xs
xsm
sm
md
lg

สตช.-ป.-เอฟบีไอ ยกเคสคดี “ติ๊งต่าง” ถ่ายทอดองค์ความรู้หลักพฤติกรรมศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สตช.-กองปราบฯ-เอฟบีไอ หารือถ่ายทอดองค์ความรู้หลักพฤติกรรมศาสตร์โดยยกคดีตัวอย่าง “ติ๊งต่าง” ฆาตกรฆ่าข่มขืนเด็กต่อเนื่อง

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 9 เมษายน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.วรวุฒิ คุณะเกษม ผกก.3 บกป. พ.ต.อ.อธิป แท่นนิล ผกก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ท.ทรงรักษ์ ขุนศรี รอง ผกก.6 บก.ป. พ.ต.ท.บุรินทร์ ยมจินดา สว.กก.4 บก.ป. ร.ต.อ.นิธิพัฒน์ กังรวมบุตร รอง สว.กก.ปพ.บก.ป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานสอบสวนกลาง สหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) 2 นาย เดินทางเข้าพบ พล.ต.ท.ชัยยง กีรติขจร ผู้ช่วย ผบ.ตร.เพื่อประสานการปฏิบัติการเกี่ยวกับการศึกษาพฤติกรรมศาสตร์ของคนร้ายในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องซึ่งผู้ต้องหามีพฤติการณ์ก่อเหตุกับเหยื่อที่เป็นเด็กหลายรายในหลายพื้นที่ และหารือถึงแนวทางการสืบสวนสอบสวนคดี

สำหรับการประสานงานในการปฏิบัติการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มอบหมายให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่เอฟบีไอ สหรัฐฯ หยิบยกคดีนายหนุ่ย หรือติ๊งต่าง ไม่ทราบนามสกุล อายุ 36 ปี ผู้ต้องหาคดีฆ่า ด.ญ.อธิตยา เพชรดอน หรือน้องการ์ตูน อายุ 6 ขวบ เหตุเกิดที่บริเวณพงหญ้าใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสแบริ่ง ท้องที่ สน.บางนา ซึ่งผู้ต้องหารายนี้ได้ก่อเหตุกับเหยื่อที่เป็นเด็กอีกหลายรายมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อแสวงหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดเหตุลักษณะนี้โดยถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่เอฟบีไอสหรัฐฯ นั้น รายแรกมาจากหน่วยสืบสวนคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวกับเด็ก เป็นผู้เชี่ยวชาญการทำคดีที่มีเด็กตกเป็นเหยื่อมาเป็นเวลาถึง 16 ปี มีประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น คดีลักพาตัวเด็กในประเทศทาจิกิสถาน และประเทศบราซิล ส่วนเจ้าหน้าที่เอฟบีไออีกรายมาจากหน่วยวิเคราะห์พฤติกรรมศาสตร์ มีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านจิตวิทยารวมถึงวิเคราะห์ความคิดของผู้ต้องหาที่ก่อคดีอาชญากรรมร้ายแรงต่อเด็ก มีประสบการณ์การทำงานกว่า 23 ปี ซึ่งสหรัฐฯ มีผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เพียง 6 นายเท่านั้น

อย่างไรก็ดี สำหรับความร่วมมือในปฏิบัติการครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะได้รับประโยชน์จากการใช้แนวทางการสืบสวนสมัยใหม่อาศัยหลักวิชาการ และเปิดกว้างให้ตำรวจได้ยอมรับและปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำงานให้เป็นสากลนำไปสู่การค้นพบความจริงของคดีในทุกมิติ มีมุมมองการทำงานที่ไม่ยึดเพียงการใช้กำลังใช้อาวุธในการจับกุมผู้ต้องหา ลดปัญหาการจับกุมคนร้ายผิดตัวไม่เป็นมรดกบาปที่จะเกิดขึ้นกับวงการตำรวจไทยในอนาคต

นอกจากนี้ ผบช.ก.ยังเล็งเห็นว่าการทำงานของตำรวจไทย ยังขาดความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง เช่นการสืบสวนคดีฆาตกรรมต่อเนื่องจึงมีแนวความคิดที่จะประสานกับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเอฟบีไอเพื่อร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกันจากการปฏิบัติจริง โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับความรู้ก็สามารถขยายผลเผยแพร่ความรู้ดังกล่าวต่อไป ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของวงการตำรวจไทยหากจะเปรียบเป็นคลื่นก็นับว่าเป็นคลื่นลูกใหม่ เป็นต้นแบบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการสืบสวนซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในวิชาตำรวจสมัยใหม่สามารถทำงานได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชนดังเช่นตำรวจยุคเก่า

