xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” ร้อง สนช.ปรับ พ.ร.บ.กสทช.หวั่นทหารเป็นยกชุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมเกียรติ” ติง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ เน้นความมั่นคงมากกว่าการทำงาน เหตุคุณสมบัติกรรมการ กสทช.กีดกันคนรุ่นใหม่ ภาคผู้บริโภคหวั่นทหารเป็นยกชุด ย้ำไม่มั่นใจจะมีการประมูลอีกเพราะกฎหมายให้อำนาจ กสทช.พิจารณา ร้อง สนช.ต้องปรับปรุงกฎหมายแก้ปัญหาให้ตรงจุด ด้าน “ฐากร” เผยคุณสมบัติ กสทช.ใหม่ทำให้ธรรมาภิบาลของ กสทช.ดีขึ้น แจงสัปดาห์หน้าจะเข้าไปชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการศึกษากฎหมายของ สนช. เตรียมเสนอรายได้ กสทช.นำเข้ารัฐทั้งหมด พร้อมเคลียร์ปัญหาจัดเก็บรายได้ดาวเทียม

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวภายในงานสัมมนา “NBTC Policy Watch : 5 ปี กสทช. กับอนาคตการสื่อสารไทย” ว่า ร่าง พ.รบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) ฉบับใหม่มีข้อกังวลหลายด้าน ได้แก่ ประเด็นแรก คุณสมบัติของผู้เข้ามาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำหนดอายุผู้สมัคร 45-65 ปี นั้น เห็นว่าเป็นการปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในขณะที่โลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก

นอกจากนี้ ยังกำหนดคุณสมบัติว่า หากเป็นข้าราชการต้องเป็นระดับอธิบดี นักวิชาการต้องเป็นรองศาสตราจารย์ขึ้นไป หากเป็นทหารต้องมียศตั้งแต่ระดับ พล.ท. ขึ้นไป ส่วนผู้ที่มาจากภาคเอกชนก็ต้องทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ดังนั้น ผู้ที่มาจากธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัป หมดสิทธิเข้ามาสมัคร ส่วนภาคผู้บริโภคต้องมีประสบการณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภค 10 ปี ขึ้นไป ดังนั้น น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช.คนปัจจุบัน หมดสิทธิสมัครแน่นอน

ดังนั้น กรรมการ กสทช.อาจจะเป็น พล.ท.ทั้ง 7 คนก็ได้ เพราะ พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ไม่ได้ระบุว่าต้องมาจากภาคส่วนไหนกี่คนบ้าง ที่สำคัญที่ผ่านมา รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภคไทยน้อยมาก เห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับด้านนี้ที่น้อยมาก ดังนั้น กรรมการ กสทช. 7 คน อาจจะไม่ได้มาจากผู้บริโภคก็เป็นได้

ประเด็นที่สอง คือ กรรมการสรรหา กสทช. ส่วนใหญ่มาจากฝั่งตุลาการเกือบทั้งหมด ทำให้เหมือนจะเป็นตุลาการภิวัตน์กลายๆ และเมื่อรวมกับตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งตนเองไม่เห็นความเชื่อมโยงของกรรมการว่าจะมีความเข้าใจในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือไม่ อันจะส่งผลให้คัดสรรแต่กรรมการ กสทช.ที่คำนึงเพียงเรื่องความมั่นคงเท่านั้น  นอกจากนี้ กรรมการจัดสรรแต่ละรายล้วนเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือทั้งสิ้น หากในอนาคต กสทช.เหล่านั้นต้องถูกตรวจสอบ คนที่คัดสรรเข้ามาจะรู้สึกอย่างไรในการตรวจสอบ

ประเด็นที่สาม ระบบตรวจสอบ กสทช.ก็ให้ความหวังต่อราชการเกินไป โดยกำหนดให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมา เห็นได้ว่าการตรวจสอบ กสทช.มักเกิดขึ้นจากสื่อ และนักวิชาการก่อน สตง. ถึงจะให้ความเห็น ซึ่ง กสทช.ไม่จำเป็นต้องทำตามก็ได้ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ระบุให้ สตง.ตรวจสอบ จึงถือว่าเป็นการเกาไม่ถูกจุดที่จะให้ กสทช.มีธรรมาภิบาลมากขึ้น

ประเด็นที่สี่ เรื่องกฎ กติกา การแข่งขัน ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่อาจทำให้ไม่เห็นการประมูลในประเทศไทยอีกต่อไปเลยก็เป็นได้ เพราะกฎหมายเน้นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและสาธารณชนเป็นหลัก ไม่ใช่เม็ดเงิน โดยเฉพาะในด้านกิจการกระจายเสียง กฎหมายบอกห้ามประมูล ส่วนด้านโทรคมนาคม แม้จะระบุว่า ให้ใช้วิธีประมูลแต่ก็เปิดช่องให้คลื่นที่มีจำนวนไม่จำกัด ไม่ต้องประมูล

