xs
xsm
sm
md
lg

“สมยศ” เดินหน้าเอาผิดหมิ่นสถาบันฯ ออกหมายจับ “โรส”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รอง ผบ.ตร. เดินหน้านโยบายหัวหน้า คสช. เต็มสูบเอาผิดพวกหมิ่นสถาบัน ชี้ไม่มีวันดับเครื่อง พร้อมเตรียมประสานกลุ่มประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนจับกุมพวกหมิ่นสถาบันกลับมาดำเนินคดีที่ไทย ออกหมายจับ “โรส” แล้ว

วันนี้ (16 มิ.ย.) เมื่อเวลา 14.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เป็นประธานการประชุมเร่งรัดติดตามความคืบหน้ากรณีบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่กระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยมี พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการ บช.น. พล.ต.ต.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบก.ปอท.) ตัวแทนกองปราบปราม กองต่างประเทศ กองบัญชาการตำรวจสันติบาล และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า วันนี้ได้เรียกผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาประชุมหารือเพื่อวางแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกันทุกหน่วย โดยเฉพาะ บช. ที่ต้องรับผิดชอบ หรือมีการรับแจ้งความให้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดในคดีหมิ่นฯ ซึ่งตนได้กำหนดแนวทางที่ชัดเจน โดยให้ทุกหน่วยติดตามคดีหมิ่นฯ ที่เป็นคดีค้างเก่าว่าได้ดำเนินไปถึงขั้นตอนใด ติดขัดตรงจุดไหน อย่างไร ส่วนคดีที่เกิดขึ้นแต่ยังไม่มีการดำเนินการ หรือยังไม่มีผู้แจ้งความ หรือเป็นคดีที่เข้าข่ายเป็นคดีหมิ่นฯ แต่ยังไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ ก็ให้ดำเนินตรวจสอบจากหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร ภาพถ่ายจากหนังสือพิมพ์ ทีวี หรือ วิดีโอต่างๆ ที่ปรากฏ ให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดหรือไม่ หากเข้าข่ายก็ให้ดำเนินการร้องทุกข์ตามระเบียบ ส่วนคดีที่ยังไม่เกิดก็ให้เฝ้าติดตาม ว่า มีการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายความผิดคดีหมิ่นฯ หรือไม่ โดยกำชับให้ดำเนินอย่างรอบคอบ และผู้ปฏิบัติต้องเอาใจใส่ติดตาม

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ตนได้สั่งการให้ กองการต่างประเทศ ตั้งเรื่องผ่านตนเองเพื่อขออนุมัติจาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. ในการตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามผู้ต้องหาที่ทำความผิดเกี่ยวกับคดีหมิ่นฯ โดยแบ่ง 2 กรณี ได้แก่ ผู้ที่กระทำผิดในประเทศและหลบหนีไปต่างประเทศ ขณะที่อีกกรณีคือ ผู้ที่กระทำผิดในต่างประเทศ และหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นคนไทยและเป็นคนไทยแต่ไปที่ถือสัญชาติอื่น ในส่วนนี้ยังแยกเป็น 2 กรณี คือ ผู้กระทำผิดอยู่นอกประเทศแต่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย และมีหมายจับ อีกกรณี คือ ผู้ที่กระทำผิดอยู่นอกประเทศถือสัญชาติไทย และกระทำผิดในต่างประเทศ และจากการติดตามเร่งรัดคดีหมิ่นฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตำรวจสามารถขออนุมัติศาลออกหมายจับ น.ส.ฉัตรวดี อมรพัฒน์ หรือ “โรส” อายุ 34 ปี ที่มีการเผยแพร่คลิปที่เข้าข่ายความผิดคดีหมิ่นฯ คณะทำงานที่ตั้งขึ้นจะดำเนินการติดตามตัวบุคคลเหล่านี้ที่กระทำผิดมาดำเนินคดี โดยจะใช้ช่องทางตั้งแต่กองการต่างประเทศ ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ จากนั้นทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็จะประสานไปยังกระทรวงต่างประเทศที่บุคคลเหล่านี้พำนัก

“คดีนี้เป็นคดีที่คนไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้ความสำคัญกับคดีหมิ่นฯ เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาตื ก็ได้สนองนโยบาย คสช. ผมขับเคลื่อนในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาอาจจะไม่มีความเคลื่อนไหวด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ แต่วันนี้ผมบอกกับผู้ปฏิบัติทุกคนแล้วว่า ผมสตาร์ทเครื่องยนต์แล้ว และผมจะไม่ให้ดับด้วย นอกจากนี้ ไม่อยากให้มองว่าการดำเนินการกับผู้กระทำผิดเหล่านี้เป็นการไปไล่ล่า แต่ให้มองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ และต้องทำให้ครบ” รอง ผบ.ตร. กล่าว

พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า นอกจากนี้ กำชับให้ พล.ต.ต.เรวัช กลิ่นเกษร รรท.ผบช.ส. เรียกประชุมคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ หลังไม่ได้มีการประชุมกว่า 2 ปี แล้ว ซึ่งการจัดให้มีการประชุมพิจารณาคดีหมิ่นฯ ก็เพื่อความรอบคอบ ซึ่งตนได้กำชับ ว่าหากตำรวจสันติบาลจะร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือ ดำเนินคดีหมิ่นฯ กับใครต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ และต้องพิจารณาในรูปคณะกรรมการ เพื่อที่จะได้มีความหลากหลายทางความคิด รอบคอบ และจะได้ไม่ถูกมองว่าไปกลั่นแกล้งใคร ทั้งนี้ ในวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 10.00 น. จะเรียกคณะทำงานเข้าร่วมประชุมอีกครั้งเพื่อนำข้อมูลต่างๆ ในทางคดีมาติดตามความคืบหน้า รงมทั้งข้อมูลคดีค้างเก่ามาพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป

ด้าน พล.ต.ต.อำนวย กล่าวว่า การดำเนินการกับบุคคลที่ถูกออกหมายจับในคดีหมิ่นฯ แต่หลบหนีไปต่างประเทศ ตำรวจจะดำเนินการในรูปแบบเดียวกับการดำเนินการกับ นายราเกซ สักเสนา จำเลยในคดีบีบีซี ซึ่งยอมรับว่าขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องทำ ซึ่งการดำเนินการตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ผู้ที่รับผิดชอบ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ แต่หากประเทศนั้นไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ พ.ศ. 2535 ส่วนจะส่งตัวให้หรือไม่ หรือ เป็นคดีการเมือง เป็นเรื่องที่ประเทศที่เราร้องขอไปจะเป็นผู้พิจารณา



กำลังโหลดความคิดเห็น