xs
xsm
sm
md
lg

ก่อนขึ้นภาษีสนามบิน ขอปลั๊กไฟหน่อยได้ไหม?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเพิ่งเดินทางกลับจากการลางานไปเยี่ยมญาติที่เกาะสมุย 2 วัน ต่อด้วยไปพักผ่อนที่เชียงใหม่อีก 2 วัน แน่นอนว่ามีคนแซวผมว่าเดี๋ยวนี้เที่ยวบ่อยจังเลย อยากจะชี้แจงสักเล็กน้อยว่า ช่วงปีใหม่และสงกรานต์ผมไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลย เพราะงานข่าวหยุดไม่ตรงกับชาวบ้าน อีกทั้งผมไม่ชอบบรรยากาศแย่งกันกิน แย่งกันใช้ด้วย

พอเอาเข้าจริงเมื่อนับนิ้วดูแล้ว ปีหนึ่งผมเที่ยวต่างจังหวัดเพียงแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น...

นอกนั้นเก็บตังค์! (ฮา)

การเดินทางของผมเลือกตั๋วเครื่องบินราคาถูกเหมือนเคย อย่างที่บอกกับคุณผู้อ่านก็คือ ช่วงเดือนกันยายนเป็นช่วงที่คนเดินทางน้อยที่สุดของปี เพราะฉะนั้นแต่ละสายการบินจะมีโปรโมชั่นลดราคาช่วงนี้ โชคดีที่คราวนี้ผมนั่งเครื่องไป-กลับโดยสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สุวรรณภูมิ-เกาะสมุย และต่อด้วยการบินไทย สุวรรณภูมิ-เชียงใหม่

ก่อนอื่นต้องขอบคุณบางกอกแอร์เวย์สสำหรับบริการที่ผู้โดยสารชั้นประหยัดอย่างผมได้รับ ทั้งห้องรับรองที่ผู้โดยสารทุกคนสามารถเข้ามารับประทานของว่างและเครื่องดื่มได้ฟรี มีอินเตอร์เน็ตไร้สาย (ไว-ไฟ) ใช้ มีปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ให้ วันเดินทางกลับเจ้าหน้าที่สนามบินสมุยยังช่วยออกบัตรขึ้นเครื่องและส่งต่อสัมภาระไปยังเชียงใหม่ให้

แต่สำหรับการบินไทย เนื่องจากผมเลือกซื้อตั๋วชั้นประหยัด อีกทั้งไม่ได้เป็นเศรษฐีที่มีบัตรเครดิตอภิสิทธิ์ใดๆ จึงไม่มีสิทธิ์ใช้บริการเลาจน์ของการบินไทย ซึ่งสงวนไว้สำหรับผู้โดยสารชั้นธุรกิจ เพราะฉะนั้นการจะพักผ่อนหาอะไรกิน หาอินเตอร์เน็ตไว้ใช้ หรือชาร์จแบตเตอรี่ใดๆ คงต้องหากันแบบตามมีตามเกิด อย่างประสบการณ์แปลกๆ ที่ผมจะเล่าต่อไปนี้

หลังจากที่ผมเดินทางออกจากสมุย ด้วยเที่ยวบินบางกอกแอร์เวย์ส PG146 ถึงสุวรรณภูมิเกือบห้าโมงเย็น ยังเหลือเวลาอีก 3-4 ชั่วโมง ที่ผมจะขึ้นเครื่องการบินไทย TG122 ตอนสามทุ่ม เนื่องจากสนามบินสมุยจัดการเรื่องเช็กอิน บัตรขึ้นเครื่อง และสัมภาระหมดแล้ว จึงไม่ต้องไปรับกระเป๋าและเช็กอินเคาน์เตอร์การบินไทยซ้ำ

ผมเลือกที่จะเดินเล่นในสนามบิน เพราะกลัวว่าถ้าออกข้างนอกไปแล้วจะกลับมาขึ้นเครื่องไม่ทัน เมื่อรถบัสที่รับจากบันไดเครื่องบินมาส่งถึงชั้นล่าง อาคารเทียบเครื่องบิน (Concourse) D แล้ว ก็ตรงไปทางออกขึ้นเครื่อง แทนที่จะเลี้ยวซ้ายไปจุดรับกระเป๋า มุ่งหน้าไปยังทางแยกระหว่างอาคารเทียบเครื่องบิน A และ B ซึ่งเป็นฝั่งเที่ยวบินภายในประเทศ

