xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง! แฮ็กเงินผ่านตู้ ภัย ATM ที่มองข้ามไม่ได้!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังถูกมิจฉาชีพแฮ็กข้อมูลจากตู้กด ATM จนมีเจ้าของบัญชีตกเป็นเหยื่อไปเกือบ 50 ราย สูญเงินกว่า 270,000 บาท จนต้องประกาศปิดบริการตู้ ATM ไป ล่าสุด ทางธนาคารออกมาประกาศรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ ทั้งยัง "เตือนภัย" ให้ระวังกันเอาไว้!!




แฮ็กเงินจากตู้ สู่ "ยูเครน"
"ตามที่ได้มีการส่งข้อความทางช่องทางต่าง ๆ ให้งดการใช้บริการทางเครื่อง ATM ของธนาคารกสิกรไทยในช่วงนี้นั้น ธนาคารขอยืนยันว่าลูกค้าสามารถใช้บริการเครื่อง ATM ได้ตามปกติอย่างปลอดภัย

สำหรับกรณีอันเกี่ยวเนื่องจากการคัดลอกข้อมูลบัตรเอทีเอ็มในครั้งนี้ มีบัตรเดบิต เอทีเอ็ม ของธนาคารกสิกรไทย รวมทั้งบัตรของธนาคารอื่นได้รับผลกระทบ ซึ่งการถูกคัดลอกข้อมูลดังกล่าวเกิดจากเครื่อง ATM 2-3 เครื่องของหลายธนาคาร ใน บริเวณถนนวิทยุ

ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่เกิดความเสียหายทางการเงินในลักษณะดังกล่าว ธนาคารเจ้าของบัตรจะเป็นผู้รับผิดชอบให้ทั้งหมด
หากพบปัญหาใด ๆ สามารถติดต่อได้ที่ K-Contact Center 0 2888 8888"

นี่คือประกาศฉบับล่าสุดของทางธนาคารกสิกรไทยที่น่าจะช่วยให้ผู้เสียหายเบาใจไปได้หลายขุม และในขณะเดียวกันก็อาจทำให้หลายคนต้องระมัดระวังการใช้บัตรทำธุรการทางการเงินมากยิ่งขึ้น เพราะอาจถูกมิจฉาชีพขโมยเงินไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแค่ใช้วิธีคัดลอกข้อมูลจากแถบแม่เหล็กบนบัตร ขโมยรหัส นำข้อมูลไปทำบัตรปลอม แล้วลักลอบถอนเงินออกไปโดยที่เจ้าของไม่ทันตั้งตัว วิธีนี้เรียกว่า "ATM Skimming"

มิจฉาชีพที่กระทำการเช่นนี้ เกิดขึ้นมาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทางธนาคารทุกแห่งมีวิธีแก้เกมด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการติดอุปกรณ์ Skimmer ของกลุ่มมิจฉาชีพ (Anti skimmer) และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ รวมทั้งมีกระบวนในการตรวจสอบเครื่องเอทีเอ็ม แต่ก็ยังไม่วาย โดนกวาดเงินไปอีกจนได้

ครั้งนี้ จากการตรวจสอบไปยัง สน.ลุมพินี พบว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อประมาณ 50 รายที่วิ่งโร่เข้าแจ้งความ เป็นลูกค้าธนาคารอย่างน้อย 5 แห่ง เงินหายรายละ 4,000-7,000 บาท ตำรวจจึงได้ประสานไปยังธนาคาร ทำการตรวจสอบจนพบว่าเงินดังกล่าวถูกถอนไปในประเทศยูเครนเรียบร้อยแล้ว และมีเหยื่อ 38 ราย ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงินประมาณ 270,000 บาท




ระวังเอาไว้! ก่อนหย่อนบัตรเข้าตู้?
นาทีนี้ จะปล่อยให้ทางธนาคารเฝ้าระวังฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอ ตัวผู้ถือบัตร เจ้าของบัญชีเองก็ต้องระมัดระวังและเฝ้าสังเกตด้วย ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

