xs
xsm
sm
md
lg

ถล่ม"ปู"ทัวร์ผลาญงบ ชอปปิ้ง-ถ่ายรูปชุดประจำชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (15ส.ค.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เป็นวันที่สอง ในมาตรา 4 งบกลาง วงเงิน 343,131,000,000 หลังจากที่คณะกรรมาธิการได้ปรับลดวงเงินลง 2,328,000,000 บาท โดยสมาชิกฝ่ายค้านส่วนใหญ่ได้เสนอให้ตัดงบกลางที่มีการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะกรณีการใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ถือว่าเป็นผู้นำประเทศที่เดินทางไปเยือนต่างประเทศมากที่สุด ขณะเดียวกันกลับใช้งบกรณีฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนอย่างด้อยประสิทธิภาพ
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย ขอปรับลดงบกลาง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เพราะเป็นงบแบบเซ่เว่นอีเลฟเว่น ใช้จ่ายเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมง มีความไม่ชอบมาพากล โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิอนุมัติงบเพียงคนเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่ปี 2557 ได้รับงบประมาณจำนวน 72,500 ล้านบาท ส่วนในปี 2556 ได้รับงบประมาณ 73,700 ล้านบาท ซึ่งงบในส่วนนี้ ควรเป็นงบช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ แต่ในอดีตได้นำเงินส่วนนี้ จำนวน 2,000 ล้านบาท ไปจ่ายเยียวยาให้คนเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถูกคุมขังทั่วประเทศ เพียงเพราะเขาไม่ได้สนับสนุนรัฐบาล
นายวัชระ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังอนุมัติงบกลางให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ซึ่งในขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 200 ล้านบาท เพื่อใช้ปราบม็อบองค์การพิทักษ์สยาม และครั้งล่าสุดที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม จริงหรือไม่ ที่อาจใช้งบฯกว่า 400 ล้านบาท ทั้งที่เงินจำนวนนี้ควรเป็นเงินที่เอาไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน
"เงิน7 หมื่นกว่าล้านบาท สงสัยว่าทำไมกัน 4 .6 หมื่นพันล้านไว้ให้ใครหรือไม่ ผมแน่ใจว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เงินจากงบกลางด้วยในการทำภาระกิจลับบางอย่าง ไม่ทราบเอาไปทำอะไร เป็นหน้าที่กรรมาธิการต้องซักถามเรื่องนี้ อีกทั้งสตช. ที่มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. นำเงินไปปราบม็อบกว่า 600 ล้านบาท เป็นการสมควรหรือไม่ ทั้งยังนำเงินไปทำภารกิจลับ ก็ไม่รู้เอาไปทำอะไร ขอเสนอว่าควรนำงบกลางไปช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องครู และข้าราชทุกหมู่เหล่า ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้พี่น้องประชาชนประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในหลายจังหวัด ก็ควรนำงบกลางก้อนนี้ไปใช้จ่าย อย่ากอดเงินไว้ที่ทำเนียบรัฐบาล " นายวัชระ กล่าว
นายวัชระ กล่าวอีกว่า การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ มีหน่วยราชการที่ปกปิดข้อมูลเป็นจำนวนมาก เช่น สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ส่งเอกสารค่าใช้จ่ายการเดินทางไปราชการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปกว่า 40 ประเทศ ใช้เงินไปกี่พันล้านบาทแล้ว ก็ไม่ส่งข้อมูลให้กรรมาธิการบอกว่าจะส่ง ก็ไม่ส่งให้ ตนจึงทวงเอกสารกลางที่ประชุมนี้
