xs
xsm
sm
md
lg

รอง ผบ.ตร.สอบเครียดคดีแฮกเอทีเอ็ม ยอดผู้เสียหายพุ่งกว่า 80 ราย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ได้เดินทางมาที่สน.ลุมพินีเพื่อเร่งรัดคดีแฮก เงินในบัญชีเอทีเอ็มประชาชน
รอง ผบ.ตร.ประชุมหารือคดีแฮกเกอร์อาละวาดตู้เอทีเอ็ม ดูดเงินในบัญชีธนาคารผู้เสียหาย จำนวนกว่า 76 ราย สน.ลุมพินี มูลค่าความเสียหายกว่า 1 ล้าน 3 แสนบาท จ่อประสาน ปอศ.-ไอซีที ร่วมสางคดี ดีเอสไอ ร่วมเตือนภัยประชาชนหลังแฮกเกอร์อาละวาด ลุ้นรับเป็นคดีพิเศษ ส่วนธนาคารยินยอม่รับผิดชอบให้ผู้เสียหายทั้งหมด ด้านตึกออล ซีซั่นส์ แจงตู้เอทีเอ็มที่เกิดเหตุไม่ได้อยู่ในตึก ยันแจ้งธนาคารมาตรวจสอบแล้วปลอดภัยดี


               เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (8 พ.ย.) พล.ต.อ.เอก เอกอังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ได้เดินทางมาที่ สน.ลุมพินี เพื่อประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากกรณีที่มีประชาชนเดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ว่าเงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงเทพ หายไปจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุโดยมี พ.ต.อ.ไชยา คงทรัพย์ ผกก.สน.ลุมพินี นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย นายขจรวุฒิ ชายานุกรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตัวแทนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) 
                 พล.ต.อ.เอก กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความกับทาง สน.ลุมพินี แล้วทั้งหมด จำนวน 76 ราย เกิดความเสียหายเป็นจำนวนเงินกว่า 1,300,00 บาท จากการตรวจสอบพบว่า ผู้เสียหายทุกรายเคยมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพอยู่ที่บริเวณด้านหน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นของตึกอพอลโล ข้างโรงแรมออลซีซั่นส์ ถนนวิทยุ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบพบว่าตู้ดังกล่าวมีการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์ มีลักษณะเป็นเครื่องคัดลอกข้อมูลในบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย โดยคนร้ายได้นำข้อมูลโอนเงินไปยังประเทศยูเครน และประเทศรัสเซีย ทั้งนี้ได้ประสานให้เจ้าหน้าฝ่ายสืบสวน สน.ลุมพินี ขอภาพจากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่บริเวณตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพด้านหน้าร้านเซเว่นฯ เพื่อตรวจสอบลักษณะของคนร้ายแล้ว และคาดว่าจะเป็นชาวต่างชาติ
                พล.ต.อ.เอก กล่าวต่อว่า ในส่วนของการแนวทางการสืบสวนคดีดังกล่าว นอกเหนือจาก พงส.สน.ลุมพินีที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูล และรับแจ้งความแล้ว ก็จะมีการประสานความร่วมมือกับ บก.ปอศ.เข้าร่วมสอบสวนได้ พร้อมทั้งประสาน ผอ.สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที (ICT) เพื่อร่วมตรวจสอบและวางแผนในการหาข้อมูลคลี่คลายคดี รวมทั้งจัดการป้องกันการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ลักษณะดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณีที่เกิดขึ้น สามารถเดินทางเข้าแจ้งความกับ สน.ลุมพินี ได้ตลอดเวลา โดยทางเจ้าหน้าที่จะทำการประสานไปยังธนาคารเจ้าของบัตร เพื่อรับการเยียวยา ซึ่งธนาคารยืนยันว่าจะดำเนินการภายในเวลา 15 วัน ทั้งนี้ทางธนาคารเองถือเป็นผู้เสียหาย และประชาชนถือว่าเป็นพยานในคดี
 
