คู่หูคู่ฮา “ชัยเกษม-ธาริต” โดดหนุนนิรโทษกรรมเหมาเข่งเต็มที่ รมว.ยุติธรรมเย้ยผู้ชุมนุมที่ออกมาค้านเป็นพวกตัวตกกระแส เมินตุลาการ คณาจารย์ นิสิต นักศึกษาร่วมต้าน ซัดการศึกษาผลิตนักกฎหมายไม่ได้มาตรฐานด้านจริยธรรม รับเองถูก คตส.ตรวจสอบทำให้ไม่ชอบขี้หน้า ด้านอธิบดีดีเอสไอโดดป้อง “นช.แม้ว” ไม่ผิดคดีที่ดินรัชดาฯ ระบุแม้ กม.นิรโทษกรรมจะผ่านออกมาใช้ แต่ “มาร์ค-เทพเทือก” ยังมีความผิดทางแพ่ง อ้างการข่าวดีเอสไอพบม็อบวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีท่อน้ำเลี้ยงชัด
นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการให้ความเห็นสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ขณะนี้ตนก็ยังเห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อนับหนึ่งใหม่ แต่เหตุการณ์ที่มีการรวมกลุ่มคัดค้านของหลายเครือข่าย เนื่องจากคณะกรรมาธิการเสียงข้างยังทำความเข้าใจกับประชาชนไม่มากพอ ใครไม่เชื่อลองไปถามคนที่ออกไปม๊อบและให้เจาะถามเป็นรายบุคคลว่ามีความเข้าใจกับกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไร เพราะตนเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจแต่ออกไปม๊อบเพราะกลัวตกกระแส
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายกรัฐมนตรีและประธานวุฒิสภาออกมาแถลงเพื่อให้เหตุการณ์คลี่คลายก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น หลังจากนี้หากจะเดินหน้าต่อจะต้องชี้แจงทำความเข้าใจให้ชัดเจนไม่ใช่ปล่อยให้เถียงกันไม่จบ ไม่ใช่เดินเร็วโดยไม่ให้ความรู้ประชาชน ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยกับประชาธิปไตยข้างถนน ถ้าขณะนี้สังคมต้องการให้หยุดก็หยุด อยากจะอยู่กันแบบเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาก็อยู่กันไป พออยู่ไปได้ แต่ยังมีประเด็นติดขัดไม่สามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว โปรดอย่านำไปเขียนว่าตนยังหนุนนิรโทษกรรมสุดซอยหลังจากนี้ขอให้เป็นเรื่องของสภา แต่ส่วนตัวยังเห็นด้วยกับนิรโทษกรรม
รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่ได้มีแค่ประชาชน แต่ยังมีกลุ่มนักศึกษา อาจารย์ รวมไปถึงกลุ่มตุลาการ คงไม่ใช่มาม๊อบเพราะกระแส นายชัยเกษมกล่าวว่า นักกฎหมาย 2 คนคุยกันยังไม่เข้าใจตรงกันทุกประเด็น บ้านเรามีปัญหาเพราะนักกฎหมายที่ภาคการศึกษาผลิตคนมาไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะจริยธรรม ปล่อยให้เอาเหตุผลเข้าข้างตัวเองมาอธิบายกฎหมาย หลังการปฏิวัติก็จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่มาจากพรรคพวกตัวเอง และคนที่มีความเห็นเป็นปฏิปักษ์มาเป็นกรรมการ ทำให้ตนซึ่งก็ถูกกล่าวหาจาก คตส.ด้วย ก็ไม่ยอมรับการทำงานตัดสินของ คตส.เช่นกัน
ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยอมรับว่า ขณะนี้สถานทูตญี่ปุ่นมีความกังวลว่านายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ นักข่าวญี่ปุ่น จะตายฟรีหากกฎหมายนิรโทษกรรมมีผลบังคับใช้จริง เนื่องจากทางการญี่ปุ่นต้องการให้การสอบสวนหาตัวผู้ก่อเหตุ ซึ่งแตกต่างจากคนในประเทศไทยซึ่งชูประเด็นทุจริตมากกว่าให้ความสำคัญกับเสียชีวิตของประชาชน 89 ศพ
อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับการชุมนุมครั้งนี้ ดีเอสไอในฐานะหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนสะกดรอยเกาะติดสถานการณ์ชุมนุมตลอด 24 ชั่วโมง พบว่าการก่อม็อบครั้งนี้มีการวางแผน แบ่งแยกหน้าที่ เตรียมการเป็นขั้นเป็นตอนและมีท่อน้ำเลี้ยงชัด ขณะเดียวกัน ตั้งข้อสังเกตว่าคณะกรรมาธิการเสียงข้างไม่ได้ออกมาชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้จึงเป็นการพูดฝ่ายเดียวของม็อบที่ชูประเด็นเรื่องการล้างทุจริต
“ขอยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาฯ ซึ่งไม่ใช่คดีทุจริต แต่เป็นคดีที่เอาผิดกันทางด้านเทคนิคกฎหมายว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ภรรยาไปซื้อที่ดินคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงตั้งประเด็นการร่ำรวยผิดปกติ ไม่ใช่ทุจริต จึงไม่มีประเด็นใดทุจริต นี่คือข้อบกพร่องของกรรมาธิการที่ไม่ออกมาชี้แจง ทำให้เกิดความเข้าใจในสาระที่ผิดไป ผมในฐานะผู้ทำคดีเสื้อแดงทั้งคดีการก่อร้ายและผู้สั่งการ ยังยืนยันและเรียกร้องให้นิรโทษกรรมแบบตัดไม้พิษทิ้งทั้งต้น”
นายธาริตกล่าวว่า หากมีการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปทุกส่วนจริงตนก็พร้อมจะชี้แจงกับทางการญี่ปุ่นว่าสาเหตุความสูญเสียที่เกิดขึ้นมาจากการปฏิวัติเมื่อปี 2549 จนทำให้เกิดความรุนแรงต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ยืนยันว่าแม้จะมีการนิรโทษกรรมความผิดทางอาญา แต่จะไม่มีใครต้องตายฟรี เพราะรัฐบาลและญาติผู้เสียชีวิตสามารถฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้