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายมาตรา 4 งบกลาง ว่า ตนได้รับเอกสารขอสนับสนุนงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี 2556 จากการประชุมครม. ของสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 56 ซึ่งเป็นเอกสารของวาระจร และเมื่อมีการอนุมัติแล้ว ก็มีการเรียกเอกสารดังกล่าวกลับคืนไป ซึ่งมีการเรียกว่าเงินฉลองปีใหม่ โดยเอกสารดังกล่าวมีหน่วยงานที่ได้รับการอนุมัติ คือ สตช. 335 ล้านบาท กองทัพบก 6 แสนบาท กองทัพอากาศ 4.8 หมื่นบาท กองทัพเรือ 4.8 หมื่นบาท กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน 3.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 339 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช่จ่ายเบี้ยเลี้ยงค่าตอบแทนแก่กำลังพลในช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่ม อพส. ในตลอดสัปดาห์ และการชุมนุมวันที่ 24 พ.ย. 55 โดยส่วนใหญ่เป็นค่าเตรียมความพร้อมการชุมนุม ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก ค่าพาหนะ วัสดุส่งกำลังบำรุง และค่ากล้องซีซีทีวี รวมทั้งจำนวน 139 ล้านบาท ซึ่งตนไม่ติดใจ
“แต่ที่ผมติดใจมากที่สุดคือ เงินจำนวนอีก 200 ล้านบาท ที่สตช. ตั้งชดเชยการชุมนุมซึ่งเป็นงบลับ ไม่ทราบว่าไปหาข่าวอะไรหนักหนา ถึงใช้เงินมากขนาดนี้ กับการชุมนุมแค่วันเดียว และเป็นรายจ่ายที่ไม่มีบัญชี เคยสอบถามไปก็ได้รับคำตอบว่า คุณไม่เข้าใจหรือ เป็นงบลับ ดังนั้นผมอยากถามกรรมาธิการสนับสนุนงบอย่างนี้ไปได้อย่างไร”
นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า อยากถามว่าใช้งบกลางไปเท่าไรในการไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะผลที่ได้ถือว่า ล้มเหลว ยังเกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชิญนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง จะใช้งบกลางหรือไม่ จำนวนเท่าไร
“ถ้าเป็นตามเท่าที่เป็นข่าวว่าใช้ถึง 20 ล้านบาท ถือว่าเป็นการจ้างที่โคตรแพง ขอให้นายกฯ มาชี้แจงด้วย”
ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรียกร้องให้มีการชี้แจงกรณีการใช้งบของประมาณในการทำเรื่องสภาปฏิรูปว่าใช้งบปี 56 หรือ 57 จำนวนเท่าใด ร่วมทั้งอยากทราบกรอบการทำงานและจะมีผลทางกฎมายต่อไปหรือไม่ รวมทั้งทำไมต้องจ้างนายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกฯ อังกฤษถึง 20 ล้านบาท
“ผมสงสัยว่ามีลิ้นทองหรืออย่างไร ถึงได้จ้างแพงขนาดนั้น ดังนั้น ผมจึงขอตัดงบกลางจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์”
นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดงบกลางออก 3 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีความไม่ชัดเจนในการใช้จ่าย และไม่จำเป็น เช่นงบที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากปัญหาภัยพิบัติ หรืออุทกภัยต่างๆ ที่มีการจัดสรรไว้ในงบการจัดการทัพยากรธรรมชาติกระจายอยู่ตามกระทรวงต่างๆ อยู่แล้วจำนวนนับแสนล้านบาท แต่กลับมีการจัดไว้ในงบกลางอีก 2 หมื่นล้านบาท อยากทราบว่ามีการกำชับถึงใช้งบประจำอย่างรวดเร็วทันทีทันควันและใช้เงินสำรองฉุกเฉินอย่างประหยัดอย่างไร มีการประเมินหรือ มีการกำหนดคำนิยามของคำว่า “ฉูกเฉิน”หรือ มีคู่มือการใช้อย่างไร
นอกจากนี้กรณีการใช้งบประมาณเดินทางไปต่างประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งที่ผ่านมามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่านายกฯ เดินทางไปต่างประเทศจำนวนครั้งมากที่สุด ท่ามกลางครหาว่าไปเที่ยว ช็อปปิ้ง ตนจึงเสนอให้ตัดงบเดินทางไปต่างประเทศ อยากให้นายกฯ อยู่บ้าน ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทุกงาน เลือกไปเฉพาะงานที่สำคัญ เช่นการประชุมประจำปีของสหประชาชาติ หรือ ประชุมอาเซียน ส่วนงานอื่นๆ มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปแทนก็ได้ อีกทั้งแต่ละครั้งที่ไป ก็ไม่มีความชัดเจนเรื่องแผนงาน และไม่มีผลสำเร็จออกมาให้เห็น
