xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.หนุนร่างนิรโทษฯสุดซอย เหน็บ 19 ก.ย.ต้นผลไม้พิษ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ยุติธรรม-อธ.ดีเอสไอ ประสานเสียงขานรับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย อ้างนับหนึ่งใหม่ ด้าน “ธาริต” ย้ำจะต้องนิรโทษกันทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นตายไปชาติหน้าก็ยังฟ้องไม่จบ เหน็บปฏิวัต 19 ก.ย. 2549 เป็นต้นผลไม้พิษ



วันนี้ (22 ต.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พร้อมด้วย นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษา รมว.ยธ.นายปิติพงษ์ เต็มเจริญ เลขาฯ รมว.ยธ.นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดีในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรม ที่กำลังจะเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณา ซึ่งในขณะนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นชนวนนำไปสู่ความขัดแย้งอีกรอบ

นายชัยเกษม กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวนั้น ถ้าดูจากวัตถุประสงค์ที่มีเสนอก็เพื่อต้องการยุติความรุนแรงและความขัดแย้งทั้งปวงที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง นับตั้งแต่มีการปฏิวัติรัฐประหารเป็นต้นมา ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่ามันเรื้อรังมานาน และไม่มีทีท่าว่าจะจบ เพราะฉะนั้นถ้าสามารถจะออกฎหมายอะไรสักฉบับหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งนั้นหายไป และความรุนแรงในสังคมลดน้อยลงไปได้ ตนคิดว่าก็เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยส่วนรวม เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายฉบับนี้ ถ้าไปดูในหลักการและเหตุผลก็จะเห็นว่าเป็นการที่จะพยายามยุติความขัดแย้งทั้งปวงอันเกิดจากการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ในระดับหนึ่ง และในความเห็นของตนนั้นมองว่าถ้ากฎหมายฉบับนี้ผ่านไปได้อย่างน้อยก็คงสามารถยุตความขัดแย้งได้

ส่วนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้นั้นเป็นความขัดแย้งทางการเมืองและผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งตนคิดว่าสังคมโดยทั่วไปดูและใช้วิจารณญาณว่า ถ้าเราลดผลประโยชน์ของการเมืองแต่ละฝ่ายลงไปและมองภาพรวมของประเทศ ผลักดันให้กฎหมายนี้ผ่านไปได้ ตนเชื่อว่าสังคมเราจะดีขึ้นและอะไรที่มีปัญหาแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ก็ควรหาช่องที่จะไปนับหนึ่งกันใหม่ แต่ถ้าไม่เริ่มนับหนึ่งใหม่มันก็จะเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ และทุกๆ คนก็รำคาญ นอกจากความรำคาญแล้ว ก็กลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในสังคมด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่การแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ ที่เป็นการไปแก้ไขในหลักการเดิม ซึ่งในวาระที่1ระบุว่านิรโทษกรรมเฉพาะประชาชน แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นนิรโทษฯให้กับทุกคนแบบสุดซอยไปเลย เท่ากับว่าเป็นการโกหกประชาชนหรือไม่ นายชัยเกษม กล่าวว่า ประเทศเราใช้ระบบรัฐสภา ระบบการเมือง ระบบเสียงข้างมาก ซึ่งการเสนอกฎหมายนี้เป็นการเสนอโดยนายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ ไม่ใช่โดยรัฐบาล และรัฐสภาก็รับเอาหลักการของร่างนี้ ทั้งนี้ตนก็ไม่ได้ตามเรื่องนี้มาตลอดเพราะตนก็ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ แต่ตนก็เป็นห่วงบ้านเมือง และถ้าหากไปดูที่หลักการและเหตุผลก็จะเห็นว่าในจุดที่ต้องการนั้นก็คือต้องการที่จะหยุดภาวะที่จะแตกแยกทางความคิดที่เกิดจากการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และหลังจากนั้นก็เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม สร้างความสับสน ความรู้สึกไม่เท่าเทียม เลือกปฏิบัติ มีการชุมนุมประท้วงกัน และมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจำนวนมาก และยังมีการประกาศใช้กฏหมายที่เคร่งครัดขาดความยืดหยุ่นเกินความจำเป็น และสิ่งที่มีการที่แปรญัตตินั้นเป็นรายละเอียดในตัว พ.ร.บ.ซึ่งเป็นสิทธิของกรรมาธิการที่จะทำได้ ทั้งนี้กฎหมายทุกฉบับนั้นไม่ใช่ว่าเสนอเข้าไปแล้วจะเอาตามนั้นหมด แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นจะต้องไม่หลุดไปจากหลักการที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

