กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน นับเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มุ่งหวังให้มีการจัดตั้งกองทุนประเภทนี้ออกมาเพิ่มทางเลือกนักลงทุน ซึ่งกองทุนรวม บีทีเอสโกรท นับเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานกองทุนแรกของประเทศไทย และเป็นหนึ่งใน IPO ที่มีมูลค่าการเสนอขายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีมูลค่าสูงถึง 62,500 ล้านบาท
ข่าวการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบอื่นๆ เริ่มเปิดเผยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในรูปพลังงาน และในรูปโทรคมนาคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE นั่นเอง
นพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดบ้านให้ “ASTVผู้จัดการ” เข้ามาพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียด ทั้งความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนฯ รวมทั้งแผน และเป้าหมายในอนาคตของ ทรู คอร์ป ว่า กองทุนโครงสร้างพื้นฐานของทรูฯ ตอนนี้ได้รับอนุมัติจาก ก.ล.ต. แล้ว และมองว่ากองทุนฯ แบบนี้มันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ เพราะเมืองไทยยังจำเป็นต้องมีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอีกเยอะ
“การระดมทุนหากให้จำกัดอยู่เฉพาะการตั้งบริษัท การลงทุนโดยภาครัฐ-เอกชนมันก็แค่นั้น แต่ว่าตัวกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเครื่องมือ หรือพาหนะใหม่ของการลงทุนซึ่งต่างประเทศได้ใช้กันมานานแล้ว ไม่ว่าจะไปสร้างท่าเรือน้ำลึก รถไฟความเร็วสูง โรงไฟฟ้า หรือโทรคมนาคม ซึ่งหลักใหญ่คือ โครงสร้างพื้นฐานที่จะสามารถอนุมัติให้ใส่เข้าไปในกองทุนฯ ได้โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานที่สามารถจะมีหลาย operator เข้ามาใช้ร่วมกันได้ เพราะทุกวันนี้ แต่ละ operator ต้องลงทุนสร้างเองทั้งหมด ใช้ทุนสูง แต่หากเป็นกองทุนเสา 1 ต้น สามารถรองรับตัวผู้ให้บริการได้หลายราย รวมถึงไฟเบอร์ออปติก ซึ่งทุกอย่างที่จริงสามารถใช้ร่วมกันได้”
CFO ทรู คอร์ป กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ตลาดในไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบผูกขาด ก็คือระบบที่อยู่ภายใต้การให้สัญญาสัมปทานเดิมที่ทำกันมา แต่วันนี้ตลาดได้เปิดเสรี และเพิ่งเริ่มครั้งแรกคือ การให้ประมูลคลื่น 2100 MHzซึ่งมีผู้ให้บริการ 3 รายที่มีโครงข่ายได้ ตรงนี้ถามว่าต่างประเทศสนใจไหม แน่นอนบริษัทต่างชาติก็สนใจแต่ถ้าเข้ามาประมูลคลื่นในประเทศไทยแล้ว นอกจากจ่ายเงินค่าคลื่นแล้ว ยังต้องมาลงทุนตั้งเสาใหม่ด้วย ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ
สำหรับทรูมูฟ ต้องใช้เวลา 6-7 ปี ในการสร้างเสาได้ 6,000-7,000 ต้น ถือว่าต้องใช้เวลานานกว่าจะเริ่มทำการตลาดได้จริงจังทั่วประเทศ แต่ถ้ามีบริษัท หรือมีกองทุนที่เป็นเจ้าของเสาที่เป็นคนกลาง คนเข้ามาประมูลคลื่นก็จ่ายค่าคลื่นไป วันรุ่งขึ้นก็สามารถอุปกรณ์มาแขวนให้บริการได้เลยทั่วประเทศได้เลย เพียงแค่ไม่กี่เดือนก็สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ทำให้การแข่งขันสูงขึ้น และตัวผู้บริโภคจะได้ประโยชน์
“ภาพรวมการตั้งกองทุนฯ ว่ามันดีสำหรับประเทศ รัฐบาลถึงมีนโยบายให้ไม่ต้องจ่ายภาษีในแง่ของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ แต่ก็บังคับกองทุนฯ ห้ามเก็บเงินไว้ ต้องจ่ายคืนให้หน่วยลงทุน 90% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายภายในแล้ว ทำไมเราไม่เอามาแชร์กัน ผมไปคุยกับคนอื่นเขาก็มีปัญหาที่แตกต่างไม่เหมือนของเรา”
