ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง “วัฒนา อัศวเหม” กับพวก คดีทุจริตซื้อที่ดินสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่า 1.8 หมื่นล้าน ชี้พยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานฉ้อโกง
ที่ศาลแขวงดุสิต ถ.บรมราชชนนี วันนี้ (19 พ.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำ2794/2553 ที่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี , บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง , นายพิษณุ ชวนะนันท์ กรรมการบริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง , บริษัทประยูรวิศว์การช่าง , นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริษัทประยูรวิศว์การช่าง , บริษัทสี่แสงการโยธา(1979) , นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กรรมการบริษัทสี่แสงการโยธา ,บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ , นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กรรมการบริษัทกรุงธนเอนยิเนียร์ , บริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ , นายรอยอิศราพร ชุตาภา กรรมการบริษัทเกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ , บริษัท คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ , นายชาลี ชุตาภา กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , นายประพาส ตีระสงกรานต์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กรรมการบริษัทคลองด่านมารีนฯ , บริษัท ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ , นางบุญศรี ปิ่นขยัน กรรมการบริษัท ปาล์ม บีชฯ , นายกว๊อกวา โอเยง สัญชาติฮ่องกง ในฐานะผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ และ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นจำเลยที่ 1 -19 ในความผิดฐานฉ้อโกงที่ดิน และฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 90, 91 และ 83
โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างปี 2531-2533 จำเลยที่ 1 ได้เสนอต่อโจทก์ว่าจะจัดหาที่ดิน 1,900 ไร่ เพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งของโครงการดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 -11 ฉ้อโกงโจทก์ โดยนำที่ดินของจำเลยที่ 12 มาเสนอขายแก่โจทก์ โดยมีเงื่อนไขขอให้โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลยที่ 12 เลย โดยไม่ต้องผ่านการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นของจำเลยที่ 1 ก่อน การกระทำของจำเลยที่ 1 -19 เป็นการฉ้อโกงโจทก์ โดยร่วมกันหลอกลวงและปกปิดว่าโฉนดที่ดิน 17 แปลง ที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์จากจำเลยที่ 12 เป็นโฉนดที่ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีเนื้อที่ตามจำนวนที่ระบุในโฉนด โดยไม่มีเนื้อที่ซึ่งเป็นคลองหรือถนนสาธารณะหรือที่ชายตลิ่ง แต่ความจริงแล้วที่ดินดังกล่าวมีเนื้อที่ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในโฉนด ถึง 5 แปลง โดยเนื้อที่บางส่วนเป็นคลอง ถนนสาธารณะ หรือที่ชายตลิ่ง และมีการออกโฉนดโดยมิชอบ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อรับซื้อ และชำระเงินค่าที่ดินให้กับจำเลยที่ 12 ไปเป็นจำนวน 1,956,600,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1-19 ก็ได้นำเงินดังกล่าวไปแบ่งปันกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
นอกจากนี้ในการประกาศประกวดราคาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านของโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.38 จำเลยที่ 1–11 ได้ร่วมกันแอบอ้างนำเสนอว่า บริษัท นอร์ธเวสต์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (NWWI) ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิควิศวกรรมการจัดการน้ำเสีย จะเข้าร่วมดำเนินงานกับพวกจำเลยด้วย ทำให้โจทก์หลงเชื่อ อนุมัติให้พวกจำเลยเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ซึ่งในวันทำสัญญาดังกล่าว พวกจำเลยได้ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ โดยแอบอ้างหลักฐานหนังสือมอบอำนาจของบริษัท นอร์ธเวสต์ฯ ในการเข้าทำสัญญา อีกทั้งจำเลยที่ 1-11 ได้เปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินหลายแห่ง เป็นบัญชีรายรับร่วมของกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี และบริษัทนอร์ธเวสต์ฯ เพื่อหลอกลวงรับเงินค่าจ้างและเงินอื่นๆไปจากโจทก์ ทั้งที่บริษัทนอร์ธเวสต์ฯ มิได้รู้เห็นหรือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1-11 เปิดบัญชีเงินฝากดังกล่าวหรือเพื่อรับเงินแทนแต่อย่างใด การปกปิดความจริงโดยการหลอกลวงดังกล่าว เป็นผลทำให้โจทก์หลงเชื่อจ่ายเงินค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างโครงการคลองด่าน เป็นจำนวนเงิน 17,045,889,431.40 บาท และอีกจำนวนหนึ่งเป็นเงิน 121,343,887.19 เหรียญสหรัฐ จากนั้นจำเลยที่ 1-11 ได้แบ่งเงินดังกล่าวกันเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต จำเลยให้การปฏิเสธ โดยชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลประทับรับฟ้องไว้เฉพาะจำเลยที่ 2-19 และให้ยกฟ้องกิจการร่วมค้า เอ็นวีพีเอสเคจี จำเลยที่ 1