“การเดินทางไปต่างประเทศมากๆ ของท่านนายกฯ โดยที่ไม่ได้แก้ปัญหาพื้นฐานในประเทศให้เป็นกิจลักษณะ ไม่สามารถปกปิดสายตาชาวโลกได้ การเริ่มต้นที่บ้านสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเสถียรภาพการเมืองยังไม่เรียบร้อยไปพูดอย่างไรก็เชื่อถือไม่ได้ เสียเงินทองเปล่าๆ ดังนั้นจึงจำเป็นที่บริหารจัดการงบให้ดีสามารถทำดีอย่าฟุ่มเฟือย”
นายอาคม เอ่งฉ้วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการไปดูงานของนายกฯ จำนวน 45 ครั้ง 47 ประเทศ ใช้งบถึง 370 ล้านบาท อยากทราบว่า เอาไปทำอะไรให้เกิดประโยชน์หรือไม่ หรือมีการลงนามเอ็มโอยู เกี่ยวกับการซื้อขายยางพารา ที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกรหรือไม่
ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า การเดินทางไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี เป็นการไปเยือนตามคำเชิญของผู้นำต่างประเทศ ไม่ได้ไปเที่ยว ซึ่งทุกครั้งนายกฯ ก็จะเชิญนักธุรกิจไปด้วย เพื่อแสวงหาโอกาสในการลงทุน การที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยมาก ก็เพราะนายกฯไปเชิญ
ด้านนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การตั้งงบกลางเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ 7 .3 หมื่นล้านบาท กรรมาธิการไม่ได้ปรับลด หรือเปลี่ยนแปลง ส่วนการพิจารณาเบิกใช้ จะมีหลักเกณฑ์ และวัตถุประสงค์กำหนดไว้ชัดเจน แม้หลายคนจะเข้าใจว่าอำนาจการเบิกใช้งบนี้เป็นของนายกฯ คนเดียว เพราะเป็นผู้นำคณะรัฐมนตรี แต่หากดูตามการปฏิบัติแล้วไม่ใช่ และต้องเป็นไปหลักเกณฑ์วิธีกำหนกด และหลายกรณีที่มีการเสนอของใช้งบฉุกเฉิน แต่นายกฯ อาจไม่อนุมัติทุกครั้งก็ได้ บางครั้งก็เสนอกลับไปให้ทบทวน หรือปรับแผนใหม่
ส่วนค่าใช้จ่ายการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯ และคณะบุคคล จริงๆ แล้วไม่มีการจัดไว้ในงบกลาง แต่จะอยู่ในมาตรา 5 สำนักงานเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี และดูเหมือนจะพูดกันมากว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ ที่เดินทางไปต่างประเทศมากสุด ตนไม่แน่ใจว่ารวบรวมแล้วจำนวนเท่าไหร่ แต่เป็นการไปปฏิบัติภารกิจเหมือนกับผู้นำในอดีตที่ผ่านมา ที่เมื่อได้รับเลือกตั้งก็จะต้องมีภารกิจไปทำเรื่องกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเริ่มจากเพื่อนบ้านก่อน ซึ่งอาจจะแตกต่างกับผู้นำบางคนที่เป็นมาแล้ว ที่จะให้ความสำคัญกับการเดินทางไปแถบอาเซียนน้อยกว่า จึงดูเหมือนว่าคนขึ้นมาใหม่ในครั้งแรก จะไปเยือนกลุ่มอาเซียนทุกประเทศ และต้องเข้าร่วมประชุมทุกพันธกรณีที่ไทยร่วมเป็นสมาชิกอย่าง เลี่ยงไม่ได้ ถ้ามอบหมายไม่ได้ต้องไปเอง อีกทั้ง ต้องดูว่าช่วงเวลาแต่ละคนที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง มีการประชุมมากหรือน้อย และแต่ละเทอมที่ดำรงตำแหน่งก็แตกต่างกัน
ดังนั้นต้องไปดูว่า นายกฯไปเพราะพันธกรณีมากกว่าคนอื่นๆ หรือไม่ อีกทั้งการไปเยือนตามคำเชิญ ถือเป็นโยบายของรัฐบาล และอยู่ที่ผู้นำแต่ละท่าน ได้รับการตอบรับ และการให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน จะมาคำนวณว่าไปมากกว่า น้อยกว่า คนอื่นไม่ได้ ต้องดูผลที่ได้ ซึ่งเมื่อผู้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการยืนยันว่ามีความสำคัญ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ จึงไม่มีการติดใจ