เมื่อถามว่า ถึงแม้จะแก้ในชั้น กมธ.ได้ แต่ก็ควรที่จะทำความเข้าใจกับประชาชน ณ จุดนี้ก่อน และการแก้ไขนี้ไม่ได้มีการบอกประชาชนแต่อยู่ๆก็มีการสอดไส้แก้ไขใหม่ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า สอบถามประชาชนแล้วจะให้สอบถามใคร ทั้งนี้การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นก็คือการมอบอำนาจให้กับผู้แทนของประชาชนเข้าไปเพื่อทำหน้าที่ในสภา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เสนอไปในสภาก็เป็นไปตามระบบของสภา และถ้ากติกาไม่ได้ผิดไปจากที่ทำหน้าที่ในสภาแล้ว คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนก็คือประชาชน ไม่อย่างนั้นการออกกฎหมายทุกฉบับก็จะต้องทำประชามติทุกฉบับคงเป็นไปไม่ได้

เมื่อถามว่า ในตอนเลือกตั้งได้หาเสียงไว้ว่าจะไม่นิรโทษฯแกนนำ เพื่อที่จะแก้กฎหมายฉบับนี้ นายชัยเกษม กล่าวว่า ถ้ามีการหาเสียงไว้แล้วไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ สิ่งที่ประชาชนต้องจำนำได้ในระบบประชาธิปไตยก็คือ ถ้าหาเสียงแล้วไปทำตามที่หาเสียงรอบหน้าท่านก็อย่าเลือก เพราะถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน แต่ถ้ามาบังคับกันตอนนี้มันก็ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย

รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า การนิรโทษกรรมไม่ได้เน้นที่ตัวบุคคลเป็นหลัก แต่เน้นที่เหตุการณ์ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ก็จะได้รับสิทธิในการนิรโทษกรรมเท่าเทียมกันทุกฝ่าย ไม่สามารถเจาะจงว่าไม่ให้นิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ ในขณะนี้การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังอยู่ในขั้นตอนการแปรญัตติ โดยการแปรญัตติสามารถทำได้โดยต้องไม่หลุดจากหลักการ

“ทั้งนี้ส่วนตัวรู้สึกหนักใจ เพราะมีผู้ตั้งความหวังกับกระทรวงยุติธรรมแต่กระทรวงไม่ได้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าวโดยตรง ผมดีใจที่ไม่ใช่ผู้เสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภาแต่เป็นเรื่องของสภาตามระบอบประชาธิปไตย หากไม่สู้ในสภาก็ต้องไปสู้กันข้างถนนตลอด ซึ่งผมเองก็ไม่เห็นด้วย ส่วนการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเมื่อมีผลบังคับใช้แล้วก็เชื่อว่าไม่สามารถทำให้สังคมเกิดความรู้สึกปรองดองได้ 100% แต่โดยส่วนตัวก็ยังเห็นว่ามีดีกว่าไม่มี และหลังนิรโทษกรรมจะเห็นได้ชัดเจนว่าจะมีบางกลุ่มหายไปจากความขัดแย้งทันที” นายชัยเกษมกล่าว

นายชัยเกษม กล่าวว่า ตนต้องการให้มีการนับหนึ่งใหม่ ซึ่งจะต้องมีการเคลียร์เรื่องเก่าทั้งหมด ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะไม่สิ้นสุด และติดค้างอยู่ตลอด ไม่มีใครได้ หรือเสียประโยชน์ทั้งหมด ส่วนเรื่องผลจากการนิรโทษกรรมจะทำให้ต้องคืนเงินในคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.นี้ แต่หากจะไปฟ้องร้องกับศาลแพ่งก็เป็นเรื่องของศาล หรือถ้าไม่อยากคืนเงินก็ต้องออกกฎหมายกำหนดให้ชัดเจน ทั้งนี้ยอมรับว่าตนก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร เพราะถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินคดีเกี่ยวกับทุจริตซีทีเอ็กซ์ กว่าคดีจะจบใช้เวลานานกว่า 9 ปี ทั้งที่ตนตั้งใจทำงานและคิดว่าจะได้รับดอกไม้แต่เมื่อมีการปฏิวัติกลับได้รับแต่ก้อนหิน

นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้แม้แต่แกนนำคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็ไม่สบายใจกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงเป็นหน้าที่กรรมาธิการที่ต้องอธิบายและชี้แจง ส่วนตัวรู้สึกไม่สบายใจที่กรรมาธิการฝ่ายเสียงข้างน้อยออกมาพูดข้อเท็จจริงเพียงครึ่งเดียว จึงต้องขอร้องให้พูดความจริงทั้งหมด เพราะบ้านเมืองเวลานี้ต้องการเดินหน้าความปรองดอง แม้จะไม่มีฝ่ายไม่เห็นด้วยแต่เสียงข้างมากต้องทำหน้าที่ เชื่อว่าการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมไม่น่าจะเป็นเหตุจนรัฐบาลควบคุมไม่ได้