พ.ต.ท.ทรงรักษ์กล่าวว่า สิ่งแรกที่คณะทำงานของ บก.ป.จะได้ดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่เอฟบีไอครั้งนี้ คือ รูปแบบการทำงานจะเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง (Learning by doing) ซึ่งเป็นเรื่องปกติของทางต่างประเทศในคดีที่เป็นกรณีศึกษา หลังจากจับกุมผู้ต้องหาก็มักจะคิดว่าคดีมันจบไปแล้ว แต่ยังมีความจริงด้านอื่นๆ หรือมันมีความผิดอย่างอื่น มีสิ่งบ่งชี้อย่างอื่นอีก แม้กระทั่งเทคนิคในการซักผู้ต้องหา เข้าไปพูดคุยกับผู้กระทำความผิดในต่างประเทศเขาจะมีเทคนิคต่างๆ เช่น การกระตุ้นอารมณ์ เหล่านี้ส่วนหนึ่ง

ส่วนที่ 2 คือ การนำองค์ความรู้เรื่องภูมิศาสตร์ตำรวจ เข้ามาจับมาใช้ในการสืบสวน มีเรื่องของหลักการวิเคราะห์พฤติกรรม เราจะวิเคราะห์อย่างไรเจอคนร้ายประเภทนี้ในอนาคตเราจะทำอย่างไรให้การสืบสวนมาทำให้เร็วขึ้น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคต หรือแม้กระทั่งองค์รวมในการป้องกันอาชญากรรม ระงับยับยั้งบุคคลเหล่านี้ที่มีแนวโน้มจะกระทำความผิดจะต้องทำบัญชีการเฝ้าระวัง หรือจะเข้าไปตรวจสอบเขาอย่างไร ในสหรัฐฯ มีการดำเนินการ มีการวิเคราะห์เรื่องภาวะทางอารมณ์แรงกระตุ้น แรงจูงใจ จะต้องมีกฎหมายพิเศษบังคับคนกลุ่มนี้หรือไม่ว่า ต้องห้ามเข้าใกล้เด็กในระยะกี่กิโลเมตร ห้ามเข้าใกล้โรงเรียน ฯลฯ เหล่านี้คือการดำเนินการก่อนเกิดเหตุหรือเป็นการป้องกันเหตุ

พ.ต.ท.ทรงรักษ์กล่าวอีกว่า ต้องทบทวนสิ่งผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ซึ่งดำเนินการหรือยังไม่ได้ดำเนินการในส่วนใด มีสิ่งใดเป็นการทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ กรณีของนายหนุ่ยถือเป็นกรณีศึกษาที่สมบูรณ์ในทางคดี ตำรวจสามารถเข้ามาเรียนรู้การสืบสวนของตำรวจสมัยใหม่ได้อย่างถูกต้อง อันดับแรกคือ การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานแบบเดิมๆ การซักถามผู้ต้องหาตั้งแต่การเข้าที่เกิดเหตุ ตั้งแต่การให้สัมภาษณ์สื่อ ว่าการให้สัมภาษณ์แต่ละเรื่องมันจะกระทบต่อจิตวิทยาผู้กระทำผิดจะเปลี่ยนพฤติกรรมอะไรบ้าง เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมด

“คดีนี้จริงๆ ก็ใช้วิธีการสืบสวนปกติ แต่ถ้าในวงการตำรวจโลกคดีที่มันไม่ปกติ หรือผู้ต้องหามีความผิดปกติทางจิต มันต้องใช้เทคนิคอื่นวิธีการอื่นในการสืบสวน เพื่อให้จับกุมคนร้ายได้เร็วขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์พฤติกรรม และการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างถูกต้อง ต้องมีการเรียนรู้ แม้แต่ลายมือของผู้ต้องหา หรือแม้แต่การกระทำการ การวางตัวในตำแหน่งใน เป็นการเรียนรู้ถึงพฤติกรรมทำไมเขาจึงคิดว่าถ้าทำแบบนี้ถึงจะปลอดจากการสงสัยของผู้อื่น” รอง ผกก.6 บก.ป.กล่าว

พ.ต.ท.ทรงรักษ์กล่าวต่อว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่เราต้องเข้าไปเรียนรู้เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิดว่า เราจะจินตนาการเอาเองไม่ได้ ต้องคิดจากหลักวิชา ที่มีผลการวิจัยออกมามีฐานข้อมูลและต้องรีบทำ เพราะหากช้าไป ในอนาคตอาจมีเด็กที่ต้องตกเป็นเหยื่อเพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เราได้พูดคุยกัน รวมทั้งมีการวางแผน อาจจะได้กลับเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุอีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม โดยทางเอฟบีไอขอข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับภาพถ่าย ผลตรวจ ฯลฯ เพราะเขาต้องการวิเคราะห์ตามกระบวนการ จากนี้เราสามารถเปรียบเทียบกับในอนาคตว่าหากมีกรณีเช่นนี้อีกเราทำอย่างไรเราจะจับคนร้ายได้รวดเร็วและดำเนินการอย่างถูกต้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น