xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอผิดหวังสหรัฐฯ ลดอันดับไทยมีปัญหาค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีดีเอสไอ
ดีเอสไอผิดหวังสหรัฐฯ ที่ไทยถูกลดอันดับกลุ่มประเทศพยายามแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หนักใจปัญหาแรงงานประมงและโรฮิงญาหลบหนีเข้าเมือง

วันนี้ (21 มิ.ย.) พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐฯ ประกาศผลการจัดอันดับประเทศที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาด้านการค้ามนุษย์ โดยจัดลำดับให้ประเทศไทยหลุดจากบัญชีกลุ่มประเทศจากลำดับ 2 ไปอยู่ในลำดับ 3 ที่เป็นประเทศที่มีปัญหาด้านการค้ามนุษย์มากแต่ไม่สนใจแก้ปัญหาว่า ส่วนตัวรู้สึกผิดหวังเพราะที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพยายามทำงานอย่างเต็มที่ และมองว่าไทยมีพัฒนาการในการปรับตัวอยู่ ดังนั้น การประกาศลดอันดับดังกล่าวของสหรัฐฯ จึงอาจไม่ตรงต่อความรู้สึกของผู้ที่ทำงาน โดยเฉพาะสถิติการจับกุมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมามีเพิ่มขึ้นอย่างเป็นที่น่าพอใจ

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวอีกว่า ประเด็นการพิจารณาของสหรัฐฯ อาจมองปัจจัยอื่น เช่น การบังคับใช้กฎหมายกับแรงงานภาคประมง และโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายและไปทำงาน จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นการค้ามนุษย์ ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการและไม่มีการจับกุมดำเนินคดีนั้น ประเด็นนี้อยากชี้แจงว่ากฎหมายกำหนดโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ไว้หนักกว่าคนทั่วไป แต่ในการดำเนินคดีต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน นอกจากนี้ ในการพิจารณาจัดอันดับจะใช้ข้อมูลในช่วงเดือน เม.ย. 2556 - 31 มี.ค. 2557 ซึ่งเป็นช่วงคร่อมปี ทำให้ถูกมองว่ายังไม่มีความพยายามเพียงพอในการแก้ไขปัญหา

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวต่อว่า สำหรับผลกระทบที่ไทยจะได้รับอาจไม่ถึงขั้นถูกตัดความช่วยเหลือ แต่จะได้รับผลกระทบทางจิตวิทยา ในเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศว่าเป็นประเทศที่โหดร้ายมีการใช้แรงงานค้ามนุษย์ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยจะถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มาจากแรงงานค้ามนุษย์หรือแรงงานทาส เพราะตลาดในสหรัฐฯ และยุโรปการตัดสินใจซื้อจะพิจารณาจากภาพลักษณ์ของประเทศ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาจัดอันดับของสหรัฐฯจะพิจารณาเป็นรายปี ดังนั้น หลังจากนี้ทุกฝ่ายในกระบวนการต้องเดินหน้าทำงานให้เต็มที่ทั้งดีเอสไอ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และศาลต้องหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้ผู้กระทำผิดได้รับการลงโทษ ทั้งนี้ ยืนยันว่าทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาค้ามนุษย์ รวมถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็มีประกาศคำสั่งชัดเจนในการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และการค้ามนุษย์ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น