การประชุม กมธ.นิรโทษกรรม เสียงส่วนใหญ่ฝั่งรัฐบาลหนุนร่างสมาชิกเพื่อไทยเสนอที่ประชุม ล้างผิดเหมาเข่ง ส่งผลให้ “ทักษิณ” พ้นโทษจำคุก 2 ปี ได้เงิน 4.6 หมื่นล้านพร้อมดอกเบี้ยคืน “ประชา มาลีนนท์” รอดคุก 12 ปี คดีรถดับเพลิง “สามารถ” เปิดให้ ส.ส.แปรญัตติสิ้นเดือนนี้ก่อนเข้าสภาวาระ 2 เดือนหน้า “แก้วสรร” เชื่อเรียกแขกม็อบอุรุพงษ์
วันที่ 18 ต.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือของประชาชน พ.ศ. ... (กมธ.นิรโทษกรรม) ได้พิจารณาเนื้อหารายละเอียดของมาตรา 3 โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 อดีต ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย นำเสนอเนื้อหา โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้นิรโทษกรรมการกระทำความผิดของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม การแสดงออก หรือความขัดแย้งทางการเมือง และรวมถึงผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รวมถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมดังกล่าวไม่รวมถึงการกระทำความผิดตามประมวลอาญามาตรา 112
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการเสนอร่างของนายประยุทธ์ ถูกกรรมาธิการฯ ฝ่ายพรรคฝ่ายค้านตั้งคำถามว่าเป็นการยกร่างเนื้อหาตามใบสั่ง และจงใจที่จะล้างคดีความผิดให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และผู้ต้องหานีคดีอาญาแผ่นดิน ในคดีซุกหุ้น ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กล่าวหาและมีผลทำให้หน่วยงานตามกระบวนการยุติธรรม มีคำสั่งยึดทรัพย์เป็นเงินรวม 4.6 หมื่นล้านบาท
โดยนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการฯ กล่าวว่า องค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือ คตส. และคดีที่มีการทำงานสืบเนื่อง มีอยู่บุคคลเดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งนี้คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ถือเป็นคดีที่เกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งไม่ตรงกับหลักการและเหตุผลของการนำเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต่อสภาฯ ทั้งนี้หากที่ประชุม ยึดตามร่างเนื้อหาของนายประยุทธ์ เสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และเชื่อว่าหากมีการนำเสนอข่าวดังกล่าวออกไปจะทำให้มีมวลชนมาชุมนุมกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) ที่ชุมนุมอยู่แยกอุรุพงษ์มากขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ถกเถียงถึงประเด็นดังกล่าวนานกว่า 1 ชั่วโมงและกรรมาธิการฯ พรรคฝ่ายค้านไม่ยอมเสนอเนื้อหา ทำให้นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการปิดอภิปราย เพราะพรรคฝ่ายค้านมีเจตนาไม่นำเสนอเนื้อหาร่างมาตรา 3 ให้ที่ประชุมพิจารณา ส่งผลให้กรรมาธิการฯ พรรคฝ่ายค้านหลายคน อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา, นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง, นายธนา ชีรวินิจ ส.ส.กทม., นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พยายามโต้แย้งแต่ไม่เป็นผล
จนกระทั้งมีการลงมติ มาตรา 3 ตามข้อเสนอของนายประยุทธ ด้วยคะแนน 18 เสียง ซึ่งเป็นกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด ยกเว้น นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เนื่องจากทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม นอกจากนั้นพบว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ได้ยกมือสนับสนุนด้วย
สำหรับเนื้อหาของมาตรา 3 ที่นำเสนอโดยนายประยุทธ์ นั้น มีสาระสำคัญ คือ
“ให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”
จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาของมาตรา 4 ที่ระบุให้ระงับการดำเนินคดี การสอบสวน รวมถึงการพิจารณาที่อยู่ในการพิจารณาของกระบวนการ รวมถึงให้คนที่ต้องคำพิพากษาให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด และหากอยู่ระหว่างการรับโทษให้ถือว่าการลงโทษสิ้นสุด
โดยนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะเลขานุการกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอปรับเพิ่มถ้อยคำโดยกำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการตามหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้เหตุผลประกอบว่าเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ประชุมได้มีการซักถาม โดยนายแก้วสรร ระบุว่า การบัญญัติถ้อยคำดังกล่าวหรือผลของมาตรา 4 นั้นจะเข้าข่ายที่ทำให้คดีที่ คตส. ได้ดำเนินการและมีการสั่งฟ้อง จนคดีมีการสิ้นสุดแล้วจะได้รับผลกระทบหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เมื่อแปลตามมาตรา 3 ที่ผ่านมา จะพบว่าคดีที่ คตส. ดำเนินการ เช่น คดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ จำนวน 4.6 หมื่นล้าน ก็จะถือว่าไม่มีความผิดและหากไม่มีความผิดต้องมีการคืนเงินให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ทั้งนี้ นายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ อธิบดีกรมบังคับคดี ในฐานะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าแม้ว่าการยึดทรัพย์จะเป็นคดีอาญา แต่กรณีที่ให้ทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินต้องพิจารณาดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ประกอบ อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดกรรมาธิการฯ พรรคเพื่อไทยเสนอปิดอภิปรายและลงมติ ผลคือมติเสียงข้างมากมีมติให้แก้ไขโดยใช้ถ้อยคำตามที่นายชวลิต เสนอ
