯจึงได้ส่งเรื่องขอความช่วยเหลือ,ขอความร่วมมือไปยังอัยการสูงสุด ดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว แต่เมื่ออัยการสูงสุดได้มอบหมายให้นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีสำนักงานการสอบสวน และพนักงานอัยการดังกล่าวไปดำเนินการแล้ว ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการในฐานะพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนในคดีอาญา จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือและความช่วยเหลือเบื้องต้น แต่กลับปรากฎว่าบุคคลดังกล่าวและพนักงานอัยการอีก 9 คน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรวมเป็นคณะทำงาน กลับนำความร่วมมือดังกล่าวไปยื่นขอหมายค้น หมายจับและนำกำลังทั้งหมดไปร่วมตรวจค้นที่บ้านพักของนายโยฮันเนส ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยกระทำการตรวจค้น กระทำต่อหน้าเด็กหญิงและเด็กชาย บุตรของนางมิ่งขวัญ โดยไม่มีหมายเรียกให้นายโยฮันเนสมาดำเนินการตามกรอบขอความร่วมมือดังกล่าวเสียก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้นำบุคคลทั้งสองไปคุมขังไว้ที่ห้องควบคุม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม 2557 และยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาล ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ซึ่งจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว บุคคลทั้งสองมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินหรือฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามขาติ ซึ่งกฎหมายไม่อาจใช้บังคับย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาที่กล่าวอ้างในคำร้องฝากขังได้ เนื่องจากคำร้องฝากขังระบุว่า มีการโอนเงินจากประเทศเนเธอร์แลนด์มายังประเทศไทย จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 แต่กฎหมายความผิดเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตามกฎหมายฉบับใหม่ เพิ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2556 ทั้งนี้บุคคลทั้งสองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำในระหว่างการสอบสวน โดยที่มิได้กระทำความผิด ซึ่งพนักงานสอบสวนควรจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนที่จะแจ้งข้อหาหรือขอให้ศาลออกหมายค้น หมายจับ อีกทั้งเมื่อจับกุมแล้ว ย่อมมีอำนาจที่จะให้ปล่อยตัวชั่วคราวไปในระหว่างการสอบสวนได้ เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน นอกจากนี้ในมาตรการทางแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลทั้งสอง เลขาฯ ปปง.กลับมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝาก,ทรัพย์สินต่างๆ รวมทั้งที่ดินอันเป็นที่ตั้งของกิจการบริษัทต่างๆ มีพนักงานลูกจ้างจำนวนมาก ไม่สามารถนำเงินใช้ในธุรกิจได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายโยฮันเนส และนางมิ่งขวัญ ภรรยานั้น ถูกเจ้าพนักงานจับกุมตัวได้เมื่อ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พร้อมแจ้งข้อหากระทำผิดพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3,5,6,7,60,61, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา3,5,6,25,32 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยมีพฤติการณ์ กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มีกัญชาและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทจำนวนมาก ในนามบริษัท ทีจีซี จำกัด ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อปรุงแต่ง แปรสภาพ ส่งจำหน่ายตามคอฟฟี่ ช็อป ในประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เงินจำนวนมากแล้วมีการโอนเงินจัดตั้งบริษัท การค้าอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป รวมทั้งประเทศไทยเพื่อปิดบัง และการฟอกเงิน โดยนำมาสร้างคฤหาสน์ บ้านพัก สนามกอล์ฟ เงินสดจำนวนหนึ่ง เครื่องประดับ เงินฝากธนาคาร 3 บัญชี มูลค่า รวม 19,500,824.57 บาท ที่ดินหลายแปลงพร้อมโฉนด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เอกสารการเป็นเจ้าของรถยนต์เบนซ์ และพอร์ช อีก 5 คัน สัญญาซื้อขายตึกแถว 1 ห้องใน จ.สมุทรปราการ และอื่น ๆ มูลค่ากว่า 100 ล้าน ซึ่งชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ ซึ่งได้มีการยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เพื่อรอการสรุปสำนวนพยานหลักฐานและความเห็นทางคดี ทั้งนี้การกระทำนั้นได้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 จึงต้องให้อัยการสูงสุด เป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสั่งคดี ซึ่งมีรายงานแจ้งว่า พนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวน ที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดทำสำนวนคดีนั้น ได้สรุปความเห็นเสนออัยการสูงสุดตามขั้นตอนแล้ว โดยสำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดเพื่อจะสั่งคดีว่า ฟ้องหรือไม่ฟ้อง โดยการฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองจะครบครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 ตุลาคม นี้ โดยระหว่างนี้ผู้ต้องหาทั้งสองยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ เนื่องจากไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลในชั้นฝากขัง
กำลังโหลดความคิดเห็น