“ชัชวาลย์” จัดแถวดีเอสไอใหม่ ยุบศูนย์ปฏิบัติการเหลือ 3 ศูนย์ ตัดช่องทางรับใต้โต๊ะ ระบุ ดีเอสไอต้องไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ลั่น หากพบคนที่อ้างเป็น จนท. ดีเอสไอเรียกรับเงินให้จับให้ได้ พร้อมตั้งโฆษกประจำดีเอสไอ
วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 13.30 น. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ รอง ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรมสอบสวนคดีว่า วันนี้ได้นัดประชุมเพื่อมอบนโยบายแก่ผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้มีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรมสอบสวนคดีพิเศษที่เป็นองค์กรชั้นนำด้านการสืบสวนสอบสวนที่มีมาตรฐานในระดับสากล และได้รับความเชื่อมั่นในการบังคับใช้กฎหมายด้วยความเป็นธรรม โดยมีพันธกิจ ป้องกัน ปราบปราม สืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีพิเศษอย่างมีประสิทธิภาพด้วยความเป็นธรรม ภายใต้ยุทธศาสตร์ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษใน 4 มิติ คือ 1. เสริมสร้างความมั่นคงของประเทศในมิติของการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ 2. สร้างความเชื่อถือในระดับสากลในมิติของการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ 3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อเพิ่มศักยภาพการบูรณาการการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และ 4. สร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน และพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลให้เกิดความเป็นธรรม ตามปรัชญาของกรม คือ เกียรติศักดิ์ เชี่ยวชาญ ซื่อสัตย์
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า การมอบนโยบายการดำเนินงานในครั้งนี้ ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ 4 ด้าน คือ
1. งานบริหาร โดยมีแผนดำเนินการ ประกอบด้วย การปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคคลของบุคคลากรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ปฏิบัติ เกิดประโยชน์ต่อองค์กร เช่น การพิจารณาเลื่อนระดับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ, การแก้ไขปัญหาของข้าราชการ Thai Marshals ,การพิจารณาความดีความชอบตามหลักความรู้ ความสามารถ, การปรับปรุงระบบการบริหารและโครงสร้างภายในให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีความเป็นมืออาชีพ มีมาตรฐานระดับสากล โดยมีการปรับปรุงระบบการบริหารและโครงสร้างภายในให้มีสำนักปฏิบัติการทั้งหมด 16 สำนัก 1 กอง 5 กลุ่มงาน และ 3 ศูนย์ที่ขึ้นตรงต่ออธิบดีดีเอสไอ ได้แก่ ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ ศูนย์สืบสวนสะกดรอย และศูนย์บริหารคดีพิเศษ
2. งานคดีพิเศษเฉพาะด้าน มีแผนดำเนินการ ในการเร่งรัดติดตามคดีความมั่นคง และคดีค้างเก่า ให้มีการดำเนินการตามข้อเท็จจริงโดยปราศจากการครอบงำของทุกฝ่าย, การกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้มีความชัดเจนในเรื่องคดีพิเศษ, การกำหนดนโยบายและมาตรการการสอบสวนให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม ตรวจสอบได้ โปร่งใส และปราศจากการคอร์รัปชัน
3. งานคดีพิเศษภูมิภาค ได้มีแผนดำเนินการที่เน้นการสืบสวนสอบสวน หาข่าว สนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักคดี หรือศูนย์จากส่วนกลาง และ 4. งานสนับสนุนคดีพิเศษ ได้มอบให้สำนักที่รับผิดชอบในการจัดหาเครื่องมือพิเศษจัดทำรายละเอียดอุปกรณ์เครื่องมือพิเศษที่พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษจำเป็นต้องใช้ในการปฏิบัติงาน อาทิ การพัฒนาแม่ข่ายแผนที่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (DSI MAP) อากาศยานไร้คนขับ เพื่อใช้บันทึกภาพถ่ายทางอากาศ
นอกจากนี้ ยังคงเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในลักษณะการทำงานเชิงบูรณาการอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษร่วมกับกองพลทหารราบที่ 11 และ สภ.เมืองฉะเชิงเทรา และ มูลนิธิพิทักษ์สตรี ได้เข้าตรวจค้นร้านคาราโอเกะ เขตพื้นที่ อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ที่สืบทราบว่ามีการค้ามนุษย์และค้าประเวณีจับผู้ต้องหาได้จำนวน 14 คน และสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์สาวชาวลาวที่ถูกล่อลวงมาค้าประเวณีได้จำนวน 5 คน ส่วนการเร่งรัดติดตามคดี ได้มีการเร่งรัดการดำเนินคดีรถหรูที่ยังไม่ได้นำรถเข้ามาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบอีก 127 คัน ทั้งนี้ หากพบว่ามีการกระทำที่หลีกเลี่ยงภาษีจะได้ดำเนินคดี เพื่อนำภาษีคืนกลับสู่ประเทศชาติต่อไป
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า ดีเอสไอสามารถทำได้ทุกคดี ไม่เฉพาะที่เป็นคดีพิเศษเท่านั้น เช่น การพนันที่เป็นขบวนการ หรือเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล และเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน แต่จะทำทันทีไม่ได้ เนื่องจากต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการคดีพิเศษ ทั้งนี้ ย้ำว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษต้องไม่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือกรณีถ้ามีคนอ้างชื่อกรมในการแสวงหาผลประโยชน์ ก็ต้องสืบให้ได้ว่าใครอ้างเพราะเราเป็นดีเอสไอมีทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาผู้กระทำความผิด และหากพบมีการอ้างชื่อดีเอสไอในการเรียกรับผลประโยชน์ ให้แจ้งตนได้โดยตรง ซึ่งหลังจากนี้ตนจะเชิญผู้ประกอบการต่างๆที่เคยมีข่าวว่าดีเอสไอไปเรียกรับผลประโยชน์ มาคุยกับตน เพื่อทำความเข้าใจในการทำงานของดีเอสไอต่อไป
สำหรับงานด้านการประชาสัมพันธ์และการประสานงานสื่อมวลชนนั้น ได้มีการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ไพศิษฐ์ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และปรับปรุงเว็บไซต์เพื่อเปิดช่องทางในการรับแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนและการรับแจ้งเหตุผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (Hotline) 1202 ทั้งนี้จะมีการจัดงานครบรอบ 12 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545