ส่วนค่าใช้จ่ายที่บอกว่ามากกว่าคนอื่นหรือไม่ ต้องดูรายละเอียด โดยค่าใช้จ่ายสูงสุดคือ ค่าพาหนะ และองค์คณะที่ไป หากไปกลุ่มอาเซียนอาจไม่ไกลก็สามารถใช้เครื่องบินของส่วนราชการได้ แต่กรณีที่ไปประเทศไกล ต้องดูว่ามีเส้นทางการบินของเครื่องบินพาณิชย์ คือ สายการบินไทยไปหรือไม่ ถ้ามีก็ต้องใช้สายการบินพาณิชย์ แต่ถ้าออกนอกเส้นทาง จำเป็นต้องเช่าเหมาลำ ค่าใช้จ่ายอาจสูงขึ้นกว่าปกติ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆเช่น ค่าจอด ค่าผ่านน่านฟ้า ในอัตราที่สูงหรือไม่อยู่ที่ข้อจำกัดเทียวบินที่ไป ส่วนองค์ประกอบ หลักๆนายกฯจะไปพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเป็น ส่วนเอกชนขึ้นอยู่กับแต่ละเส้นทาง ขณะที่สื่อมวลชนมีการเดินทางไปน้อยที่สุด และต้องออกค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เอง
ทั้งนี้การจัดงบประมาณสำหรับค่าเดินทางของนายกฯและคณะ ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 53 จำนวน 31 ล้านบาท ปี 54 จำนวน 80 ล้านบาท แต่ใช้จ่ายไม่หมดเพราะมีการเปลี่ยนรัฐบาล และเกิดปัญหาอุทกภัย ปี 55 จำนวน 61 ล้านบาท ปี 56 จำนวน 61 ล้านบาท และปี 57 ลดลงเหลือ 55 ล้านบาท และเมื่อนายกฯ มีการเดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ ครบแล้วการใช้จ่ายคงจะลดลงไป
ส่วนคำถามเรื่องการตั้งงบใช้จ่ายการปฏิรูปการเมืองนั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการตั้งงบประมาณแต่อย่างใด
จากนั้น ประธานได้สั่งให้โหวตในมาตรา 4 โดย ที่ประชุมเห็นชอบตามกรรมาธิการเสียงข้างมากด้วย คะแนน 291 เสียงต่อ 126 เสียง
ต่อมาได้มีการพิจารณา มาตรา 5 งบสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ปรับลดงบประมาณในส่วนนี้ลง 25 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ มีการตั้งงบประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศ 550 ล้านบาท ปรับลดแค่15 ล้าน ขณะที่งบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์รัฐบาล 500 ล้านบาท ไม่มีการปรับเลย มีเอกสารชี้แจงเหตุผล 3-4 ข้อ โดยข้อหนึ่งบอกศึกษาผลกระทบตามนโยบายรัฐบาล แต่กิจกรรมที่ทำมีการลงไปจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม สงสัยกำลังไปทำโพลล์ของรัฐบาล เพื่อเชียร์รัฐบาล โดยมีการจ้างที่ปรึกษา 30 คน เป็นเงินเดือน 7 ล้านกว่าบาท จ้างนักวิจัย 60 คน เดือนละ5 0,000 ทั้งหมด 30 ล้านบาท มีการออกแบบระบบอินเตอร์เน็ต เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ 12 ล้านบาท และจัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่ 237 ล้านบาท มีการจ่ายค่ารถให้คนเข้ามาดูงานวันละ 400 บาท ค่าเลี้ยงอาหารว่าง ค่าวิทยากร แต่ที่หนักกว่านั้น รายการนี้มีงบจัดพีอาร์ข้อมูลต่างๆ ด้วยการซื้อสื่อทีวี 60 ล้านบาท และสื่อสิ่งพิมพ์ 16 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการซื้อสื่อทีวีดาวเทียมสีเดียวกับรัฐบาล จะนำเงินไปถมพรรคพวกอีกหรือไม่ กรรมาธิการได้ซักละเอียดหรือไม่