                นายปกรณ์ กล่าวว่า ความเสียหายครั้งนี้มีบัตรของธนาคารที่ได้รับผลกระทบ 5 ธนาคาร ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยมีจำนวนบัตรเอทีเอ็มที่ผิดปกติ 117 บัตร ธนาคารสามารถอายัดได้ทัน 70 ใบ ส่วนที่มีผู้เสียหายมาแจ้งความแล้ว 41 ราย ซึ่งทางธนาคารได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เป็นจำนวนเงิน 2.8 แสนบาท สำหรับมาตราการป้องกันเครื่องสกิมเมอร์นั้น ปกติที่ตู้เอทีเอ็มจะมีการติดตั้งเครื่องป้องกันเครื่องสกิมมิง นอกจากนี้ ในแต่ละสัปดาห์จะมีเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงไปเติมเงิน พร้อมกับตรวจสอบความเรียบร้อยของตู้เอทีเอ็ม เพื่อป้องกันการคัดลอกข้อมูลบัตรอยู่แล้ว แต่หากมีกรณีลักษณะนี้ ทางธนาคารเจ้าของบัตรก็พร้อมที่จะทำการชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้กับผู้เสียหาย รวมทั้งจะไปปรึกษากับผู้ผลิตตู้เอทีเอ็ม เพื่อหามาตรการ หรืออุปกรณ์ในการป้องกันใหม่ ซึ่งทุกธนาคารมีข้อตกลงร่วมกันในการสอดส่องดูแล และแจ้งความเคลื่อนไหวทางบัญชีผ่านข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) หากลูกค้าพบความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติให้รีบแจ้งคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร เพื่ออายัดบัตรและแจ้งความทันที
 
                ด้าน น.ส.จารุวดี ใจนพเก้า อายุ 31 ปี พนักงานบริษัทเอกชน หนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนเข้ามาแจ้งความเนื่องจากทราบข้อมูลเรื่องดังกล่าวช่วงบ่าย วันที่  7 พ.ย. จึงนำสมุดบัญชีไปอัปเดต ปรากฏว่า มียอดเงินถูกโยกออกบัญชีจำนวนหลายรายการ ครั้งละ 7,000-9,000 บาท รวมยอดเกือบ 50,000 บาท เหลือเงินคงเหลือในบัญชีเพียง 300 กว่าบาท โดยบัญชีดังกล่าวเป็นบัญชีเงินเดือนและบัญชีเงินเก็บด้วย เมื่อเห็นดังนั้นก็รู้สึกตกใจ จึงได้ไปสอบถามธนาคาร ทางเจ้าหน้าที่จึงตรวจสอบ พบว่า เงินในบัญชีถูกถอนออกในต่างประเทศ แต่ทางธนาคารยินดีจะรับผิดชอบ โดยต้องนำหลักฐานการแจ้งความมายื่นเรื่องขอชดเชย จึงมาแจ้งความในวันนี้
 
                น.ส.จารุวดี กล่าวต่อว่า เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา เคยกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงเทพ ด้านหน้าอาคารอพอลโลเพียง 2 ครั้ง หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทำให้ไม่กล้าใช้บัตรกดเงินจากตู้เอทีเอ็มที่ตั้งอยู่ทั่วไปตามหน้าร้านสะดวกซื้อ แต่จะหันไปกดเงินที่ธนาคารเท่านั้น เพื่อความปลอดภัย และต้องระวังตัวมากขึ้น โดยก่อนกดเงินจะตรวจสอบตู้เอทีเอ็มให้ดีว่า มีสิ่งแปลกปลอมผิดสังเกตหรือไม่
 
