xs
xsm
sm
md
lg

“อดุลย์”ตั้งนายพลสีกากี ยึดตัวเองเมิน “ชาวบ้าน”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.
สน.พระอาทิตย์/สามยอด

แม้แม่ทัพใหญ่สีกากี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้วจะออกมายืนยันเสียงหนักแน่น รายชื่อตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้งระดับรองผู้บัญชาการ(รองผบช.)-ผู้บังคับการ(ผบก.) ประจำปี 2556จำนวน 207 ตำแหน่งที่ผ่านตราประทับจากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ตามที่ได้เสนอให้พิจารณา

“การทำบัญชีเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ มีการพิจารณาตามความเหมาะสม”

แต่ดูเหมือนพอรายชื่อทั้ง 207 เก้าอี้ปรากฏออกมาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมในบางตำแหน่ง บางคน บางเก้าอี้ก็เกิดข้อสงสัยถึงเหตุผลการพิจารณา

เพราะขนาดนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการ ก.ตร.โดยตำแหน่ง ยังมีเสียงเปรยถึงการแต่งตั้งครั้งนี้ว่าได้รับการร้องเรียนการแต่งตั้งตำรวจไม่เป็นธรรมจำนวนมาก

ประเด็นหนึ่ง ที่มีการร้องเรียนดังกระหึ่มออกมา คือการแต่งตั้งระดับรองผบก.ขึ้นเป็น ผบก. ที่ก่อนการแต่งตั้งมีข่าวมาตลอดว่า นโยบายพล.ต.อ.อดุลย์จะพิจารณาคุณสมบัติรองผบก. จากผู้ที่ครองตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีขึ้นไปแม้หลักเกณฑ์ ก.ตร.จะขีดเส้นใต้ไว้ที่ 4 ปีหรือถ้าจะพิจารณาผู้ที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปีก็จะขึ้นในตำแหน่งอำนวยการ ไม่ใช่ ผบก.ตำแหน่งหลัก

สุดท้ายเมื่อรายชื่อแต่งตั้งผ่านตราประทับก.ตร. รองผบก. 4ปี หลายคนขยับขึ้น ผบก.ในตำแหน่งหลักๆ

ในประเด็นดังกล่าว พล.ต.อ.อดุลย์ ชี้แจงว่า กลุ่มที่เป็น รอง ผบก.ได้เพียง 4 ปี แล้วเลื่อนขึ้น ก็เลือกจากคนที่มีความรู้ความสามารถและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไม่ผิดอะไรมีบางคนขึ้นใหม่แล้วขึ้นไปเป็นผู้บังคับการจังหวัดคุมหน่วยปฏิบัติหลักพิจารณาดูแล้ว คนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่มีความสามารถจริง

“ทำงานได้ต้องเอามาทำงานแต่หลักการบริหารของผมส่วนใหญ่ก็จะให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นในฝ่ายอำนวยการก่อนแล้วค่อยโยกย้ายไปหน่วยปฏิบัติภายหลัง”

คำชี้แจงจากพล.ต.อ.อดุลย์สะท้อนให้เห็นว่าการพิจารณาเลือกนายตำรวจไปดำรงตำแหน่งเป็นการพิจารณาของตนเองที่มองแล้วว่าเหมาะสม มีความสามารถ อย่างไรก็ดี เรื่องนี้แม้การเลือกคนทำงานต้องให้สิทธิผู้บังคับบัญชา

แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาในการแต่งตั้งครั้งนี้อีกมุมหนึ่งแสดงให้เห็นว่า พล.ต.อ.อดุลย์ พิจารณาแต่งตั้งแค่เรื่อง “ความสามารถ” ไม่ได้นำเรื่อง “ความเหมาะสม”มาพิจารณาด้วย

โดยเฉพาะตำแหน่ง“ผบก.ภ.จว.พะเยา”ที่ก่อนหน้านี้กลุ่มชาวเมืองดอกคำใต้ จ.พะเยา กว่า 600 คน ทั้งเจ้าหน้าที่เทศมนตรี กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านยกขบวนมาชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระราม 1เมื่อช่วงต้น2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ยื่นหนังสือถึงผบ.ตร.คัดค้านการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ภาณุ บูรณศิริ รองผบก.สส.ภ.3เป็น ผบก.ภ.จ.พะเยา รวมทั้งยกขบวนทั้งหมดไปรัฐสภายื่นหนังสือให้กรรมาธิการการตำรวจ สภาผุ้แทนราษฎร์ พิจารณา

เพราะพ.ต.อ.ภาณุมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติ และมีสายสัมพันธ์กับ “วรวิทย์บูรณศิริ” นายก อบจ.พะเยา ซึ่งถูกป.ป.ช.ตำรวจกองปราบปรามและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ตรวจสอบถึงการทำงานที่ไม่โปรงใส และทุจริตในอบจ.พะเยาโดยเรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหมายเลขคดี5480601682 และหนังสือเลขรับที่ 34/090 ของ ป.ป.ช.หากได้รับการแต่งตั้งเกรงจะกระบวนการยุติธรรมจะไม่เป็นธรรม

สุดท้ายพอ ก.ตร.พิจารณารายชื่อการแต่งตั้งโยกย้าย รองผบช.-ผบก. เสร็จสิ้นพ.ต.อ.ภาณุ บูรณศิริ รองผบก.สส.ภ.3 ก็เลื่อนขึ้นมาเป็นผบก.ภ.จว.พะเยา ตามที่มีข่าวปรากฏออกมา

ถามว่าจากนี้ต่อไปพื้นที่พะเยาจะอยู่กันอย่างไรเมื่อ”ตำรวจ”กับ”ชาวบ้าน” หวาดระแวงกันที่สำคัญไม่ใช่แค่ชาวบ้านอย่างเดียว ข้าราชการท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือว่ามีความใกล้ชิดชาวบ้านก็ไม่เอา ผู้บังคับการฯคนใหม่ ปัญหาการทำงานย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

เพราะเมื่อตำรวจไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ชาวบ้านเกิดความระแวง ไม่ไว้ในตำรวจ ก็ถือว่าการบริหารงานขั้นพื้นฐาน “สอบตก”ไปแล้วครึ่งหนึ่ง ความสามารถที่ พล.ต.อ.อดุลย์การันตีลูกน้องเก่งจริง ถึงตั้งไปอยู่ในตำแหน่งหลัก ประสิทธิภาพ ก็คงลดลงอย่างแน่นอน

ที่สำคัญก่อนการแต่งตั้งพ.ต.อ.ภาณุ ที่ชาวบ้านคัดค้านต่อต้านถึงขนาดรวมตัวกันเดินทางมาจาก จ.พะเยาเดินททางไกลหลายร้อยกิโลเข้ามาแสดงพลังให้ระดับศูนย์กลางการบริหารตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับทราบถึงปัญหา

ก็ไม่มีปรากฏว่าพล.ต.อ.อดุลย์ หรือผู้บริหารระดับสูงสำนักงานตำรวจแห่งชาติรายใด จะออกมาชี้แจงสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่เลยแม้แต่น้อยรวมทั้งก็ไม่มีการการันตี “ความยุติธรรม”ให้กับชาวบ้านมั่นใจ

ว่าหากมีการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ภาณุ ที่แม้จะมีญาติเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนต่างๆ แต่ถ้าได้รับการแต่งตั้งจะไม่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างไร ก็ไม่มีใครออกมาการันตี

การแต่งตั้งพ.ต.อ.ภาณุ ไปเป็น ผบก.ภ.จว.พะเยาเช่นนี้ก็เหมือนพล.ต.อ.อดุลย์ยัดเยียด ให้กับชาวบ้านพะเยา แบบที่ไม่ได้เต็มใจ ซึ่งผลที่ตามคงเป็นสิ่งที่พล.ต.อ.อดุลย์ ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆ

เช่นเดียวกับอีกหลายๆตำแหน่งที่ดูเหมือนแต่ละเก้าอี้ล้วนมีสายสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองในการสนับสนุนให้ไปดำรงตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ต.องอาจ ผิวเรืองนนท์ ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา นรต.29 รุ่นเดียวกับ ผบ.ตร.และเป็นตัวแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเงินจำนวน 3 ล้านบาท ไปบริจาควัดบ้านไร่ โยกมาอยู่พื้นที่ทำเลทอง มาเป็นผบก.ภ.จว.ภูเก็ต,

พ.ต.อ.นิธิพัฒน์พัฒนถาบุตร รอง ผบก.ภ.จ.พะเยา ญาติ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช. ขึ้นเป็นผบก.อก.ภ.5, พล.ต.ต.กริช กิติลือ ผบก.ภ.จ.ลำพูน ใกล้ชิดแกนนำพรรคเพื่อไทย โยกเป็นผบก.ภ.จว.เชียงใหม่, พ.ต.อ.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบก.น.4ใกล้ชิด ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ขึ้นเป็นผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร, พ.ต.อ.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ รอง ผบก.น.4ลูกชายเพื่อนนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็น ผบก.ภ.จว.สระแก้ว ฯลฯ

ฉะนั้นเมื่อทุกเก้าอี้พล.ต.อ.อดุลย์ การันตี คัดสรรตามความสามารถด้วยตนเอง หากนายตำรวจเหล่านี้ลงไปปฏิบัติงานแล้วมีผลเช่นไรคนที่จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้คือ แม่ทัพใหญ่สีกากี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ต้องรับไปเต็มๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น