ด้าน นายวิศิษฏ์ กล่าวว่า เรื่องการคืนเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีระบุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ เพราะผลของการนิรโทษกรรมระบุข้อความในกฎหมายว่า “หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำผิดพ้นจากความผิดโดยสิ้นเชิง” กฎหมายจะนิรโทษกรรมความผิดทางอาญา ไม่ได้ให้สิทธิอื่น คนที่ติดคุกก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง การสั่งให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินก็ไม่ใช่โทษทางอาญา กฎหมายนี้จึงไม่มีผลโดยอัตโนมัติให้คืนเงิน 46,000 ล้านบาท ในชั้นกรรมาธิการที่ตนร่วมอยู่ มองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์ และไม่ใช่กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแรก ที่ผ่านมาเคยมีมาแล้ว 20-30 ฉบับ แต่ออกโดยคณะปฏิวัติเพื่อเว้นโทษให้ตนเอง ประชาชนไม่สามารถแสดงความเห็นโต้แย้งได้ แต่ครั้งนี้ออกโดยระบบประชาธิปไตย ซึ่งตนมองว่าดีกว่ากฎหมายที่ออกโดยอำนาจที่โต้แย้งไม่ได้

นายธาริต กล่าวว่า ในฐานะที่มีส่วนได้ส่วนเสียในกฎหมายฉบับนี้ ทั้งในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีทั้งกับคนเสื้อแดงและผู้สั่งการ คือนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ และในฐานะที่ตนเป็นผู้ที่ถูกนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพฟ้อง ซึ่งหากทำคดีต่อไป คาดว่า จะถูกฟ้องไม่ต่ำกว่า 2,066 คดี ซึ่งกว่าคดีจะจบตนก็คงเสียชีวิตไปแล้ว หลังเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 ก.ย. 2549 ในหลักของนักกฎหมายนั้นเราเรียกปรัชญากฏหมายว่าเป็นการสร้างต้นผลไม้พิษ และเป็นเรื่องที่เลวร้ายที่สุดในมุมของนักกฎหมาย เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วสิ่งที่คณะปฏิวัติได้ทำก็สร้างกลไกของ คตส.ออกกฎหมายมากมายเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม แต่ก็ไม่มีใครพูดถึงความไม่ดีของ คตส.เลย และยังฉลาดล้ำลึก ที่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตนเองเรียบร้อย แต่สิ่งที่เป็นผลไม้พิษและออกลูก ออกหลานตามมาอีกเยอะจากการกระทำจากการปฏิวัติไม่มีการนิรโทษกรรม และคนที่อยู่ในข่ายถูกจัดการจำนวนมาก รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ นำมาถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ศอฉ.และมาถึงการดำเนินคดีคนที่สั่งฆ่า และตนกับพนักงานสอบสวนก็ถูกดำเนินคดี ซึ่งทั้งหมดนี้คือผลไม้พิษจากการปฏิวัติทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องโละทิ้งทั้งหมดถ้าจะนิรโทษกรรมและถือเป็นหลักนานาชาติอีกด้วย ไม่ใช่ให้อภัยหรือนิรโทษเฉพาะคนที่ปฏิวัติ และในเมื่อต้นไม้พิษ ก็ออกผลไม้พิษออกมาเรื่อยๆ ไม่เลิกลาแล้วใครจะการันตีว่าในบ้านเมืองจะไม่มีการฆ่ากันระหว่างการมีนิรโทษกรรมกับไม่นิรโทษกรรม แต่กฏหมายนานาชาติการมีนิรโทษกรรมเพื่อโค่นต้นไม้พิษทิ้งเป็นสิ่งที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

“ผมอยากได้กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ทั้งหมด และสุดซอย ในฐานะผู้รับผิดชอบทำคดีทั้งเสื้อแดง เสื้อเหลือง และในฐานะที่ตนเองเป็นเหยื่อของผลไม้พิษนี้” อธิบดีดีเอสไอกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนัดสื่อมวลชนชี้แจงประเด็นกฎหมายนิรโทษกรรม เดิมได้เตรียมใช้ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม ชั้น 9 แต่นายชัยเกษม สั่งให้เปลี่ยนมาใช้ห้องรับรองรัฐมนตรี เพื่อไม่ให้มีภาพเป็นการแถลงข่าว โดยต้องการให้เป็นบรรยากาศการมีสื่อมวลชนมาขอสัมภาษณ์เอง ซึ่งนายชัยเกษมได้กล่าวก่อนเริ่มประเด็นว่า ตนไม่ได้นัดแถลงเหตุใดจึงมีการไปลงข่าวไปว่ากระทรวงยุติธรรมนัดแถลงข่าว เพราะการนัดครั้งนี้ สืบเนื่องจากมีนักข่าวจำนวนมากโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์กันเอง จึงนัดให้มาพร้อมกันเพื่อตอบข้อซักถามให้จบในคราวเดียว











กำลังโหลดความคิดเห็น