xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.ยันใช้บริการรถยกเอกชนไม่มีฮั้วงาน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น. (แฟ้มภาพ)
รอง ผบช.น.ระบุยกเลิกล็อกล้อมาใช้วิธียกรถ จะมีการประมินผลงานทุก 3 เดือน ยืนยันไม่มีการฮั้วงานกับบริษัทเอกชนอย่างเด็ดขาด มั่นใจจะสามารถแก้ปัญหาการจราจรได้ในระดับหนึ่ง

วันนี้ (16 ต.ค.) บก.จร. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น.รับผิดชอบงานด้านจราจรพร้อมด้วย พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบช.น.ช่วยงานด้านการจราจรร พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) และนายตำรวจระดับรอง ผบก.จร. ทุกนายประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร (บก.02) กองบังคับการตำรวจจราจร ร่วมกับรองผู้บังการตำรวจนครบาล 1-9 (รอง ผบก.น.) รับผิดชอบงานด้านการจราจร รอง ผกก.จร.88 สน.และสารวัตรจราจร กำชับสั่งการนโยบายปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายจราจรเคร่งครัด เด็ดขาด โดยเฉพาะการยกรถแทนการล็อกล้อตามแผนพัฒนาแก้ไขปัญหาจราจร กทม.ก่อนลงมือปฏิบัติจริงบนถนน 10 สายหลักวันที่ 21 ต.ค.นี้และจะขยายการดำเนินการในขั้นที่ 2 หรือเฟส 2 ช่วงต้นเดือน พ.ย. 56 รองรับการจราจรช่วงเปิดอีก 50 เส้นทาง และขยายเป็นวงกว้างในระยะต่อไปจนครบทุกเส้นทางในกทม.จะช่วยให้การจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนคล่องตัวมากขึ้นอย่างแน่นอน และเชื่อว่าสามารถแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดได้ในระดับหนึ่งโดยจะประเมินผลการปฏิบัติทุก 3 เดือน

พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า หลังจากประชุมวิดิโอคอนเฟอร์เร้นท์กับทุกสน.แล้วได้ประชุมต่อเนื่องเรื่องกำหนดงบประมาณพัฒนาปรับปรุงระบบศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร (บก.02) ให้ทันสมัยโดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดส่วนโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรยกรถแทนล็อคล้อบนถนน 10 สายหลักใน กทม.นั้น วันที่ 18 ต.ค.เวลา 13.00 น.พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผช.ผบ.ตร. เป็นประธานสาธิตขั้นตอนวิธีการยกรถอย่างไรไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายให้สื่อมวลชนและประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันที่บริเวณอนุสาวรีชัยสมรภูมิ มีการแจกใบปลิวประชาสัมพันธ์การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจนครบาลอย่างจริงจังเด็ดขาด รวมถึงการยกรถโชว์โดยรถยกของตำรวจแต่ละ สน. และรถยกของเอกชน 115 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการรณรงค์แก้ปัญหาพัฒนาระบบจราจร กทม.ครั้งนี้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่ารถของท่านจะไม่เสียหายเพื่อป้องกันการฟ้องร้องในภายหลัง

พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวต่อว่า ได้เชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักงานจัดระบบการจราจรและขนส่งทางบก (สนข.) กทม. กรมการขนส่ง ทางบก ขสมก. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวงและกรมทางหลางชนบทเข้ารณรงค์แก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบและให้ 32 สน.ที่ครอบคลุม 10 เส้นทางถนน 10 สายนำร่องจับกุม ประชาสัมพันธ์ ตักเตือนผู้กระทำผิดในช่วงเวลา 3 วันก่อนจะจับจริงวันที่ 21 ต.ค.จะมีพิธีเปิดโครงการและปล่อยแถวผู้ปฏิบัติออกตรวจจับจริงตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ที่ลานพระบรมรูปทรงม้าโดยเชิญทุกหน่วยข้างต้นร่วมบนเวทีมีกองกำลังตำรวจจราจร 88 สน.กว่า 1,000 นาย พร้อมยานพาหนะรถยก 100 คัน และบริษัทรถยกเอกชน 100 คัน รวมถึงอาสาสมัครพิทักษ์ถนน 200 คนเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียงมีดารา นักแสดงตลก มาร่วมรณรงค์วันเปิดงานอย่างคับคั่ง

พล.ต.ต.อดุลย์ยืนยันว่า กรณีรถยกเอกชนที่เข้าร่วมจับกุมยกรถที่จอดผิดกฎหมายนั้น ตำรวจไม่มีสัมปทานจัดจ้างหรือฮั้วกับเอกชนแต่อย่างใด ทุกอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลในเรื่องนี้ว่าจะมีการเอื้อประโยชน์กัน เพราะไม่มีการนำงบหลวงมาใช้จ่ายใดๆ และไม่มีสัมปทานกับเอกชน ไม่ต้องกลัวเพราะค่ายกนั้นผู้ถูกยกรถเป็นคนจ่ายเอง แต่กรณีที่ใช้รถหลวงยกผู้ที่เป็นเจ้าของรถก็ต้องจ่ายเงินให้หลวงแทน โดยหลวงเป็นผู้รับ เรียกได้ว่าเข้าหลวงทุกบาททุกสตางค์ต้องจ่ายเข้าหลวงทั้งหมด ทุกขั้นตอนโปร่งใสตรวจสอบได้ไม่ต้องกลัว ส่วนผู้ประกอบการรถยกจาก 100 กว่ารายที่เข้าร่วมเขาก็ได้เงินในส่วนนั้นไป

โดยได้ชี้แจงแนวทางวิธีปฏิบัติมาตรการยกรถแทนล็อกล้อไปแล้วก่อนลงมือปฏิบัติจริงวันที่ 21 ตุลาคมใน 10 เส้นทางหลัก คือ 1. ถนนลาดพร้าว 2. ถนนพระราม 4 3. ถนนสุขุมวิท 4. ถนนรัชดาภิเษก 5. ถนนรามคำแหง 6. ถนนพหลโยธิน-ถนนเกษตรนวมินทร์ 7. ถนนสาทร 8. ถนนราชดำเนิน 9. ถนนเพชรบุรี และ 10. ถนนวิภาวดีรังสิต

นอกจากมาตรการเข้มข้นจริงจังเด็ดขาดแล้วยังมีอาสาโครงการผู้พิทักษ์ถนน เป็นประชาชนทั่วไปอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีที่แต่ละ สน.ประกาศรับสมัครไปก่อนหน้านี้ สน.ละ 30 คนผ่านการอบรมทำหน้าที่ช่วยตำรวจจราจรในฐานะเป็นผู้พิทักษ์ถนนคอยช่วยเหลือโดยการบันทึกภาพรถที่ทำผิดกฎหมายจราจรข้อหาต่างๆ ส่งให้กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ตรวจสอบและออกใบสั่งส่งไปถึงบ้านผู้กระทำผิดตามที่อยู่ที่จดทะเบียนรถไว้กับขนส่งให้มาจ่ายค่าปรับหากไม่มาเปรียบเทียบปรับในเวลาที่กำหนดก็ต้องขึ้นศาลจราจรปรับในอัตราที่สูงกว่าต่อไป

สืบเนื่องจากวานนี้ พล.ต.ต.อดุลย์ได้เชิญผู้ประกอบการรถยกเอกชนในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 115 ราย ร่วมหารือเตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินการโครงการถนน 10 สาย ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมหารือจำนวน 82 ราย โดยส่วนใหญ่ยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการกับตำรวจ แต่มีความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย ที่ตามกฎหมายระบุค่าใช้จ่ายกรณีที่ถูกยกรถไว้น้อยกว่าราคาที่เอกชนเรียกดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการขาดทุนและอยากให้มีการแก้กฎกระทรวงในเรื่องดังกล่าว

พล.ต.ต.อดุลย์เปิดเผยว่า เบื้องต้นผู้ประกอบการยินดีให้ความร่วมมือยกรถผู้กระทำผิดกฎจราจรจอดรถในที่ห้าม โดยใช้อัตราค่ายกตามกฎหมายที่มีในตอนนี้คือ รถยนต์ 4 ล้อ ค่ายก 500 บาท รถ 6 ล้อ ค่ายก 700 บาท และรถ 10 ล้อ ค่ายก 1,000 บาท และหลังจากนี้จะต้องมีการพิจารณาเสนอแก้กฎกระทรวงในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งการประชุมในวันนี้เป็นการซักซ้อมความเข้าใจร่วมกับผู้ประกอบการทั้งหมดในการเข้าดำเนินการยกรถเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รถที่จะนำมาใช้ในโครงการจะต้องมีความมั่นคงแข็งแรง คนขับรถยกต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้ประกอบการแจ้งจำนวนรถที่จะเข้าร่วมโครงการมา เพื่อจะได้มีการรับรองว่าเป็นรถผู้ช่วยของเจ้าพนักงาน ทั้งนี้ เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานให้ยกรถออกจากพื้นที่แล้ว ผู้ยกรถจะต้องโทร.แจ้งที่ศูนย์ 1197 เพื่อให้มีการบันทึกข้อมูลว่าได้ยกรถของผู้กระทำผิดไปแล้ว และต้องติดตั้งหรือวางป้ายแจ้งให้เจ้าของรถทราบในบริเวณที่รถเคยจอดอยู่ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบป้ายดังกล่าว ซึ่งหน้าตาของป้ายจะใช้เหมือนกันทุก สน.แต่ลักษณะการติดตั้งหรือวาง จะเป็นไปตามลักษณะของแต่ละพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมที่จะดำเนินการอย่างไร โดยประชาชนที่สงสัยว่ารถตนจะถูกยกไปหรือไม่ สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่หมายเลข 1197 หรือ 191
กำลังโหลดความคิดเห็น