ด้วยความที่โทรศัพท์มือถือของผมเกิดอาการแบตเตอรี่อ่อน อีกทั้งเครื่องสำรองไฟฟ้าของผมใช้จนหมดเกลี้ยงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตาเดินหาก็คือ ปลั๊กไฟสำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ ด้วยความที่บริการชั้นประหยัดของการบินไทยเป็นแบบตามมีตามเกิด เพราะฉะนั้นระหว่างรอขึ้นเครื่องก็ใช้ชีวิตไปตามยถากรรมก็แล้วกัน

จุดแรกที่ผมเดินตามหาปลั๊กไฟก็คือ ด้านในศูนย์อาหาร FOOD STOP ซึ่งเป็นศูนย์อาหารแห่งเดียวในอาคารผู้โดยสารในประเทศ ผมเจอปลั๊กไฟอยู่จุดหนึ่งบริเวณเสา จึงหยิบเก้าอี้ที่นั่งข้างๆ แล้วหยิบสายชาร์จจากกระเป๋าพกพา นั่งเสียบชาร์จมือถือทันที ทีนี้ ที่นั่งในศูนย์อาหารสงวนสิทธิ์สำหรับลูกค้า และด้วยความเกรงใจ จึงคิดว่าคงหาอะไรกินไปด้วย

ผมเดินดูเมนูอาหารหลายร้าน มื้อหนักๆ ส่วนใหญ่ราคาหลักร้อยขึ้นไปทั้งนั้น ด้วยความที่ผมอิ่มแล้วเพราะจัดเต็มบนเครื่องบางกอกแอร์เวย์มาแล้ว จึงหยุดลงที่แมคโดนัลด์ ผมเพ่งเมนูอาหารพอสมควร จึงสั่งไก่ทอด 1 ชิ้น พนักงานก็ถามว่ารับเฟรนซ์ฟรายโค้กจัมโบ้ไหม ด้วยความที่คิดว่าเพิ่มอีกไม่กี่บาทจึงตอบตกลง

“ทั้งหมดสองร้อยสิบห้าบาทค่ะ”

ผมสะดุ้ง อึ้งไปสามวินาที ก่อนที่จะถามพนักงานว่า ที่นี่รับบัตรวีซ่าไหม ตอนนั้นที่จ่ายผ่านบัตรแทนเงินสดเพราะเงินในกระเป๋าสตางค์มีไว้นั่งรถแท็กซี่เข้าเมืองเชียงใหม่ และเผื่อไว้เวลาโรงแรมเรียกเก็บค่ามัดจำกุญแจ ไม่อยากออกไปกดเงินสดอีก เมื่อพนักงานบอกว่าใช้ได้จึงรูดบัตรไป พร้อมกับหยิบถาดไก่ทอด โค้กแก้วใหญ่ และเฟรนซ์ฟรายด์จัมโบ้

เหตุการณ์ในตอนนั้น สำหรับผม มันคือการกินแมคโดนัลด์ที่ไร้ค่าที่สุดในชีวิต...

ผมนั่งชาร์จแบตมือถือเหมือนเดิม เวลานั้นแสดงผลเพียงแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น แม้จะพยายามใช้ไฟล์ทโหมดเพื่อประหยัดพลังงานก็ตาม ผมละเลียดไก่ทอด เฟรนซ์ฟรายด์อย่างช้าๆ เวลาตอนนั้นหกโมงเย็นเศษๆ ด้านข้างเห็นกลุ่มลูกเรือบางกอกแอร์เวยส์ 10 คน นั่งกินแมคโดนัลด์ แล้วเมาท์มอยไปตามประสา ด้านหลังมีหนุ่มสาวกำลังสวีทกันอยู่

นั่งไปได้สักพัก ผมเกิดอาการปวดท้องขึ้นมากะทันหัน จะทิ้งมือถือไว้กับที่นั่งก็ไม่ได้เพราะเดินทางคนเดียว ไม่อย่างนั้นหายแน่ๆ จึงตัดสินใจทิ้งไก่ทอด เฟรนซ์ฟรายด์ และโค้กไว้แบบไปลับไม่กลับมา ออกจาก FOOD STOP มุ่งหน้าเข้าห้องน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุด ซึ่งตอนนั้นห้องน้ำตรงทางสามแพร่งปิดปรับปรุง จึงต้องไปใช้ห้องน้ำอาคารเทียบเครื่องบิน B

