xs
xsm
sm
md
lg

ร้องศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตนักบินต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายจิระ รัตนะรัต ปธ.ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ ร้องดีเอสไอ(แฟ้มภาพ)
บริษัทผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ด้านพาณิชย์ร้องศาลปกครอง เพื่อขอให้ รมว.คมนาคม และอธ.กรมการบินพาณิชย์ มีคำสั่งเพิกถอนเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตให้นักบินต่างชาติทำการบินอากาศยานภายในราชอาณาจักร

วันนี้ (27 ต.ค.) ที่ศาลปกครองกลาง บริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น จำกัด ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ด้านพาณิชย์ ได้มอบหมายให้นายฉฎณ เปรมศรี ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้องนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในฐานะรมว.คมนาคม และนายวรเดช หาญประเสริฐ ในฐานะอธิบดีกรมการบินพลเรือน ผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ตามลำดับ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้มีคำสั่งเพิกถอนเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ และให้เพิกถอนใบรับรองผู้ดำเนินการการเดินอากาศ (AOC) ซึ่งได้ออกให้กับผู้ประกอบการค้าขายในการเดินอากาศ ซึ่งใช้นักบินต่างชาติทำการบินอากาศยานภายในประเทศ

คำฟ้องสรุปได้ว่าผู้ฟ้องเป็นผู้ได้รับอนุญาต ให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศแบบไม่ประจำ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ (ใบอนุญาตเลขที่ 14/2553) ดำเนินกิจการธุรกิจขนคนโดยสารทางอากาศ มาตั้งแต่ปี 2533 มาจนถึงปัจจุบัน ผู้ฟ้องทราบว่ามีพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 ที่ระบว่า “ให้กำหนดงานในอาชีพหรือวิชาชีพ เป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้ โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร”

ย่อมแปลงความได้ว่างานขับขี่เครื่องบินภายในประเทศเป็นอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำเพื่อเป็นการค้าหรือหารายได้ โดยเด็ดขาดในทุกท้องที่ในราชอาณาจักร แต่กลับปรากฏว่าในการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยรัฐมนตรีออกใบอนุญาตกลับกำหนดเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตให้ประกอบกิจการการค้าขายในการเดินอากาศ จึงเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้ง่อพระราชกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 มาตรา 4

ทั้งจากการกระทำดังกล่าวยังเป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดี พิจารณาออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) แก่ผู้ประกอบการค้าขาย ในการเดินอากาศซึ่งใช้นักบินต่างชาติทำการบินกับอากาศยานภายในประเทศ ซึ่งเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนต่อพระราชบัญยัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนข้อกฎหมายชี้แจงเพื่อวินิจฉัยและสั่งการ เพื่อดำเนินการเพิกถอน แก้ไขเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าในการเดินอากาศบัดนี้ล่วงเลยกำหนดเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ถูกฟ้องได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่ากลับเพิกเฉย จึงถือว่าเป็นการกระทำที่หน่วยงานของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยเอื้อประโยชน์ให้บุคคลต่างด้าวสามารถออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ทำให้ผู้ฟ้องคดีตลอดจนผู้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศหรือนักบินซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยได้รับความเดือดร้อนเสียหายเนื่องจากการกระทำดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ นายจิระ รัตนะรัต อายุ 74 ปี ประธานบริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น จำกัด ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ด้านพาณิชย์ เข้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบบริษัทผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจให้บริการเฮลิคอปเตอร์พร้อมนักบินต่างชาติแข่งขันกับบริษัทการบินในประเทศไทย ทั้งที่อาชีพนักบินเป็นอาชีพหวงห้าม 1 ใน 19 อาชีพ สำหรับคนไทยตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2521 เบื้องต้นอธิบดีดีเอสไอรับเรื่องไว้พร้อมมอบให้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริง

นายจิระ รัตนะรัต ประธานบริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น ผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ด้านพาณิชย์ กล่าวว่า ครอบครัวประกอบธุรกิจให้เช่าเฮลิคอปเตอร์มากว่า 50 ปี โดยได้รับความไว้วางใจจากบริษัทขุดเจาะน้ำมันระดับโลก ในการใช้เฮลิคอปเตอร์ของบริษัทรับส่งพนักงานไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ กลางทะเลอ่าวไทยมาตลอด บริษัทตนได้ใช้นักบินชาวไทยทั้งหมดประมาณ 50 คน ซึ่งได้ชักชวนนักบินมาจากเหล่าทัพต่างๆ และนักบินที่มีประสบการณ์ พร้อมทั้งพัฒนานักบินรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยได้ส่งไปเรียนที่โรงเรียนการบินที่บ่อฝ้าย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเปิดโรงเรียนการบินที่ภูเก็ต ซึ่งบริษัทมีเฮลิคอปเตอร์สมรรถนะสูงไว้ให้บริการประมาณ 10 ลำ ราคาลำละกว่า 500 ล้านบาท มีพนักงานในบริษัทกว่า 200 คน

ประธานบริษัท เอสเอฟเอส เอวิเอชั่น กล่าวอีกว่า ต่อมามีบริษัทผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ของต่างชาติ เข้ามาประมูลแข่งขันกับบริษัทผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ของคนไทย โดยใช้คนไทยบางส่วนเข้าเป็นนอมินี หรือตัวแทนในการเข้าประมูลแข่งขันกับบริษัทผู้ให้บริการเฮลิคอปเตอร์ของคนไทย ซึ่งมีอยู่ 3-4 แห่ง ตนคาดว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นห่วงนักบินชาวไทยว่าจะต้องตกงานจะกลับไปเหล่าทัพคงไม่ได้แล้ว จึงต้องมาขอความเป็นธรรมต่อดีเอสไอ หลังจากเมื่อวันที่ 8 ส.ค.ตนได้ไปร้องขอความเป็นธรรมที่กระทรวงคมนาคม ตนคาดว่าหากมีการเปิดประชาคมอาเซียนจะมีนักบินต่างชาติแห่เข้ามาแย่งอาชีพนักบินชาวไทยจำนวนมาก หากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ยืนยันว่าคุณภาพนักบินชาวไทยมีมาตรฐานสากลเหมือนนักบินต่างประเทศ ตนยังเห็นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงหากให้นักบินต่างชาติเข้ารับทราบข้อมูลแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทยได้ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครรักประเทศไทยเหมือนคนไทย

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอจะมอบให้ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผบ.สำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการชาวไทยต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น