ส่วนงบที่มีการพูดถึงกันมากคือ การเดินทางไปต่างประเทศ ของนายกฯ ตนเข้าใจว่ามีความจำเป็นที่ต้องไปร่วมงานระดับนานาชาติ แต่การไปเยือนที่อ้างว่าได้รับเชิญ ความจริงหลายครั้งไม่ได้มาจากการเยือนจากต่างประเทศ แต่มีการติดต่อกันว่าจะไป งบในปี 57 มีการตั้งไว้ 55 ล้านบาท เฉพาะที่เห็นในสำนักนายกฯ 17 ล้านบาท เชื่อยังมีอยู่ในอีกหลายกระทรวง รวมแล้วอาจจะถึงพันล้านบาท ซึ่งเมื่อดูตารางทัวร์ ปี 57 ของนายกฯ ที่ไปงานระดับนานาชาติ แต่มีเกือบทุกเดือน ตั้งแต่บรูไน ญี่ปุ่น อาเจนติน่า สวิสเซอร์แลนด์ เอเชียกลาง เติร์ก อุสเบกิสถาน แคนนาดา พม่า อิตาลี ตุรกี อัฟริกา สหรัฐฯ คำถามคือ กรรมาธิการได้ซักถามหรือไม่ว่าปกติการใช้เงินลักษณะนี้ผิดปกติ หลายยุคที่เกิดวิกฤติประเทศ ผู้นำพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสมควรไป หรือคุ้มค่าหรือไม่ รัฐมนตรีบางคนไปก็ไม่มีผู้ติดตาม และไม่ถี่ขนาดนี้
“ที่สำคัญมีการประเมินผลเมื่อกลับมาหรือไม่ หรือแค่แต่งชุดประจำชาติถ่ายรูป ตกลงเจรจาได้อะไรบ้าง ประเทศไทยมีตลาดเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ประเทศที่เลือกไปเพราอะไร หลับตาจิ้ม หรือ อยากไป หรือเลือกที่มีการค้า ผมว่าถ้าสะสมไมล์ของนายกฯ น่าจะไปถึงดาวอังคาร หรือยู่ครบ 4 ปี คงยาวถึงดาว พลูโต แต่คนไทยได้อะไร ท่านบอกมีปัญหาให้มาคุยในสภา ถึงเวลาตัวเองไม่มา ไปโผล่ถ่ายรูปกับสวนสัตว์ แสดงว่ากรรมาธิการ ไม่ได้ตรวจสอบ พิจารณาแต่อยู่บนประโยชน์พรรคพวกตนเอง”
ขณะที่งบคนจน คือ งบจัดตั้งธนาคารที่ดินจำนวน 17 ล้านบาท กรรมาธิการปรับลดหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ต้องจัดตั้งขึ้นตามกฤษฏีกาบริหารจัดการที่ดิน ในปี 54 เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน กระจุกการถือครองเพื่อเก็งกำไร โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้กระจายถือครองอย่างเป็นธรรม แต่กลับตัดทิ้ง เพราะอ้างว่า มีเงินในธนาคารเกือบ700 ล้านแล้ว เพราะไม่มีการดำเนินอะไรที่จัดสรรที่ทำกินให้คนจน ทำไมไม่ถามว่าทำไมไม่ดำเนินการและปล่อยเงินให้เหลือ700 ล้านทำไม รวมถึงโฉนดชุมชนที่สำนักงานอยู่ในสำหนักปลัดสำนักนายกฯ สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์มี อนุมัติงบทิ้งไว้ให้ซื้อที่ดิน100กว่าล้านบาท แต่วันนี้ไม่มีการเขียนไว้เลยแม้แต่บาทเดียว รัฐบาลเอาไพร่ไปไว้ที่ไหน หรือพายเรือมาส่งถึงที่แล้วเหยียบหัวส่ง
ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งว่า นายกฯ จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นการลงทุนให้ประเทศไทย หลังจากที่เกิดเหตุการณ์กระชับการชุมนุมในปี 53 คนมีคนตายจำนวนมาก ทำให้สังคมโลกไม่ยอมรับ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องไปสร้างความเชื่อมั่น ส่วนประเทศที่ไป ไม่หลับตาจิ้ม ตนเป็นคนเลือกเอง โดยเน้นประเทศที่มีศักยภาพ ต้องมีจีดีพี ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ให้เท่ากับความเจริญเติบโตของไทย หรือกลุ่มอาเซียน โดยได้นำกลุ่มลงทุนไปด้วย เช่น ปตท. เน้นประเทศที่จะลงทุนด้านถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า เพชร พลอย ปลาสด และได้พานักวิจัยไปเพื่อหาความร่วมมือเพื่อไปพัฒนาประเทศ
“เราไม่ยึดรูปแบบเหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ไปแค่ประชุมอย่างเดียว แต่เราไปเน้นเรื่องนำพาเงินเข้าสู่ประเทศ ดูว่าเราได้นักท่องเที่ยวเข้ามาเท่าไหร่ ปีนี้คนจีนบอกว่าจะเที่ยว 4 ล้านคน ทำรายได้เข้าสู่คนจน นายกฯ ท่านไปก็เอาสินค้าโอทอปไปขาย เราเป็นรัฐบาลหาเงินเข้าประเทศ ส่วนกรณีการจ่ายเงินให้บุคคลสำคัญต่างชาติ มาร่วมหาทางออกให้ประเทศไทย ผมเป็นผู้จัดการเอง เพราะเป็นคนเชิญ เราไม่เสียเงินค่าจ้างให้นายโทนี แบลร์ แม้แต่บาทเดียว จ่ายแค่ที่พักและค่าเดินทางเท่านั้น เพราะท่านมีความรู้ ให้มาแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อเป็นวิทยาทาน วิชาการ ให้กับคนไทย”นายสุรพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น