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 52 ให้จำคุกนายพิษณุ ชวนะนันท์ กก.บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง , นายสังวรณ์ ลิปตพัลลภ กก.บ.ประยูรวิศว์การช่าง , นายสิโรจน์ วงศ์สิโรจน์กุล กก.บ.สี่แสงการโยธา , นายนิพนธ์ โกศัยพลกุล กก.บ.กรุงธนเอนยิเนียร์ , นายรอยอิศราพร ชุตาภา กก.บ.เกตเวย์ , นายชาลี ชุตาภา กก.บ.คลองด่านมารีนฯ , นายประพาส ตีระสงกรานต์ กก.บ.คลองด่านมารีนฯ , นายชยณัฐ โอสถานุเคราะห์ กก.บริษัทคลองด่านมารีนฯ ,นางบุญศรี ปิ่นขยัน กก.บ.ปาล์ม บีชฯ และนายกว๊อกวา โอเยง ผู้แทนบริษัท ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 3, 5, 7, 9, 11 13-15, 17,18 และนายวัฒนา อดีต รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 19 เป็นเวลาคนละ 3 ปี
ส่วน บ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง , บ.ประยูรวิศว์การช่าง , บ.สี่แสงการโยธา(1979) , บ. กรุงธนเอนยิเนียร์ , บ.เกตเวย์ดิเวลลอปเมนท์ , บ. คลองด่านมารีน แอนด์ ฟิชเชอรี่ และ บ.ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ จำเลยที่ 2, 4, 6, 8, 10, 12 และ 16 ให้ปรับรายละ 6,000 บาท ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 2- 19 ยื่นอุทธรณ์ โดยจำเลยต่อสู้ว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดฐานฉ้อโกง โดยหลอกลวงขายที่ดินซึ่งมี 5 ฉบับ คือ 13150, 13817, 15024, 15528 และ 15565 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ที่ออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้กับกรมควบคุมมลพิษ และจำเลยที่ 2-11 ไม่ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงในการทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยปกปิดข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าโฉนด 5 ฉบับที่อ้างว่ามีการออกโดยมิชอบด้วยระเบียบ โดยนายวัฒนา จำเลยที่ 19 ใช้อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีจูงใจให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการออกโฉนดหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่านายวัฒนา จำเลยที่ 19 ได้จูงใจให้เจ้านักงานออกที่ดิน 5 โฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มีประเด็นต้องวินิจฉัยต่อว่าจำเลยที่ 19 มีเจตนาที่จะนำที่ดินนั้นไปหลอกลวงขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ โดยมีจำเลยที่ 2-18 ร่วมเป็นตัวการหรือไม่ เห็นว่า จากทางนำสืบและคำอ้างอุทธรณ์ของจำเลยพบว่า บ. ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 มีน้องชายของจำเลยที่ 19 กับพวกถือหุ้น และในช่วงเวลาตามฟ้องบริษัทได้มีโครงการสร้างสนามกอล์ฟและบ้านพักอาศัย โดยได้มีการโฆษณาโครงการในนิตยสารว่าจะมีการสร้างสนามกอล์ฟ 36 หลุม ชื่อปาล์มบีชกอล์ฟ แอนด์ คันทรีคลับ เนื้อที่ 3,000 ไร่ไว้บริการ จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า บ. ปาล์ม บีช ฯ จำเลยที่ 16 ซื้อที่ดินจำนวนมาก เพื่อจะทำโครงการสนามกอล์ฟและบ้านพักอาศัยขายให้กับบุคคลทั่วไปจริง การที่จำเลยที่ 19 ขายที่ดินซึ่งบริษัทเหมืองแร่ลานทอง จำกัด รวบรวมซื้อมาจากชาวบ้าน ต.คลองด่านให้กับ บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ก็น่าจะเป็นการดำเนินการช่วยเหลือให้โครงการของจำเลยที่ 16 ลุล่วงไปโดยเร็ว และที่ บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ขายที่ดินต่อให้กับ บ.คลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 12 ซึ่งดำเนินกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งจำหน่ายต่างประเทศก็เนื่องจากจำเลยที่ 16 พัฒนาที่ดินแล้วเกิดปัญหาดินทรุด เพราะเป็นดินเลนติดทะเลไม่คุ้มทุนการทำสนามกอล์ฟ น่าจะเป็นเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ
ขณะที่ช่วงเวลาที่ บ.ปาล์ม บีชฯ จำเลยที่ 16 ซื้อที่ดินก็ยังไม่แน่ชัดว่าโครงการก่อสร้างบำบัดน้ำเสียจะใช้ที่ดินบริเวณใดบ้าง โดยกรมควบคุมมลพิษเพิ่งมีโครงการชัดเจนว่าจะใช้ที่ดิน ต.คลองด่านในเดือน ก.พ. 2539 ดังนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 19 เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือดำเนินการใดๆ ให้คณะกรรมการคัดเลือกของกรมควบคุมมลพิษเลือกที่ดินของให้กับ บ.คลองด่านมารีนฯ จำเลยที่ 12 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2-19 ฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้แม้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องนายวัฒนากับพวก แต่ตามกฎหมายกรมควบคุมมลพิษโจทก์ สามารถยื่นฎีกาได้ภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับ นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น ก่อนหน้านี้ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2551 ให้จำคุกนายวัฒนา อดีตรมช.มหาดไทย เป็นเวลา 10 ปี ฐานใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการออกโฉนดที่ดินใน ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ เนื้อที่ 1,900 ไร่ ทั้งที่รัฐได้ประกาศหวงห้ามให้ที่บริเวณดังกล่าวใช้เป็นที่ทิ้งขยะมูลฝอยและถนนสาธารณะให้กับบ.ปาล์ม บีช ดิเวลลอปเมนท์ โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามป.อาญา มาตรา 148 ซึ่งนายวัฒนา ได้หลบหนีคดีไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ จึงให้ออกหมายจับนายวัฒนา มารับโทษตามคำพิพากษา ซึ่งคดีมีอายุความ 15 ปี