หลังเสร็จกิจธุระส่วนตัว ผมเดินออกมาตรงทางสามแพร่งเหมือนเดิม ด้วยความที่แบตเตอรี่มือถืออ่อนมาก เมื่อเห็นตู้โทรศัพท์สาธารณะที่เรียกว่า WEB PHONE ตั้งอยู่ตรงหน้า จึงหยอดเหรียญสิบบาทเพื่อใช้อินเตอร์เน็ต สภาพเครื่องนั้นบราวเซอร์ยังใช้ตัวเก่า ทีโอทีไม่มีการพัฒนา เวลาเข้าสู่ระบบเฟซบุ๊กจึงค้าง เข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง

ใช้งานได้สักพัก ปรากฏว่าเครื่องค้าง

ก่อนจะเปลี่ยนหน้าจอระบุว่า “ปิดปรับปรุงชั่วคราว กรุณาใช้เครื่องถัดไป”


ผมสะดุ้ง อึ้งไปสามวินาทีอีกครั้ง เพราะยอดเงินที่ใช้คงเหลือตั้ง 6 บาท ต้องสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย เพราะระบบขัดข้อง อันที่จริงในสนามบินก็มีการแจกซองรหัสไว-ไฟให้ใช้ฟรี 60 นาที แต่ต้องเลิอก SSID คือ Airport Free Wi-Fi ซึ่งหาไม่เจอ เจอแต่ WLANNet บริษัทที่ติดตั้งระบบให้ ซึ่งคิดชั่วโมงหนึ่งเป็นร้อยบาท จึงตัดใจทิ้งเป็นเศษกระดาษ

ผมออกตามหาปลั๊กไฟอีกครั้งโดยการเดินทั่วอาคารเทียบเครื่องบิน ไล่ตั้งแต่อาคาร D ต่อด้วยอาคาร A และ B เรียกได้ว่าเดินกันจนขาลาก เล่นทางเลื่อนอัตโนมัติกันสนุกสนาน แทบจะท่องได้ขึ้นใจว่า “ระวัง สิ้นสุดทางเลื่อน END OF THE WALK WAY” ซึ่งจริงๆ ถ้าจะให้ท่องเสียงเรียกขึ้นเครื่องของพนักงานต้อนรับภาคพื้นดินคงจะสนุกกว่านี้

ผมเจอปลั๊กที่ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะพนักงานทำความสะอาด โดยการง้างกระเบื้องเข้าไป ซึ่งผมคงไม่กล้าใช้ ครั้นพอมาเห็นฝาปิดสแตนเลสหน้าห้องขึ้นเครื่องห้องหนึ่ง ผมลองกดเข้าไปให้มันเด้งออกมา ปรากฏว่าเจอปลั๊ก 3 ตา แต่ใช้ไม่ได้เพราะทางสนามบินใช้วิธีอุดปลั๊กไฟไม่ให้บุคคลภายนอกใช้ จึงถอยออกมาจากจุดนั้น

สภาพในตอนนั้นเหมือนหมดอาลัยตายอยาก เพราะแทบจะเป็นบุคคลที่ตัดขาดจากโลกภายนอก พยายามรำพึงรำพันว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่ กระทั่งเกิดเรื่องบังเอิญขึ้น เมื่อผมเห็นเสาเข็มต้นหนึ่งที่อยู่หน้าร้านเอเชียบุ๊คส์ ซึ่งหลบมุมพอสมควร มีปลั๊กไฟอยู่ตรงนั้น ผมรีบควักกระเป๋าหยิบสายชาร์จออกมาเสียบ ปรากฏว่าไฟเข้ามือถือ

ถึงตอนนั้นอารมณ์ประมาณว่า ... นี่มันสวรรค์ชัดๆ (ฮา)

นาฬิการะบุตอนทุ่มหนึ่ง ผมนั่งลงกับพื้นเพื่อเฝ้ามือถืออย่างใกล้ชิด ท่ามกลางผู้คนนับสิบนับร้อยเดินผ่านไป-มาตรงหน้า ผมก็ไม่สนใจ แม้ในใจตอนนั้นก็นึกอยู่ว่าถ้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบินมาไล่ออกไปจะทำยังไง แต่พอเอาเข้าจริงนอกจากพนักงานทำความสะอาดจะมองผมด้วยสายตาแปลกๆ แล้วก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