กรณีปัญหากับ กสท เรื่องเสาสัญญาณ
ผู้บริหาร ทรู คอร์ป อธิบายว่า ตั้งแต่กลุ่มทรูเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ได้มีการวิเคราะห์จ้างสำนักงานทนาย ทำการประเมินราคามูลค่าสินทรัพย์อย่างชัดเจน ว่าจะต้องโอนอุปกรณ์โทรคมนาคมอะไรบ้างให้กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) ก่อนจะเริ่มโอเปอเรต เรียกว่า BTO (Build-Transfer-Operate) และสิ่งที่มันชัดเจน อีกเหมือนกันคือ ว่าเสามันไม่ใช่อุปกรณ์ที่บริษัทต้องโอน แต่เพิ่งจะมามีคำถามกันเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วเรื่องเสา ทาง CAT Telecom ก็ถามว่าที่ผ่านมา 5-6 ปีทำไมถึงไม่ไปโอนเสา เพราะในต่างประเทศมันมีมูลค่าสูงมาก เรื่องดังกล่าวถูกนำเข้าอนุญาโตตุลาการพิจารณาว่าเราชัดเจนตั้งแต่วันแรกแล้ว ว่าเสาไม่ใช่อุปกรณ์โทรคมนาคมที่ต้องโอนคืน
“ใน กทม. เราให้บริการอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะ 3G เรามีเสาอยู่เยอะมาก เสามันไม่มีหรอกเพราะจริงๆ เราไปติดไว้ข้างตึก แต่ถ้าเราต้องโอนเสา เราไม่ต้องโอนตึกให้ด้วยเหรอ เรามี 800 ตึกที่ไปเช่าติดไว้ และจ่ายเงินค่าเช่าให้ ผมอยากจะสร้างเสาผมต้องไปขออนุญาตกรมการบินพาณิชย์ ไปขออนุญาต กทม. ก่อน ผมสร้างขึ้นไปแล้วผมจะปักธงประเทศไทย หรือจะเอารูปผมไปแขวนก็ได้ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามันเป็นอุปกรณ์โทรคมนาคม เช่น ถ้าเราให้บริการ 2G เราต้องเอา Antenna คือเสาอากาศที่ขึ้นไปแขวนบนนั้นโอนให้ กสท ไปเลย รวมถึงสายออปติกที่เชื่อมลงมาที่เบส และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เราก็โอนหมดเลย แต่ไม่ได้โอนเสา เพราะมันไม่ใช่อุปกรณ์โทรคมนาคม ด้านภาครัฐ มองว่าเสาถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ คือสิ่งที่เขาทำการโต้แย้งมาตลอดว่านี่มันเป็นภาวะเขาต้องพึ่งพา แต่มันก็สุดแล้วแต่ใครจะมอง ทรูก็เอาตามสัญญาตามกฎหมายของบริษัท เพราะสัญญาสัมปทานเขียนไม่เหมือนกัน ค่ายอื่นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ทีนี้จะมาใช้รายละเอียดสัญญาของอีกค่ายกับบริษัทไม่ได้เพราะเขียนต่างกัน ในขั้นอนุญาโตตุลาการตัดสินไปแล้ว จบไปแล้วคือยกฟ้อง เช่นเดียวกับ DPC อันนั้นก็จบไปแล้ว ยกฟ้องเช่นกัน”
ความคืบหน้าล่าสุด
ผู้บริหาร ทรู คอร์ป กล่าวว่า ตอนนี้บอร์ดของทรูฯ ตัดสิน และทำไฟลิ่งแจ้ง ก.ล.ต.ไปแล้วว่าจะเป็นอุปกรณ์เหล่านี้ แต่ผลยังไม่สรุป คืออาจมีบางพื้นที่ที่บริษัทจะไม่เอาเข้ากองทุนฯ ตอนนี้กำลังศึกษา โดยปัจจุบันยังเป็นไปตามเดิม คือ กองทุนฯ จะมีมูลค่าประมาณ 70,000 ล้านบาท จากเสาโทรคมนาคม 7,000 ต้น และโครงข่ายใยแก้วนำแสงของบริษัทย่อย ที่ไม่อยู่ภายใต้สัมปทานแต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด แต่ตอนนี้กำลังทดสอบกับนักลงทุนอยู่ว่าเรื่องเสาที่มีข้อพิพาทโต้แย้งกันมันจบไปแล้ว นักลงทุนจะมองเช่นไร แต่ถ้าเกิด CAT จะฟ้องร้องต่อแล้วนักลงทุนจะคิดยังไง
“กองทุนฯ นี้ไม่ใช่ของทรู เขาบังคับเลยนะว่าห้ามไม่ให้กลุ่มทรู และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทรู รวมถึง CP Group ด้วยสามารถถือหุ้นในกองทุนรวมกันเกินกว่า 1 ใน 3 ของมูลค่าทั้งหมด ก.ล.ต. บังคับไม่ให้ทั้ง เครือเข้าไปมีอิทธิพลเหนือกองทุน ทรูเองก็ไม่ได้เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนด้วย แต่ต้องให้บริษัทบริหารจัดการกองทุน (บลจ.) ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนนี้ เราไม่มีสิทธิเลยนอกจากเป็นแค่ผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง โดยในประเทศ คือ บลจ. ไทยพาณิชย์ ถ้าต่างประเทศก็จะมีเครดิตสวิส กับ ยูบีเอส”
