ระนอง - ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ระนอง ติดตามการป้องกัน และปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2557
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมคณะ และพล.ต.ท.สุรพล ทวนทอง ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พ.ต.อ.ปัญญา ปิ่นสุข รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ร่วมการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนวทางมาตรการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบแรงงานประมง ของศูนย์ประสานแรงงานประมงจังหวัดระนอง โดยมี ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ผวจ.ระนอง เข้าร่วมเป็นประธานในที่ประชุม
ว่าที่ ร.ต.เชิดศักดิ์ จำปาเทศ ผวจ.ระนอง กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ดีในการทำงานร่วมกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เห็นภาพการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจากแผนการดำเนินการทั้ง 5 ด้าน คือ การดำเนินคดี การคุ้มครอง การป้องกัน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ตามนโยบาย และการทำงานร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงานรับผิดชอบในด้านการป้องกัน และคุ้มครอง ปัจจุบันได้จัดระบบการนำเข้า-ส่งออกแรงงานต่างด้าว โดยการจัดทำทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิการคุ้มครองด้านต่างๆ ส่วนการคุ้มครองนั้น จะดำเนินการตามกระบวนการตรวจแรงงาน ทั้งตรวจสัญญาจ้าง และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม ส่วนการดำเนินงานของศูนย์ประสานแรงงานประมงทั้ง 5 ด้าน คือ การจัดระเบียบแรงงานประมง จัดระเบียบเรือประมง การคุ้มครอง ตรวจสอบปราบปราม จับกุมและดำเนินคดี การเยียวยา ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้เสียหาย และการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ และส่งกลับประเทศ
นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า “การจะจัดระเบียบแรงงานเพื่อไม่ให้มีการค้ามนุษย์นั้นจะต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือกันทำงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” พร้อมกล่าวเน้นย้ำให้เจ้าของเรือประมงทุกลำในจังหวัดระนอง ให้นำแรงงานต่างด้าวมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ในวันที่ 3 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2557 ในส่วนของจังหวัดระนอง แผนการดำเนินการติดตามการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2557 นั้น จะเร่งดำเนินการจดทะเบียนเรือประมงขนาดใหญ่ จำนวน 180-240 ลำ ลูกเรือประมงกว่า 928 คน เพื่อนำแรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานประมง และเรือประมง เพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ประสานแรงงานประมง และการจัดระเบียบแรงงานโดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 เห็นชอบให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเฉพาะในกิจการประมง ปีละ 2 ครั้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้จดทะเบียนรอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม-31 พฤษภาคม 2557
สำหรับจังหวัดระนอง มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 55,361 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มี.ค.57) แบบชั่วคราวทั่วไป 112 คน ส่งเสริมการลงทุน (BOI) 2 คน แยกเป็นชนกลุ่มน้อย 231 คน มีรูปแบบของการค้ามนุษย์ที่พบ 2 รูปแบบ คือ การบังคับใช้แรงงาน และการบังคับขายบริการทางเพศ ส่วนการดำเนินด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในจังหวัดระนอง เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การออกตรวจสถานประกอบการ สถานบันเทิง และพื้นที่เสี่ยง การดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยในปี 2556 มีคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 2 คดี ซึ่งเป็นการบังคับค้าประเวณี