สองทุ่มครึ่ง ผมเดินออกจากตรงนั้นพร้อมกับแบตเตอรี่ที่ชาร์จไว้ได้ประมาณร้อยละแปดสิบ มาถึงบริเวณประตูทางออกขึ้นเครื่อง B3 ในตอนนั้นมีผู้โดยสารรอขึ้นเครื่องไปจำนวนมาก ปรากฏว่าบริเวณถัดจากเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร บริเวณเครื่องคีออส (Kiosk) สีส้มของ CAT Telecom มีคนอยู่ 2-3 คนชาร์จแบตเตอรี่ตรงนั้น

เรื่องของเรื่องก็คือเครื่องคีออสเสียไป 2-3 เครื่อง จึงถูกชักปลั๊กออก ปลั๊กที่ว่างตรงนั้นจึงถูกผู้โดยสารชาร์จแบตเตอรี่ ทั้งไอแพด ไอโฟน ผมไม่รอช้าจึงนั่งลงกับพื้น ชาร์จแบตเตอรี่อีกรอบเผื่อต้องใช้ที่เชียงใหม่ สักพักมีหนุ่มนักศึกษาคนหนึ่งขอชาร์จไอโฟนของเขาบ้าง อาศัยช่วงที่คนต่อคิวขึ้นเครื่องยาวเหยียดชาร์จแบตเตอรี่ไปพลางๆ

เอวังก็จบลงด้วยประการฉะนี้...

เมื่อวันก่อน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน พิจารณาปรับเพิ่มค่าภาษีสนามบิน (PSC) สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศจากเที่ยวละ 100 บาท เป็น 150 บาท และผู้โดยสารต่างประเทศ จากเที่ยวละ 700 บาท เป็น 800 บาท


ทอท. อ้างว่ามีภาระต้นทุนในการดูและรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น เมื่อคำนวณเป็นต้นทุนสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศอยู่ที่ 329 บาทต่อเที่ยว ทำให้ขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารต่างประเทศอยู่ที่ 500 บาทต่อเที่ยว แต่จัดเก็บ 700 บาทต่อเที่ยว มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท

การขึ้นภาษีสนามบินครั้งนี้ ทอท. คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกปีละ 2 พันล้านบาท

อีกด้านหนึ่ง กรมการบินพลเรือนก็จะเสนอขอปรับค่าภาษีสนามบินภูมิภาค 28 แห่งทั่วประเทศ สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ จากเที่ยวละ 50 บาท เป็น 100 บาท และผู้โดยสารต่างประเทศ จากเที่ยวละ 400 บาท เป็น 500 บาท เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของสนามบิน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและว่าจ้างบุคลากร

อย่างไรก็ตาม กรมการบินพลเรือนอ้างว่า การขึ้นภาษีสนามบินยังเป็นเพียงแนวคิด เพราะต้องรอการอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน แต่เนื่องจากกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รวม 7 คน หมดวาระลง จึงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการบินพลเรือน

ผมลองดูปฏิกิริยาในห้องบลูแพลนเน็ต ของพันทิปด็อทคอม พบว่ามีหลายความเห็นที่น่าสนใจ บางคนมองว่าจะขึ้นอะไรกันนักกันหนา เพราะค่าครองชีพทุกวันนี้ขยับขึ้นทุกอย่าง บ้างก็บอกว่าถ้าพัฒนาการบริการให้ดีแล้วขึ้นภาษีสนามบินจะไม่มีคนบ่นแบบนี้แน่นอน เพราะทุกวันนี้การบริการไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น ไว-ไฟก็งก ปลั๊กชาร์จแบตเตอรี่ก็น้อย

บางคนประชดว่า สงสัย ทอท. คงเก็บเงินไว้ซ่อมแท็กซี่เวย์ ที่พังแล้วพังอีกตั้งแต่เปิดใหม่ๆ กระมัง

วันก่อน คุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวความมั่นคงของไทยพีบีเอส เล่าว่าที่สนามบินอินชอน เกาหลีใต้ อินเตอร์เน็ตไม่ต้องมีพาสเวิร์ด เปิดเครื่องเชื่อมต่อได้ทันที ความเร็วปรู๊ดปร๊าด ผู้บริหารสนามบินสุวรรณภูมิน่าเอาไปปรับปรุง แทนที่จะทำเท่แจกพาสเวิร์ด แต่เน็ตโคตรเต่า คิดเป็นแต่เรืองเก็บเงินเข้ากระเป๋า บริการสาธารณะห่วยแตก