- สังเกต ความผิดปกติของช่องเสียบบัตรของเครื่อง ATM ที่ใช้บริการ หากพบความผิดปกติ ห้ามเสียบบัตรเข้าไป และให้รีบแจ้งธนาคารเจ้าของเครื่องโดยด่วน
- สังเกต ความผิดปกติของแป้นพิมพ์ เช่น อาจจะดูหนากว่าปกติ เป็นต้น หากพบความผิดปกติ ห้ามเสียบบัตร และห้ามกดรหัส
- ระหว่างการใช้เครื่อง ATM ควรยืนประชิดกับตัวเครื่อง และใช้มือบังป้องแผงคีย์บอร์ด ในขณะที่ใส่รหัสบัตรเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเห็น และป้องกันการบันทึกภาพในกรณีที่คนร้ายแอบติดตั้งกล้องรูเข็ม
- ห้ามมอบบัตรพร้อมรหัสให้บุคคลอื่นไปทำรายการแทน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน หากมีความจำเป็นจริง ๆ จะต้องรีบเปลี่ยนรหัสทันทีที่ได้บัตรคืนมา
- ในระหว่างที่ใช้เครื่อง ATM ให้ระมัดระวังคนแปลกหน้าที่อาจจะเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ หรือทำเป็นขอความช่วยเหลือในขณะที่กำลังใช้เครื่อง ATM เช่น กรณีบัตรติด หรือมีปัญหาการทำรายการต่างๆ รวมทั้งระมัดระวังบุคคลที่เข้ามาเบี่ยงเบนความสนใจในขณะที่ยืนรออยู่ที่บริเวณเครื่อง
ทั้งนี้เพราะมิจฉาชีพอาจจะมีเครื่อง Skimmer ที่พกพาอยู่ในตัว สามารถคัดลอกข้อมูลแถบแม่เหล็กในจังหวะที่ท่านเผลอ รวมทั้งหลอกให้ท่านกดรหัสเพื่อพยายามทำรายการ โดยคนร้ายจะจดจำรหัสไปใช้งาน

ในกรณีที่สงสัยว่าอาจถูกทำการคัดลอกข้อมูลบัตรและโดนนำบัตรไปกดเงินเสียแล้ว ให้รีบแจ้งธนาคารผู้ออกบัตรในทันทีเพื่อทำการอายัดบัตร และสำหรับลูกค้าธนาคารกสิกรไทยกรุณาติดต่อที่ K-Contact Center ที่เบอร์ 02 888 8888 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง โดยธนาคารจะทำการวิเคราะห์พร้อมตรวจสอบข้อมูลทันทีเพื่อป้องกันความเสียหาย และจะขยายผลการตรวจสอบไปยังลูกค้ารายอื่นที่มาใช้บริการที่เครื่อง ATM ที่ถูกติดตั้งอุปกรณ์ Skimmer

โดยทางธนาคารระบุเอาไว้ชัดเจนว่า "สำหรับหลักการเรื่องความรับผิดชอบต่อความเสียหาย จะยึดหลักปฏิบัติของทุกธนาคารในปัจจุบัน หากพบว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการติดตั้งอุปกรณ์ Skimmer ของคนร้ายที่เครื่อง ATM ไม่ว่าจะเป็นของธนาคารใดก็ตาม จะถือว่าไม่ได้เป็นความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของลูกค้าผู้ถือบัตร ธนาคารผู้ออกบัตรจะเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น และลูกค้าสามารถติดต่อทำบัตรใหม่ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่สาขาของธนาคารกสิกรไทยทั่วประเทศ"

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
ขอบคุณข้อมูล (คลิกอ่านเพิ่มเติม): การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งอย่างปลอดภัย จากธนาคารกสิกรไทย


ประกาศรับผิดชอบจาก ธนาคารกสิกร ไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น