รมว.ยุติธรรม-อธ.ดีเอสไอ ไม่หวั่นกระแส ตะแบงหนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย เย้ยพวกมาออกชุมนุมกลัวตกกระแส เชื่อมีท่อน้ำเลี้ยง ป้อง “ทักษิณ” ไม่ผิดคดีทุจริตที่รัชดาฯ
วันนี้ (6 พ.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวภายหลังประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมถึงการสอบสวนการเสียชีวิตของช่างภาพชาวญี่ปุ่นจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.ปี 2553 ว่าขณะนี้สถานฑูตญี่ปุ่นได้ติดตามคดีดังกล่าวเป็นระยะและได้สักถามถึง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญว่าเป็นเช่นไร มีความกังวลว่า นายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นักข่าวญี่ปุ่นจะตายฟรี แต่ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษหรือกฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้จริง เราก็ยังทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามปกติ เนื่องจากทางการญี่ปุ่นต้องการให้สอบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งแตกต่างจากคนในประเทศไทย ที่ชูประเด็นทุจริตมากกว่าให้ความสำคัญกับเสียชีวิตของประชาชน 89 ศพ
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้ ดีเอสไอในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสะกดรอยเกาะติดสถานการณ์ชุมนุมในจุดต่างๆตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าการก่อม็อบครั้งนี้ มีการดำเนินการที่ชัดเจนโดยมีการวางแผน แบ่งแยกหน้าที่ เตรียมการเป็นขั้นเป็นตอน และมีท่อน้ำเลี้ยงชัดเจน ขณะเดียวกันตนได้ตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เสียงข้างไม่ได้ออกมาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้จึงเป็นการพูดฝ่ายเดียวของม็อบที่ชูประเด็นเรื่องการล้างทุจริต
“ขอยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งไม่ใช่คดีทุจริต แต่เป็นคดีที่เอาผิดกันทางด้านเทคนิคกฎหมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น และภรรยาไปซื้อที่ดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงตั้งประเด็นการร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่ทุจริต จึงไม่มีประเด็นใดทุจริต นี่คือข้อบกพร่องของกรรมาธิการที่ไม่ออกมาชี้แจง ทำให้เกิดความเข้าใจในสาระที่ผิดไป ผมในฐานะผู้ทำคดีเสื้อแดง ทั้งคดีการก่อร้ายและผู้สั่งการ ยังยืนยันและเรียกร้องให้นิรโทษกรรมแบบตัดไม้พิษทิ้งทั้งต้น” นายธาริตกล่าว
นายธาริตกล่าวอีกว่า หากมีการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปทุกส่วนจริง ตนก็พร้อมจะชี้แจงกับทางการญี่ปุ่น ว่าสาเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 จนทำให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ยืนยันว่าแม้จะมีการนิรโทษกรรมความผิดทางอาญา แต่จะไม่มีใครต้องตายฟรี เพราะรัฐบาลและญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้
