ดีเอสไองัดหลักฐานพยานเด็ดให้การซัด บ.เอกชนจ่ายเงินนักการเมือง 7 หลัก กรณีทุจริตประมูลโครงการก่อสร้างโรงพักทดแทน พร้อมทำความเห็นแย้งสั่งฟ้องคดีบริษัทพีซีซีในข้อกล่าวหาฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วงและฮั้วประมูล
ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 16 ต.ค. นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญคดีพิเศษเฉพาะด้าน (ระดับ 9) ดีเอสไอ ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมเพื่อติดตามการดำเนินงาน ถึงกรณีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ มีมติเห็นแย้งสั่งฟ้องบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด คดีฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง และคดีฮั้วประมูลโครงการสร้างสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง มูลค่า 5,848 ล้านบาท หลังจากอัยการฝ่ายคดีพิเศษได้มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท พีซีซี เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 56
นายธาริตกล่าวว่า ตามที่ดีเอสไอได้รับคดีความผิดเกี่ยวกับการทุจริตการสร้างสถานีตำรวจทดแทนของ สตช. จำนวน 396 แห่งทั่วประเทศเป็นคดีพิเศษ ซึ่งได้ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจนพบว่ามีการกระทำความผิด และได้มีความเห็นทางคดีควรสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล, นายวิศณุ วิเศษสิงห์ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-4 ผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีความเห็นควรสั่งฟ้องบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำกว่าปกติ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริงฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 8 และดีเอสไอได้ส่งคดีไปยังพนักงานอัยการเพื่อมีคำสั่ง
อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวทั้งสองคดี โดยให้เหตุผลสรุปว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอพิสูจน์ความผิดตามข้อกล่าวหา โดยทางสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้ส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งไม่ฟ้องมายังอธิบดีดีเอสไอว่าจะมีความเห็นแย้งหรือไม่อย่างไร ล่าสุดเมื่อเช้าวันนี้ตนได้พิจารณาสำนวนคดีแล้วมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ทั้งสองคดีดังนี้ คือ ความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง เห็นว่าจากการสอบสวนพบว่าก่อนที่บริษัทพีซีซีฯ จะเข้าประมูลจัดจ้างกับ สตช. ได้ยอมรับว่า บริษัท พีซีซีฯ กับพวก ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญา เนื่องจากผู้รับเหมารายเดียวไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จเป็นไปตามสัญญาได้ อีกทั้งวงเงินการก่อสร้างประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่ สตช.กำหนดนั้น ได้กำหนดตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งในวันทำสัญญาจัดจ้างกับ สตช.ในปี 2554 นั้น ค่าก่อสร้างและค่าแรงงานสูงขึ้นถึงประมาณร้อยละ 13 การที่ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวก เสนอราคาในการประกวดราคาก่อสร้างโครงการดังกล่าวต่ำกว่าราคากลางถึง 550 ล้าน คิดเป็นประมาณร้อยละ 8 รวม ราคาจึงต่ำกว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 21 ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่หน่วยงานราชการจะกำหนดราคาก่อสร้างปี 2551 ให้เอกชนได้กำไรถึง ร้อยละ 21
นายธาริตกล่าวอีกว่า การที่บริษัท พีซีซีฯ กับพวก เข้าทำสัญญากับ สตช.โดยมีเจตนาที่จะไม่ผูกพันกระทำการตามสัญญาดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนาโดยกลฉ้อฉล นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งการแสดงเจตนาดังกล่าวมีเจตนาทุจริตเป็นฉ้อโกง เงินจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าจำนวน 877 ล้านบาท และครบครองสิทธิตามสัญญาดังกล่าวซึ่งถือเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งในวงเงิน 5,848 ล้านบาท จึงเชื่อได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาฉ้อโกงทรัพย์ผู้รับเหมาช่วง ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวกทราบอยู่แล้วว่าไม่สามารถจ้างช่วงได้เนื่องจากขัดกับสัญญา ได้กระทำการหลอกลวงผู้กล่าวหา และผู้รับเหมาช่วงจำนวนหลายราย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนคดีร่วมกันโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำกว่าปกติ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริงฯ จากการสอบสวนพบว่า เนื่องจากมติ ครม.ปี 2550 ได้ระบุว่า ให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ก่อสร้างดังกล่าว และมติ ครม. ปี 2552 ให้ สตช. จัดจ้างโดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค และให้ สตช.จัดทำรายละเอียดโครงการจัดจ้างดังกล่าวเข้า ครม.เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แต่ สตช.ก็ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าว แต่กลับให้ดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างอาคารรวมกันในครั้งเดียว และไม่ยอมให้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เข้ารับจ้างทำการก่อสร้างและเข้าร่วมประกวดราคาก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำขัดต่อมติ ครม.
อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า และมีพยานหลักฐานว่าก่อนที่บริษัท พีซีซีฯ จะเข้าประมูลจัดจ้างกับ สตช. ได้ยอมรับว่าบริษัท พีซีซีฯ กับพวก ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามสัญญา เนื่องจากผู้รับเหมารายเดียวไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จเป็นไปตามสัญญาได้ เห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดได้ว่าบริษัท พีซีซีฯ กับพวก กระทำความผิดฐานร่วมกันโดยทุจริตทำการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐโดยรู้ว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำกว่าปกติ หรือเสนอผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริงฯ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 8 ตนในฐานะดีเอสไอ พิจารณาแล้วมีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ไปยังอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณามีคำสั่งฟ้องบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล, นายวิศณุ วิเศษสิงห์ และนายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล ผู้ต้องหาในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และมีคำสั่งฟ้องบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ ตามฐานความผิดทั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยได้นำส่งความเห็นแย้งดังกล่าวไปยังอัยการสูงสุดในวันนี้แล้ว และในส่วนคดีความผิดเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว และทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว
นายธาริตกล่าวอีกว่า สำหรับทั้ง 2 คดีที่ดีเอสไอได้ส่งความเห็นแย้งไปยังอัยการสูงสุด มีพยานหลักฐานในสำนวนว่ามีการจ่ายเงิน ตอบแทนให้ฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้บริหารระดับสูงของผู้บริหารรัฐบาลในขณะนั้น ตนรับผิดชอบเพราะมีพยานหลักฐาน จะเห็นได้ว่าเรื่องนี้ยึดโยงกัน ตามพยานหลักฐานมีการจ่ายเงินในวันที่ฝ่ายการเมืองอนุมัติให้ยกเลิกจากการประมูลทั่วประเทศเป็นภาคๆ มารวมศูนย์แล้วอนุมัติให้บริษัท พีซีซีฯ ได้ไปก็มีพยานยืนยันว่าตัวผู้บริหารระดับสูงของบริษัทพูดเองเลยว่า เสียเงินไปเท่าไหร่ อย่างไร อยู่ในสำนวนการสอบสวน แต่จะมีการจ่ายเงินกี่ล้าน จำไม่ได้อยู่สำนวน เรื่องนี้เราประมวลเรื่องทั้งหมดแล้ว ถึงความสืบเนื่องและก็ความเป็นไป มันถึงสอดคล้องกันในแง่พยานหลักฐาน ตนพร้อมรับผิดชอบเพราะทุกอย่างคือข้อเท็จจริง เราจัดเป็นพยานแวดล้อมเพราะข้อกล่าวหาเราคือการเจตนาหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น ที่จะทุจริตเงินงบประมาณแผ่นดิน ต่อข้อถามว่าการจ่ายเงินเพื่อเป็นเหตุจูงใจให้มีการประมูลส่วนกลางหรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า จากพยานหลักฐานมันต่อเนื่องมีการวางแผนจากฝ่ายการเมือง จากการที่ประมูลรายภาคมาสั่งที่ส่วนกลางที่เดียว ทั้งๆ ที่การสั่งฝ่ายการเมืองไม่ต้องสั่งฝ่ายข้าราชการประจำทำได้ ถ้าจะรวม แต่ในที่สุดก็มีการส่งให้ฝ่ายการเมืองสั่ง พอฝ่ายการเมืองสั่งแล้วก็มาถึงการชนะประมูลพอถึงวันที่ชนะประมูล ก็มีการจ่ายเงินและก็เป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่จะมีการเลือกตั้ง ต่อข้อถามว่า ดีเอสไอมองว่าเป็นการจ่ายเงินตอบแทนการรวบประมูลส่วนกลางใช่ไหม นายธาริตกล่าวว่า เป็นพยานหลักฐานหนึ่งที่มีการบ่งชี้ว่าบริษัท พีซีซีฯ มีเจตนาทุจริตตั้งแต่ต้นเพื่อให้ได้งบประมาณแผ่นดินโดยไม่ประสงค์ให้มีการสร้างจริง
ผู้สื่อข่าวถามว่านักการเมืองคนดังกล่าวมีอักษรย่อ ส.ใช่ไหมหรือไม่ นายธาริตกล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ ถ้าตอบไปถูกฟ้องแน่นอน
อธิบดีดีเอสไอกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ถ้าในที่สุดจะมีการสั่งไม่ฟ้อง 2 คดีนี้ อาจจะกระทบต่อคดีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ต้องชี้มูลเพราะมีทั้งภาคเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐพันกัน และพยานหลักฐานดีเอสไอมีว่าฝ่ายการเมืองรับเงินรับทองไม่ถูกต้องในเรื่องโรงพักทดแทนเป็นสาระสำคัญ
มีรายงานเพิ่มเติมว่า พยานที่ได้ให้การกับดีเอสไอว่าเคยได้ยินผู้บริหารบริษัท พีซีซีฯ ให้เงินนักการเมือง 7 หลัก แต่พยานไม่ได้ระบุยอดเงินที่ชัดเจน ซึ่งเป็นหลักฐานใหม่ในการเห็นแย้งสั่งฟ้องคดีครั้งนี้