โมเดลธุรกิจกองทุนฯ เสาสัญญาณ
นพปฎล ฉายภาพกองทุนฯ ว่า มีลักษณะคล้าย property fund บริษัทเป็นผู้ขอเช่าเสา เอาอุปกรณ์ไปแขวน ผู้บริหารกองทุนฯ จะไปขายพื้นที่ หรือให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาใช้เสาด้วยก็ได้ เพียงแต่ต้องมีการบำรุงรักษาตามมาตรฐานสากล รวมถึงเรื่องไฟเบอร์ออปติก ทรานส์มิชชันด้วย
“ทรูฯ จะเป็นเพียงผู้เช่ารายแรก โมเดลนี้ บริษัทจะทำให้มันชัดเลยว่าถ้ามีทรูรายเดียว โดยไม่มีใครเข้ามาร่วมด้วยเลย กองทุนจะได้อะไร และหากทรูฯ ต้องการใช้เพิ่มขึ้นก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นอีก เพราะความจริงบริษัทยังต้องการอีกเยอะมาก เนื่องจากต้องทำ 2G 1,800 MHzและ 3G ร่วมกับ CAT ในคลื่น 850 MHz และก็เพิ่งประมูลคลื่น 2,100 MHzมาได้ แต่ละอันมันต้องการเสาทั้งนั้น เพราะคลื่นความถี่ยิ่งสูง ก็ยิ่งต้องการเสายิ่งเยอะ เพราะความถี่สูงความครอบคลุมมันจะแคบลง รวมทั้ง 4G หรือคลื่น 2,600 Mhz ยิ่งต้องการเสาเพิ่มขึ้นอีก ผมถามกลับไปเลยว่าถ้าทุกคนกำลังจะขึ้นไป 4G 5G ต้องตั้งเสาเพิ่มแล้วเราต้องตั้งอีก 3 เสาหรือเปล่า ผมว่ามันไม่มีความจำเป็น จริงๆ ถ้าเราทำตรงนี้ให้ดีนะ สมมติว่า AIS, DTAC อยากจะมาถือหุ้นก็มาซื้อหุ้นได้ และมันก็ไม่ใช่ของทรูด้วย หรือเขาจะขายทรัพย์สิน เช่น เสาของตัวเองเข้ามาในกองทุนเขาก็ทำได้ทันทีเพราะผู้บริหารกองทุนเขาตัดสินใจได้เองเลยโดยเป็นอิสระจากเรา”
“ผมขอยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่ง ผมเป็นทรู ผมก็เอาเสาอากาศมาแขวน และผมก็ให้ผลตอบแทนกองทุนอยู่แล้ว เช่น ปัจจุบันผมจ่ายเงินค่าเช่าอยู่สมมติว่า 100 บาท กองทุนลงทุนไปแล้วไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร อาจจะมีหักนิดหน่อยก็ได้กำไรไป สมมติกำไร 60 บาท กองทุนต้องปันผลให้ 90% ของ 60 บาท แล้วลองคิดต่อแล้วกันว่า หากมีผู้เช่ารายที่ 2 เอาขึ้นมาแขวนด้วย ถามว่ากองทุนมีต้นทุนเพิ่มไหม ไม่มี แต่รายที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะมาจ่ายต่ำกว่าผมนะ ดังนั้น เมื่อเขามาจ่าย 100 บาท นั่นหมายความว่ากองทุนจะมีกำไรอีก 100 บาท รวม 160 บาท ไฟเบอร์ออปติกก็เหมือนกัน เพราะมันอยู่ในดินอยู่แล้ว คุณจะใช้เพิ่มมันก็ไม่มีต้นทุนผันแปรเพิ่มตามที่คนมาซื้อ มันไม่เหมือนกับการผลิตเทป คนมาใช้เพิ่มรายได้ของกองทุนที่เพิ่มขึ้นคือกำไร ตรงนี้คือที่คนยังไม่เห็นกันอย่างชัดเจน”
เป้าหมายหลักลดภาระ ดบ. 8 พันล./ปี
นพปฎล กล่าวเพิ่มเติมว่า การตั้งกองทุนฯ แปลว่าทรูฯ ขายทรัพย์สินที่เป็น core เข้าไปในกองทุน ทรูจะได้เงินมาก้อนหนึ่ง โดยส่วนใหญ่ของเงินก้อนนี้จะเอาไปลดหนี้ทันที โดยมีแผนลดหนี้ลงมาจนถึงจุดที่ทุกคนสบายใจว่าทรูก็มีหนี้เท่ากับคู่แข่ง และไม่ได้สูงเกินไป เพราะการลดหนี้คือการเพิ่มมูลค่าหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นได้เร็วที่สุด ปัจจุบันทรูจ่ายดอกเบี้ยอยู่ปีหนึ่ง 7,000 -8,000 ล้านบาท พอลดหนี้ลงไปแล้วดอกเบี้ยเหล่านี้เราก็เอาไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นแทน โดยบริษัทพยายามกำหนดเป้าที่จะทำให้เสร็จภายในปีนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดด้วย เราต้องการลดค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยหายไป บริษัทก็น่าจะทำผลกำไร และจ่ายปันผลได้