แม้ผมจะไม่เคยไปเมืองนอกสักครั้งในชีวิต แต่เพื่อนในเฟซบุ๊กก็กล่าวเสริมว่า ที่สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2556 เมื่อไม่นานมานี้ รวมทั้งเช็กแล็บก็อกของฮ่องกง และนาริตะ โตเกียวของญี่ปุ่นนั้น อินเทอร์เน็ตก็ฟรี ไม่มีพาสเวิร์ด และเร็วเหมือนกัน รวมทั้งที่ชาร์จแบตเตอรี่เพียบ

ผมลองดูภาษีสนามบินของประเทศรอบบ้านเรา ลาวและพม่าภาษีสนามบินคนละ 10 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 320 บาท) เหมือนกัน ส่วนกัมพูชาคิด 25 เหรียญสหรัฐฯ (เกือบ 800 บาท) เวียดนามคิด 14 เหรียญสหรัฐ (เกือบ 450 บาท) มาเลเซียคิด 65 ริงกิต (ประมาณ 630 บาท)

ที่สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ เวลาคิดภาษีสนามบิน แบ่งออกเป็น ค่าธรรมเนียมการบริการรักษาความปลอดภัยให้ผู้โดยสาร (Passenger Service and Security Charge) 19.90 ดอลลาร์สิงคโปร์, ภาษีสนามบิน (Aviation Levy) 6.10 ดอลลาร์สิงคโปร์ และค่าบริการรักษาความปลอดภัย (Passenger Security Service Charge) 8 ดอลลาร์สิงคโปร์

รวมกันแล้ว 34 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 854 บาท ราคาแพงกว่าบ้านเราอยู่ร้อยกว่าบาท

แต่เมื่อเทียบกับรางวัลสนามบินที่ดีที่สุดในโลก แม้ผมจะไม่เคยไปต่างประเทศ แต่เห็นรีวิวท่องเที่ยวในพันทิปแล้วก็คงยอมรับในรางวัลที่ได้รับ (พร้อมกับฝันหวานว่าเมื่อไหร่จะได้เปิดหูเปิดตาที่สิงคโปร์กับเขาบ้าง)


ภาษีสนามบินเคยปรับขึ้นระลอกหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน เฉพาะสนามบินที่อยู่ในความดูแลของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) 6 แห่ง หลังการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ จากเที่ยวละ 50 บาท เป็น 100 บาท และผู้โดยสารต่างประเทศ จากเที่ยวละ 500 บาท เป็น 700 บาท

โดยให้เหตุผลว่า การย้ายสนามบินจากดอนเมืองไปยังสุวรรณภูมิ มีผลต่อต้นทุนการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งอันที่จริงไม่น่าจะกระทบกับสนามบินอื่นๆ โดยส่วนตัวน่าจะเป็นผลพวงจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชน เมื่อปี 2545 ซึ่งก็ต้องหาเรื่องทำกำไรไม่ต่างไปจาก ปตท. มากกว่า

หากจะเปรียบเทียบภาษีสนามบินกับการขึ้นค่าทางด่วนนั้นเหมือนจะเป็นคนละเรื่อง เพราะการขึ้นค่าทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นล่าสุดนั้น เกิดจากสัญญาที่ให้เอกชนลงทุน ซึ่งลงนามตั้งแต่ปี 2530 กำหนดว่าค่าผ่านทางต้องปรับขึ้นทุก 5 ปี ขึ้นโดยคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภคของปีนั้น แต่ภาษีสนามบินนั้นไม่ใช่

ครั้งหนึ่ง ร.ท.สุวิทย์ ยอดมณี รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เคยมีแนวคิดแบ่งรายได้ 1% จากการจัดเก็บภาษีสนามบิน จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ประสบเหตุระหว่างเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ได้รับการคัดค้านจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า

เพราะระเบียบหลักการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอโอ กำหนดว่า ภาษีต่างๆ ที่เรียกเก็บในสนามบิน จะต้องนำไปใช้ในกิจการด้านการบินพาณิชย์เท่านั้น และการกำหนดอัตราภาษีต่างๆ ทางการบิน ต้องหารือกับผู้ประกอบการสายการบินก่อนการดำเนินการใดๆ