โดยให้อำนาจ กสทช.ตัดสินใจว่าคลื่นไหนควรประมูล กสทช.จะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาว่า คลื่นไหนมีจำกัด หรือไม่จำกัด และหากอนาคต กสทช.บอกว่า 5G ไม่ต้องประมูล จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันมีความพยายามในการสร้างความโปร่งใสจนประชาชน และสังคมเข้าใจแล้วกลับไม่ได้สื่อไปถึงผู้ร่างกฎหมาย เพราะผู้ร่างกฎหมายยังเข้าใจว่าหากประมูลราคาแพง ค่าบริการจะแพงตามขึ้นด้วย ซึ่งเป็นความคิดที่ล้าสมัย และประเด็นที่ห้า การให้บริการอย่างทั่วถึง ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ทำบริการสาธารณะให้ทั่วถึงแล้วรัฐจะจ่ายเงินให้รัฐวิสาหกิจ ตรงนี้อาจขัดต่อหลักเกณฑ์การแข่งขันที่เป็นธรรมขององค์การการค้าโลกที่ไม่ได้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ให้บริการ

“ที่ผ่านมา กสทช.ทำงานเรื่องการนำคลื่นความถี่ที่ไม่จำเป็นในการใช้งานซึ่งอยู่ในหน่วยงานรัฐล่าช้ามาก มีแต่การบอกว่า มีคลื่นไหนบ้าง แต่ไม่บอกว่าอยู่ที่ใครบ้าง แทนที่กฎหมายฉบับใหม่จะออกกฎหมายเชิงบทลงโทษหากทำงานล่าช้า กลับออกกฎหมายให้จ่ายเงินชดเชยให้แก่รัฐ เช่นเดียวกับเรื่องการคิดค่าบริการ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เกิดการคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาที แต่ผู้ร่างกฎหมายกลับไม่สนใจประเด็นนี้”

ดังนั้น สิ่งที่กฎหมายควรจะมีแต่ไม่มีคือ หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการออกกฎหมายที่พิจารณาถึงผลกระทบต่อฝ่ายต่างๆ ต่อไป กสทช.จะออกกฎหมายอะไรคงไม่ต้องศึกษาผลกระทบ การทำร่างกฎหมายมีหลายส่วนที่มีความเข้าใจผิดพลาด เช่น การเห็นว่าประโยชน์สาธารณะ คือ ประโยชน์ของราชการ การเอาราชการมาเลือกบุคลากรที่จะทำให้คนในแวดวงราชการมีโอกาสมากกว่า ยังมีความเข้าใจที่เห็นว่าบุคลากรอาวุโสวัยจะมีวิสัยทัศน์ในการกำกับดูแลองค์ให้องค์รอดได้ และความเข้าใจว่า บริการสาธารณะต้องเป็นบริการโดยหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

สรุปแล้ว ถ้ากฎหมายเช่นนี้ผ่าน สนช.จะเกิดปัญหาคือ มรดกเก่าที่มีปัญหาจะไม่ได้แก้ไขเลย การแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมจะคงอยู่ และเพิ่มมากขึ้น เสรีภาพของสื่อและประชาชนจะถูกลิดรอนไป ยิ่งถ้าได้คนจากภาคราชการที่ไม่ค่อยมีประวัติในการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนอาจทำให้เกิดการคุมสื่อมวลชนเข้มงวดมากขึ้น หรือเห็นความสำคัญต่อความมั่นคงมากกว่าเสรีภาพ เห็นความสำคัญของการแข่งขันมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค สุดท้ายระบบธรรมาภิบาลจะเสียไป หน่วยงานตุลาการจะถูกลากมาอยู่กับวงการที่มีการแข่งขันวิ่งเต้นมาก และทำให้เกิดการวิ่งเต้นเกิดขึ้น

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ที่มาของคณะกรรมการสรรหา กสทช.นั้น เข้าใจว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการสร้างธรรมาภิบาลให้ กสทช. เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช.มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงิน ดังนั้น หากได้ผู้คัดสรรที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิจากหน่วยงานดังกล่าวมาคัดสรรก็จะได้กรรมการ กสทช.ที่ทำงานโดยปราศจากปัญหาดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจจะได้กรรมการที่ต้องการจัดสรรงบประมาณในการทำโครงการต่างๆ ที่หลากหลาย และอาจไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้เป็นการร่างโดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายพรชัย รุจิประภา ในสมัยที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ยังดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี โดย กสทช.ยังไม่ได้ลงความเห็นเพิ่มเติม ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าตนเองจะเข้าไปชี้แจงต่อกรรมมาธิการศึกษาที่ สนช.ตั้งขึ้น

โดยสิ่งที่ตนเองจะเสนอคือ เรื่องการให้การบริหารจัดการรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดสรร และกำกับดูแลของ กสทช.ซึ่งตนมองว่า ควรนำรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และเมื่อต้องการใช้เงินก็ให้ทำการเบิกจ่ายจากรัฐ ในรูปแบบเดียวกันกับงบประมาณทั่วไป เพื่อจะได้ตัดข้อสงสัยเรื่องความไม่โปร่งใสที่หลายฝ่ายเป็นกังวล อีกทั้งจะช่วยทำให้ กสทช.มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ก็ต้องมีแบ่งงานเรื่องดาวเทียมซึ่ง ที่ผ่านมา มีปัญหาระหว่าง กสทช.และ กระทรวงไอซีที ในเรื่องการจัดเก็บค่าธรมเนียมให้ชัดเจนด้วย ทั้งนี้ คาดว่า พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่จะเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้

Company Relate Link :
กสทช.
กำลังโหลดความคิดเห็น