จากนั้นที่ประชุมได้เข้าสู่การพิจารณารายละเอียดมาตรา 5 ว่าด้วยการระงับสิทธิ์ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรมจะไม่สามารถดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์หรือประโยชน์ใดๆ จากรัฐได้ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมาก
ต่อจากนั้นที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณามาตรา 6 ว่าด้วยการตัดสิทธิ์ที่หน่วยงานรัฐจะไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรม เว้นแต่เอกชนที่เสียหาย สามารถเรียกร้องได้เท่านั้น โดยที่ประชุมเห็นชอบตามเสียงข้างมาก 18 เสียงให้คงไว้ตามร่างเดิม
จากนั้น นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการฯ ได้ขอเพิ่มมาตรา 6 ตามที่นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง อีก 3 ทับ ได้แก่ 6/1ผู้ที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ต้องยอมรับว่าตนได้ละเมิดกฎหมาย และมีการทำทัณฑ์บนว่าจะไม่เข้าร่วมการชุมุนุมที่ละเมิดกฎหมายอีก, 6/2 ผู้ได้รับการนิรโทษกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลความจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงแก่องค์กรที่เกี่ยวข้อง, 6/3 รัฐบาลและหน่วยานที่รัฐได้รับมอบหมายจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปรองดองเท่านั้น แต่มติที่ประชุม 19 เสียง ไม่เห็นควรให้เติมข้อความดังกล่าว ขณะที่มาตรา 7 ให้นายกฯ รักษาการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่ประชุมก็เห็นชอบตามร่างนี้
ภายหลังการประชุม นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการกำหนดวันประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ขณะนี้ได้กำหนดให้สมาชิกที่ขอแปรญัตติได้มาเสนอคำแปรญัตติต่อ กมธ. วันที่ 30-31 ต.ค. นี้ คาดว่า ต้นเดือนพฤศจิกายน น่าจะกลับเข้ามาสู่การพิจารณาในวาระ 2 ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อคัดค้านของ กมธ.ฝ่ายค้านในมาตรา 3 ของร่างฯ ตามที่กำหนดให้มีการนิรโทษกรรมความผิดที่องค์กรที่เกิดขึ้นภายการรัฐประหารตามที่ กมธ. เสียงข้างมากมีการแก้ไขนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ตนคิดว่าเป็นบทบัญญัติที่ให้ความเป็นธรรม ผู้ที่ต้องการได้รับความเป็นธรรมก็ต้องไปดำเนินการตามช่องทางที่กฎหมายบัญญัติไว้
ขณะที่นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ ผู้เสนอร่างฯ กล่าวว่า ตนไม่เสียใจที่กรรมาธิการเสียงข้างมากมีมติแก้ไขถ้อยคำตามร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่รับหลักการมา ทั้งนี้ ตนเคารพในเสียงข้างมาก อย่างไรก็ตาม ตนขอสงวนสิทธิ์ให้คงเนื้อหาตามร่างเดิมทั้งหมด และจะไปอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภา ส่วนตัวไม่รู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าเสียงส่วนใหญ่จะมีการแก้ไข เชื่อว่าการแก้ไขดังกล่าวจะไม่ทำให้สถานการณ์การเมืองร้องแรงหรือทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มเติม
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ เสียงส่วนมากมีมติดังกล่าว ถือว่ามีความชัดเจนว่ามีการเดินหน้าสุดซอยและทะลุซอย พ.ต.ท.ทักษิณ หลุดจากคดีคอร์รัปชัน เพราะจะนิรโทษกรรมเชื่อมโยงถึงการพิจารณาคดีของคณะกรรมการ คตส. ซึ่งต้องมีการคืนเงิน 46,000 ล้านบาทที่ยึดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ และอาจจะมีการเรียกดอกเบี้ยระยะเวลา 3 ปี ประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมทั้งหมดประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งรู้สึกสงสารกลุ่มคนเสื้อแดงที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับเรียกร้องได้ และไม่ทราบว่ากล้าเขียนกฎหมายแบบนี้ได้อย่างไร
แหล่งข่าวจากที่ประชุม กมธ. ดังกล่าวระบุว่า จากข้อความที่บัญญัติในมาตรา 3 หากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. จะมีผลทำให้ยกเลิกความผิดที่เกิดขึ้นจากการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (ค.ต.ส.) เป็นผลให้คดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษกที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา และมีอายุความ 20 ปี สิ้นสุดลง
ส่วนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ มูลค่า 46,373 ล้านบาท ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น สิ้นสุดลง และต้องคืนเงิน 46,373 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยคืนแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งคดีทุจริตการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกนายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี และพวกสิ้นสุดลง นอกจากนี้ยังมีมติให้นิรโทษกรรมคดีก่อการร้ายแก่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดงทุกคดี