xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ จี้ธุรกิจ 9.7 หมื่นรายส่งงบการเงิน ขู่ไม่ส่งเจอปรับ-ถอนทะเบียน พร้อมตั้งเป้าปี 60 ให้ยื่นออนไลน์ทั้งหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเตือนธุรกิจ 9.7 หมื่นรายส่งงบการเงินโดยด่วน ขู่ไม่ส่งเจอปรับตั้งแต่ 2 พันถึง 7.2 หมื่นบาท พร้อมส่งตำรวจดำเนินคดีและเพิกถอนทะเบียน เล็งดึงธุรกิจส่งงบการเงินออนไลน์ ตั้งเป้าปี 60 เลิกส่งแบบใช้กระดาษ

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการนำส่งงบการเงินประจำปี 2557 ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2556 จำนวน 508,992 ราย โดยในจำนวนนี้ได้ส่งงบการเงินจำนวน 411,261 ราย เพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็น 81% ของจำนวนนิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินทั้งหมด ยังเหลือนิติบุคคลจำนวน 97,731 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 19% ที่ยังไม่ส่งงบการเงิน ซึ่งกรมฯ ขอเตือนให้รีบส่งงบการเงินโดยด่วน เพราะหากส่งช้าค่าปรับก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าไม่ส่งเลยก็จะถูกส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย และจะถูกเพิกถอนทะเบียนในที่สุด

ทั้งนี้ โทษของการส่งงบการเงินล่าช้า ไม่เกิน 2 เดือน ปรับ 2,000-4,000 บาท ไม่เกิน 4 เดือน ปรับ 8,000-48,000 บาท และเกิน 4 เดือน ปรับ 12,000-72,000 บาท ซึ่งก็แล้วแต่ประเภทนิติบุคคลว่าเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัด หรือนิติบุคคลต่างประเทศและบริษัทมหาชนจำกัด หรือกิจการร่วมค้า

น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันให้นิติบุคคล ทั้งที่ทำธุรกิจทั่วไป บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานบัญชีคุณภาพ ให้ส่งงบการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) โดยตั้งเป้าว่าในปี 2558 จะให้บริการส่งงบการเงินผ่านออนไลน์ควบคู่ไปกับการส่งงบการเงินแบบเอกสาร แต่ภายในปี 2560 จะให้มีการส่งงบการเงินออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพื่อให้งบการเงินของไทยเป็นมาตรฐานเดียวกัน

“ตอนนี้มีบริษัทนำร่องเข้าร่วมแล้ว 160 ราย มีการคีย์ข้อมูลส่งงบการเงินผ่านออนไลน์แล้ว 90 ราย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการประเมินผล แต่ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี และจะเร่งผลักดันให้มีบริษัทต่างๆ เข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพราะในที่สุดแล้วการส่งงบการเงินจะให้ใช้วิธีออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งการส่งงบการเงินออนไลน์ ไทยถือเป็นลำดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ที่ได้ใช้วิธีการนี้แล้ว” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว

สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น กรมฯ สามารถนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ ประมวลผล ได้ในทันที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือน ขณะที่ภาคธุรกิจ สามารถใช้เป็นข้อมูลในการทำธุรกิจ ยิ่งหากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะทำให้นักลงทุนได้ข้อมูลที่รวดเร็วขึ้น ขณะที่ภาครัฐ ก็สามารถใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนได้เร็วขึ้น

ส่วนการเปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลข้ามเขตที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย. 2557 นั้น ล่าสุดมีผู้ยื่นคำขอจดทะเบียน 588 ราย และจดทะเบียนสำเร็จแล้ว 55 ราย ซึ่งกรมฯ อยากเชิญชวนให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจให้ยื่นจดทะเบียนได้ทุกที่ในสำนักงานสาขาของกรมฯ ที่มีอยู่ทั่วประเทศทั้ง 87 แห่งทั่วประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น