            ด้านนายชัยชนะ กล่าวว่า ตอนนี้การโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีหลายรูปแบบ เราจำเป็นต้องคิดวิธีป้องกันออกมาในรูปแบบใหม่เสมอเพื่อไม่ให้ประชาชนถูกโจรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์ได้โดยง่าย ซึ่งจากกรณีนี้ตัวสกิมเมอร์ที่ใช้มี 2 รูปแบบคือ แบบที่สามารถคัดลอกเก็บข้อมูลบัตรของประชาชนไว้ที่ตัวสกิมเมอร์ได้เลย และแบบที่มีไว้รองรับข้อมูลจำนวนมาก ในรูปแบบที่ 2 นี้สกิมเมอร์จะมีหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังเครื่องปลายทางเพื่อเป็นการถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากอีกด้วย ตอนนี้เราจำเป็นต้องตรวจสอบว่าเป็นสกิมเมอร์ในลักษณะไหน เพื่อคิดหาวิธีป้องกันได้อย่างถูกต้อง หากได้ทำการกดเงินจากตู้เอทีเอ็มที่มีการติดตั้งเครื่องสกิมเมอร์แล้วการเปลี่ยนรหัสบัตรก็ไม่สามารถป้องกันการโอนเงินได้ นอกจากต้องแจ้งอายัดบัตรกับทางธนาคารเท่านั้น แต่ทั้งนี้แล้วเบื้องต้นทางบริษัทที่ทำการขายตู้กดเงินเอทีเอ็มจะมีวิธีป้องกันไว้อยู่แล้ว ก็ต้องทวงถามว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้ ตอนนี้สิ่งเดียวที่ประชาชนสามารถสังเกตได้คือ ตู้เอทีเอ็มที่ใช้มีลักษณะต่างไปจากที่เคยเห็นหรือไม่โดยเฉพาะช่องใส่บัตรซึ่งหากมีเครื่องสกิมเมอร์ติดตั้งไว้ลักษณะช่องใส่บัตรก็จะแคบลง
 
                ต่อมา นายสุพจน์ อิ่นคำ ผอ.ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท ออล ซีซั่นส์ พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ขอยืนยันหลังจากที่ตกเป็นข่าวว่า เรื่องการถอนเงิน เป็นการถอนเงินภายในตึกออล ซีซั่นส์ ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยทางเจ้าหน้าที่ตึกได้ประสานงานกับธนาคารทั้ง 7 ธนาคาร ประกอบไปด้วย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารธนชาต ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารยูโอบี เพื่อขอตรวจสอบความปลอดภัยตู้เอทีเอ็มภายในตึก  พบว่า ไม่มีความผิดปกติ เพราะมีคนให้ข่าวว่าบริเวณเกิดเหตุอยู่ภายในตึกออล ซีซั่นส์ แต่ความจริงแล้วเป็นตู้เอทีเอ็มที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ ตนยืนยันในระบบมาตรการรักษาความปลอดภัยของตึกออล ซีซั่นส์ ไม่มีแก๊งมิจฉาชีพเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ตามที่เป็นข่าวอย่างแน่นอน
 
                 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ประชุมกันเสร็จ ยังคงมีผู้เสียหายทยอยเดินทางมาแจ้งความที่ สน.ลุมพินี อย่างต่อเนื่อง

วันเดียวกันที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้บัญชาการสำนักกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียหายกว่า 70 ราย เดินทางเข้าแจ้งความ สน.ลุมพินี หลังถูกตู้เอทีเอ็มดูดบัตรแล้วเงินหายจากบัญชี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1 ล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะมีผุ้เสียหายเพิ่มมากขึ้นนั้น จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พบว่ามีการกดเงินจากต่างประเทศ และคาดว่าแก๊งแฮกเกอร์ดังกล่าวเป็นชาวรัสเซียที่ลักลอบติดเครื่องสกิมเมอร์ดูดข้อมูลบัตรจากแทบแม่เหล็กไว้ที่ตู้เอทีเอ็มว่า เบื้องต้นตนคิดว่าทางตำรวจในท้องที่มีข้อมูลจากภาพกล้องวงจรปิดและข้อมูลจากสกิมเมอร์แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ลุมพินี จะคลี่คลายกรณีดังกล่าวได้ ทั้งนี้ทางดีเอสไอจะรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่จะประชุมและปรึกษาหารือกันว่าจะรับเรื่องดังกล่าวเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาดีเอสไอก็เคยดูแลคดีในลักษณะนี้มาแล้วเช่นกัน

สำหรับแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซ้อนนั้น พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ กล่าวว่า การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกนั้นทำได้ยาก เนื่องจากแฮกเกอร์มีความสามารถมากในการคิดวิธีเจาะข้อมูลซึ่งเรายังเป็นผู้ตามอยู่และเป็นการก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศยากต่อการติดตาม ดังนั้นตนจึงอยากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง หลบเลี่ยงการติดต่อกับบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือการโอนเงินระหว่างประเทศ แม้กระทั่งการทำธุกรรมการเงินออนไลน์

กำลังโหลดความคิดเห็น