บช.น.เอาจริงยกเลิกระบบล็อกล้อ หันมาใช้วิธียกรถออกจากพื้นที่ห้ามจอด นำร่อง 10 สายแรก ลาดพร้าว, พระราม, สุขุมวิท, รัชดาภิเษก, รามคำแหง, พหลโยธิน-เกษตรนวมินทร์, สาทร, ราชดำเนิน, เพชรบุรีฯ และถนนวิภาวดีรังสิต ผู้ฝ่าฝืนสะอึกเจอ 12 เด้ง จ่ายทั้งค่าปรับและค่าเคลื่อนย้ายเฉลี่ย 1,200 บาทต่อคันต่อวัน ดีเดย์ 21 ต.ค.
วันนี้ (11 ต.ค.) ที่กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น.เป็นประธานประชุมทางไกลศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร มีเจ้าหน้าที่ บก.จร.ผู้เกี่ยวข้องเข้าประชุมพร้อมเพรียง นอกจากนี้ยังวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปทั่ว บก.น.1-9
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวว่า มาเตรียมการเพื่อกวดขันเรื่องถนน 10 สายที่ห้ามจอดรถ โดยจะหาข้อสรุปรายละเอียดทั้งหมดเพื่อนำไปใช้ปฏิบัติงาน เริ่มโครงการวันที่ 9-15 ต.ค.ออกเตือนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบวันที่ 15-20 ต.ค.เป็นการทำงานร่วมระหว่าง สตช. บช.น. บก.จร. บก.น.1-9 และทั้ง 88 สน.ก่อนปฏิบัติจริงวันที่ 21 ต.ค.นี้ โดยทุกอย่างต้องพร้อมทั้งอุปกรณ์และการประชาสัมพันธ์
รอง ผบช.น.กล่าวต่อว่า ทาง ผบ.ตร.ได้กำชับให้แก้ไขปัญหาการจราจรโดยเร่งด่วน บังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ตั้งแต่นี้ทาง บก.จร. บก.น.1-9 และ สน.ต่างๆ จะต้องทำงานรวมเป็นหนึ่งโดยให้ทุกหน่วยประสานกัน รวมถึงประสานทำงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเรื่องการจราจรด้วย ไม่ทำงานแบบโดดเดี่ยวแต่ต้องช่วยกันทำงาน โดยรอง ผบก.น.1-9 ผกก.สน.และ สว.จร.ใน สน.ต่างๆ ต้องออกตรวจพื้นที่อย่างเข้มข้น วันนี้ตนออกตรวจการจราจรตอนเช้า ยังไม่พบผู้บังคับบัญชามาสั่งการ ต่อไปนี้ถ้าไม่เจอต้องต่อว่ากันบ้าง
ทั้งนี้ได้ให้ สน.ต่างๆ รวบรวมปัญหาที่นำไปสู่การปฏิบัติมาให้พิจารณา ตนได้ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงคมนาคมให้จัดระเบียบป้ายรถเมล์ ให้จอดได้เฉพาะรถเมล์เท่านั้น รถตู้ต้องไปจอดที่ป้ายรถตู้ เช่นเดียวกับแท็กซี่ ไม่ใช่ให้กระจุกตัวที่ป้ายเดียว ทางปลัดรับหลักการไปพิจารณา เพราะหากแก้ไขปัญหาการจราจรไม่ได้ จะส่งผลเสียต่อสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติ
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องรถเก่านั้น ได้ปรับเป็นรถเก่าที่อายุเกิน 10 ปี แต่ยังไม่สามารถเริ่มปฏิบัติได้ เพราะจากการปรึกษาหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พบว่าระบบขนส่งยังไม่พร้อมเช่นเดียวกับเรื่องศาลจราจร และการเหลื่อมเวลาทำงานของภาครัฐและเอกชน จึงยังไม่นำเสนอเรื่องเหล่านี้ไปตามลำดับขั้นตอนบังคับบัญชา อย่างไรก็ดีช่วงเดือนนี้จะมีการสัมมนาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร ตอนนี้ทำได้แค่เรื่องห้ามจอดในถนน 10 สาย และอาสาผู้พิทักษ์ถนน เป็นโครงการดึงประชาชนมาร่วมแก้ไข
สำหรับถนน 10 สายที่มีปัญหาติดขัดมาก ประกอบด้วย 1.ถนนลาดพร้าว 2.ถนนพระราม 3.ถนนสุขุมวิท 4.ถนนรัชดาภิเษก 5.ถนนรามคำแหง 6.ถนนพหลโยธิน-ถนนเกษตรนวมินทร์ 7.ถนนสาทร 8.ถนนราชดำเนิน 9.ถนนเพชรบุรีฯ และ 10.ถนนวิภาวดีรังสิต
ตำรวจจะจัดกำลังเข้าดูแลถนนทั้ง 10 สาย ห้ามไม่ให้จอดรถในที่ห้าม โดยปัจจุบันพบว่า การจอดรถในที่ห้ามจอดเป็นการสร้างปัญหารถติดขัดโดยใช่เหตุ และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมาก หากพบการจอดรถที่ผิดกฎหมายจะไม่ใช้มาตรการล็อกล้อ แต่จะใช้วิธียกรถออกจากพื้นที่ ไม่ให้กีดขวางการจราจร เป็นความผิด พ.ร.บ.จราจร มาตรา 57 และ 59 ห้ามจอดในที่ห้าม ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท รวมทั้งเสียค่าเคลื่อนย้าย 500 บาท และค่าดูแลอีกวันละ 200 บาท รวมวันละ 1,200 บาท