xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกายกฟ้อง “ทักษิณ” ฟ้องอดีต คตส.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกายกฟ้อง “ทักษิณ” ฟ้องอดีต คตส.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ยืนตามศาลชั้นต้น-ศาลอุทธรณ์ ที่ให้ไปยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เหตุศาลอาญาไม่มีอำนาจพิจารณา

วันนี้ (14 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณา 904 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.3020/2550 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้นายบุญเฉลียว ดุษดี และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กับพวกรวม 11 คน ซึ่งเป็นอดีต คตส. ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องระบุว่า ระหว่างวันที่ 14 พ.ค. ถึง 21 มิ.ย. 2550 จำเลยทั้ง 11 คน ได้รับแต่งตั้งและมีอำนาจหน้าที่ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) และจำเลยทั้ง 11 คน ได้อาศัยอำนาจหน้าที่ในฐานะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริต โดยเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสองให้ตกเป็นจำเลย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษกให้โจทก์ได้รับความเสียหาย บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อแกล้งให้โจทก์ทั้งสองเกิดความเสียหาย และต้องรับโทษจำคุกริบทรัพย์สิน เหตุเกิดที่แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2550 ว่าคดีนี้แม้โจทก์จะยื่นฟ้องต่อศาล ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 จะมีผลบังคับใช้ แต่การที่จำเลยยื่นฟ้องคตส.ในความผิดดังกล่าว ต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากศาลอาญา ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา จึงพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และโจทก์ทั้งสองยื่นฎีกา ศาลฏีกาประชุมตรวจสำนวนปรึกษากันแล้ว เห็นว่า ภายหลังได้มีการยึดอำนาจ คปค.ได้ออกประกาศและแต่งตั้งจำเลยทั้ง 11 คนเป็น คตส.ให้มีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้ถือการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. เสมือนกับการปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.

ซึ่งประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ข้อ 10 วรรค 1 เรื่องตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ระบุว่าหากมีการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส.กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือการยุติธรรม ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 17 โดยประกาศดังกล่าวถือเป็นวิธีสบัญญัติ ซึ่งใช้บังคับได้ทันที

หากมีการกล่าวหา คตส.และป.ป.ช.กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 ก็จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ มาตรา 17 และพ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำเนินตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 คือจะต้องยื่นเรื่องให้ ส.ส.และ ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสมาชิกสองสภาที่มีอยู่ทั้งหมด ยื่นเรื่องให้ประธานวุฒิสภาส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำเนินตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย

หากศาลฎีกาฯ รับเรื่องไว้แล้ว คตส.หรือ ป.ป.ช.จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที จนกว่าศาลจะมีคำสั่งยกคำร้อง ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดขั้นตอนดังกล่าวไว้ ก็เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งร้องเรียนโดยมิชอบ รวมทั้งยังให้มีการคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ ในการที่จะให้ผู้ถูกร้องเรียนหยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน

ดังนั้น ตามบทบัญญัติของกฎหมายคดีที่โจทก์ฟ้องจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลอาญา แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนที่โจทก์อ้างว่าได้ยื่นฟ้องคดีนี้ก่อนที่ประกาศ คปค.ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมจะบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2550 จึงไม่อาจมีการนำเอาประกาศคปค.มาบังคับใช้ย้อนหลังได้นั้น ศาลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค.ดังกล่าว เกี่ยวข้องกับวิธีดำเนินการทางกฎหมายหรือวิธีสบัญญัติ ไม่ใช่การแก้ไขในสาระของกฎหมายที่จะมีผลหากนำมาบังคับใช้ย้อนหลัง ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองศาลพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืนให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้โจทก์ทั้งสองส่งผู้แทนมาฟังคำพิพากษา ส่วนจำเลยไม่ได้ส่งตัวแทนมาฟังคำพิพากษา ซึ่งการยกฟ้องในครั้งนี้ถือเป็นการยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น