xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ระทึก! ป.ป.ช.ส่งสำนวนทุจริตจำนำข้าวให้อัยการแล้ว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ป.ป.ช.หอบสำนวนการชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” คดีทุจริตจำนำกว่า 4,000 หน้า พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องส่งอัยการสูงสุดแล้ว รองโฆษกเผยตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวน-พยานหลักฐาน หากแน่นหนาพอยื่นฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ภายใน 30 วัน พร้อมเปิดช่องทางให้ขอความเป็นธรรมและสอบพยานเพิ่มได้


เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (5 ส.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายวิศิษย์ ตันอารีย์ เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) ได้นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 5 ลัง 30 แฟ้ม รวมกว่า 4,000 หน้า พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุกจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ภายหลัง ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ว่าการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความผิดดังกล่าว เพื่อให้อัยการพิจารณาความเห็นสั่งฟ้อง และดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายพิบูลย์ จตุพัฒนกุล รองเลขานุการอัยการสูงสุด นายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองเลขานุการอัยการสูงสุด และนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนผู้รับมอบสำนวนการสอบสวนจาก ป.ป.ช.

โดยนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า เลขานุการอัยการสูงสุด ได้มอบหมายให้นายพิบูลย์ พร้อมคณะมารับมอบสำนวนการสอบสวนคดีโครงการรับจำนำข้าว จาก ป.ป.ช. ซึ่งคดีดังกล่าวถือว่าเป็นคดีสำคัญ โดยนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด จึงได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนการสอบสวน โดยมีรองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อพิจารณาสำนวนและพยานหลักฐานด้วยความละเอียดรอบคอบ รวดเร็ว และเป็นธรรม ซึ่งถ้าหากคณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแล้ว ทางอัยการก็จะดำเนินการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายในกรอบระยะเวลา 30 วันตามกฎหมายต่อไป

นางสันทนี กล่าวอีกว่า ทั้งนี้หากทางอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลในสำนวนยังไม่เพียงพอหรือยังไม่สมบูรณ์ ก็จะตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการและป.ป.ช.ขึ้นมาเพื่อร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง และดำเนินการหาข้อยุติภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งถ้าหากคณะทำงานได้ข้อยุติตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็จะดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่หากไม่ได้ข้อยุติหรือความเห็นไม่ตรงกัน ทางอัยการก็จะคืนสำนวนให้กับทางป.ป.ช. เพื่อดำเนินการแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง อย่างไรก็ตามการตั้งคณะทำงานร่วมดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ว่าทางอัยการจะต้องทำงานขัดแย้งกับทางป.ป.ช. แต่มีจุดประสงค์เพื่อให้สำนวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์ที่สุดและพยานหลักฐานมีความแน่นหนามากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้หรือไม่ นางสันทนี กล่าวว่า การร้องขอความเป็นธรรม เป็นสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาที่สามารถยื่นร้องขอความเป็นธรรมได้ ซึ่งทางอัยการก็ให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่และไม่รู้สึกหนักใจแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะร้องขอให้สอบพยานเพิ่มเติมนั้น จะต้องพิจารณาดูว่าประเด็นต่างๆในการสอบพยานเพิ่มเติมมีอยู่ในสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช.แล้วหรือไม่ หรือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่มีในสำนวน โดยทางอัยการจะพิจารณาว่าจะสามารถให้สอบพยานเพิ่มเติมได้มากน้อยแค่ไหน แต่จะพยายามพิจารณาให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด

“อัยการสูงสุดได้ให้ความสำคัญกับคดีนี้ ซึ่งกำชับว่าอัยการจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยยึดสำนวนการสอบสวนของ ป.ป.ช. เป็นสำนวนหลัก แต่ก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย ในการพิจารณาประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ รวมทั้งหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้สำนวนการสอบสวนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น หากฟ้องก็จะสามารถหักล้างพยานหลักฐานในชั้นศาลได้” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว

เมื่อถามว่าหาก หากวันที่ 10 ส.ค.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย จะกระทบต่อการพิจารณาสำนวนคดีหรือไม่ นางสันทนี กล่าวว่า ถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เดินทางกลับไทย ก็ไม่กระทบต่อการพิจารณาสำนวนคดีของอัยการ เนื่องจากหากสุดท้ายแล้วมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสั่งฟ้องได้ ตามกฎหมายก็ให้อำนาจอัยการสูงสุดในการยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯได้โดยไม่ต้องมีตัวจำเลย เพียงแต่จะต้องระบุแหล่งที่อยู่ให้ชัดเจน

เมื่อถามว่าหากสุดท้ายแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เดินทางกลับประเทศไทยจริงๆ จะต้องร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ นางสันทนี กล่าวว่า การขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีก็สามารถทำได้ แต่ทางพนักงานอัยการจะต้องพิจารณาว่าจะขอตัวมาดำเนินคดีหรือไม่ เพราะในทางกฎหมายก็ให้อำนาจอัยการในการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีตัวมาฟ้อง แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ส่วนที่เกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมหากมีการพิจารณาคดีลับหลังนั้นก็ไม่ใช่เป็นสาระสำคัญ เพราะกฎหมายระบุไว้อยู่แล้วสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ ซึ่งคดีในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นมีอายุความถึง 15 ปี และหากผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่ ตามกฎหมายก็จะยังไม่นับอายุความ ดังนั้นไม่ต้องห่วงว่าคดีนี้จะขาดอายุความระหว่างหลบหนีคดี











กำลังโหลดความคิดเห็น