โดยส่วนตัวผมมีเรื่องน่าคิดเกี่ยวกับการขึ้นภาษีสนามบินอยู่ 2-3 ประเด็น

ประการแรก คือ ภาษีสนามบินนั้น หลังจากเมื่อ 6 ปีก่อน ทอท. ปรับขึ้นมาระลอกหนึ่งแล้ว หากจะปรับขึ้นอีกครั้งโดยอ้างว่าต้นทุนสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศอยู่ที่ 329 บาทต่อเที่ยว ก็ต้องถามว่าต้นทุนที่ว่ามีอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับผู้โดยสารส่วนใหญ่หรือไม่ และเมื่อผู้โดยสารต่างประเทศมีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท ทำไมถึงแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว

ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงจะบวกภาษีสนามบินสำหรับผู้โดยสารต่างประเทศเพิ่มอีก 100 บาท แทนที่จะขึ้นเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศอีก 50 บาทเพียงอย่างเดียว

ประการต่อมา ในส่วนของสนามบินภูมิภาคของกรมการบินพลเรือนนั้น ภาษีสนามบินสำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ 50 บาท ถือว่าถูกเกินไป เมื่อเทียบกับสมัยนี้ที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น เงินเพียง 50 บาทไม่อาจรองรับการพัฒนาสนามบิน 28 แห่งได้ อย่างสนามบินนครศรีธรรมราชกว่าจะปรับปรุงแล้วเสร็จก็ใช้ระยะเวลานาน

เพราะฉะนั้นการขึ้นภาษีสนามบินภูมิภาค จึงเป็นสิ่งที่พอยอมรับได้ แต่สำหรับประชาชนที่พักอาศัยในจังหวัดโดยรอบสนามบิน และจังหวัดที่อยู่ติดกัน ถ้าเป็นไปได้ควรมีระบบคิดค่าภาษีสนามบินในอัตราเดิมได้หรือไม่ เพราะอย่างสนามบินเอกชน คือ สนามบินสุโขทัย สนามบินตราด และสนามบินสมุยยังมีบัตรส่วนลดสำหรับผู้ที่พักอาศัยในพื้นที่นั้นๆ

ประการสุดท้าย ผมยินดีและเต็มใจที่จะจ่ายภาษีสนามบินเพิ่ม โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินที่อยู่ในการดูแลของ ทอท. ถ้าการให้บริการดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะไว-ไฟฟรี ปลั๊กสำหรับชาร์จแบตเตอรี่ การรักษาความปลอดภัยภายในสนามบิน หรือการจัดรถรับ-ส่งระหว่างดอนเมือง-สุวรรณภูมิ

ทุกวันนี้สนามบินสุวรรณภูมิหยุดอยู่แค่แจกซองรหัสไว-ไฟ สัญญาณอินเตอร์เน็ตคุณภาพต่ำ นอกเสียจากต้องเสียเงิน (เจ้าเดียวกับที่ติดตั้งไว-ไฟฟรีเนี่ยแหละ) ปลั๊กเสียบชาร์จแบตเตอรี่ก็ไม่มี นอกจากต้องไปงัดมาจากตู้คีออสที่เสีย ที่เหลืออะไรที่เป็นเงินเป็นทองได้ก็ชาร์จเต็มที่ มีคนโวยวายว่าทรัพย์สินในกระเป๋าสัมภาระหายบ่อยครั้ง

ส่วนสนามบินดอนเมือง นอกจากจะไม่มีไว-ไฟฟรีให้บริการแล้ว สภาพของสนามบินเริ่มเก่า ยังดีที่ว่าเมื่อปีที่แล้วแอร์เอเชียกลับมาใช้ดอนเมือง เลยทำการรีโนเวตให้ดูทันสมัยขึ้น สนามบินต่างจังหวัดอย่างเชียงใหม่ มาครั้งล่าสุดไม่มีแจกซองไว-ไฟฟรีให้บริการแล้ว ต้องไปซื้อของที่ร้านกาแฟถึงจะได้รหัสไว-ไฟ และส่งสัญญาณไม่ถึงทางออกขึ้นเครื่องอีก

ในเมื่อบริการห่วยเท่าที่เป็นอยู่ จะดันทุรังขึ้นภาษีสนามบินอยู่อีก คิดว่าดีก็ทำไป ถ้าเสียงของผู้โดยสารไม่มีความหมาย จ้องแต่จะหากำไรเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น ต่อให้แข่งสนามบินชางฮี อีกกี่สิบชาติก็ไม่มีวันชนะ

ถ้าแม้แต่คนไทยยังชนะใจไม่ได้...




กำลังโหลดความคิดเห็น