ด้านนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าแม้จะมีกระแสการคัดค้าน พ.ร.บ.นิโทษกรรม ตนยังยืนยันความคิดเห็นเดิมคือตนเห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างไรก็ตาม การชี้แจงหรือให้ข้อมูลกับประชาชนนั้นยังไม่มีความเข้าใจในเรื่อง พ.ร.บ.ดังกล่าวเท่าที่ควร ซึ่งถ้าลองเดินไปถามผู้ชุมนุมรายบุคคลคนว่าเข้าใจเรื่องที่มาค้านมากน้อยเพียงใดอย่างไร โดยตนเชื่อว่าหลายคนตอบไม่ได้เพราะมาตามกระแสและกลัวที่จะตกกระแส เพราะฉะนั้นตนเชื่อว่าผู้ชุมนุมอาจไปตามกระแส แต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้วและจะมีการทำเรื่องนี้ต่อไปก็ควรจะชี้แจงให้ชัดเจนมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา เช่นเรื่องดังกล่าวมาพูดเป็นเรื่องของคดีทุจริตและฝ่ายที่ค้านก็บอกว่าทุจริต แต่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่าคนละเรื่องกันไม่เกี่ยว ก็มีการถกเถียงกันไม่รู้จักจบ เนื่องจากประเด็นเหล่านี้ยังไม่ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนเพียงพอ แล้วเรื่องนี้ก็เดินหน้าไปเร็วก็มีปัญหาตามมา ทั้งนี้ตนเห็นด้วยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ออกมาพูดว่าให้วุฒิสภาดูเรื่องนี้ต่อไป ให้เป็นไปตามกระบวนการของรัฐสภา ทั้งนี้ ตนย้ำมาตลอดว่าตนไม่เห็นด้วยแล้วมาเรียกร้องประชาธิปไตยบนท้องถนน คือถ้าไม่พอใจแล้วมาเรียกร้องบนถนนตลอดเวลา บ้านเมืองเราก็จะไม่สามารถจะเดินไปได้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วตนชอบประชาธิปไตยในสภาและถ้าใครไม่ชอบอะไรที่คนในสภาทำก็เป็นหน้าที่ของบุคคลที่ต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกตั้งในครั้งต่อไป
เมื่อถามว่าแล้วท่านคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนหรือมวลชนที่มาชุมนุมบนท้องถนนเขายังไม่เขาใจ นายชัยเกษมกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าทางรัฐสภาหรือทาง ส.ส.ที่ต้องการจะทำเรื่องนี้ยังอยากจะเดินต่อไปหรือไม่ แต่ถ้าเขายังอยากจะเดินต่อไปก็ต้องสร้างกระบวนการในการที่จะให้ความรู้ขึ้นมา เช่นต้องหาคนมาชี้แจงในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ประชาชนยอมรับได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการนิรโทษกรรมในเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช้เป็นการที่นิรโทษกรรมที่หวังผลประโยชน์ให้กับคนใดคนหนึ่ง แต่ถ้าจะมีคนใดคนหนึ่งได้ผลประโยชน์จากนั้นไป ตนคิดว่าก็ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตามถ้าคนที่ไม่ชอบหน้ากันก็ต้องออกมาเดินค้าน คนที่ชอบกันก็ออกมาสนับสนุน ทั้งนี้หลักการหรือวิธีการเราก็ต้องมาดูว่าในอดีตทำอย่างไร ประเทศอื่นทำอย่างไร และทำอย่างไรถึงจะจบได้ ซึ่งตนก็ไม่ขัดข้องอะไรในการที่ขอกลับไปเป็นเหมือนเดิม กล่าวคือกลับไปเป็นเหมือน 7 ปีที่ผ่านมา และที่ผ่านมาจะเห็นว่าในอดีตก็ทำกันแบบนี้มาหลายครั้ง แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นว่าไม่ให้ทำแล้วถ้าทำมันจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งตนเคยพูดเสมอว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาคือการปฏิวัติ ถ้าไม่มีการปฏิวัติก็หาเงื่อนไขที่ปฏิวัติแล้วไม่สามารถที่จะไปนิรโทษกรรมตัวเองได้ตั้งแต่ต้นและปัญหาก็จะไม่ตามมา แต่เวลานี้ปฏิวัติก็ยอมรับกันว่านิรโทษกรรมไปเพราะตอนนั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ สั่งอะไรไปก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ต่อไป ตนเรียกร้องเลยว่าถ้าการตีความของศาลเปลี่ยนแนวใหม่ว่าการปฏิวัตินั้นเป็น รัฏฐาธิปัตย์ ที่ไม่ชอบ เพราะเป็นคนที่มาทำลายรัฐธรรมนูญ และเมื่อเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ไม่ชอบก็อย่าไปยอมรับ รัฏฐาธิปัตย์นั้นถ้าใครปฏิวัติก็ลงโทษและลงโทษให้หนักด้วย ทั้งนี้ถ้าจำกัดหรือกำจัดตรงนี้ได้ต่อไปก็จะไม่มีเหตุการณ์ที่ซ้ำรอยในลักษณะนี้อีก