สน.พระอาทิตย์ / สามยอด
ไม่มีพลิก มีแต่ “ล็อค” การแต่งตั้งนายพลนอกวาระประจำปี แทนตำแหน่งว่าง ที่พล.ต.ท.พจน์ ไทยกล้า จเรตำรวจ(สบ.8) เทียบเท่า ผบช. และพล.ต.ท.ยงยศ นาคเฉลิม จเรตำรวจ(สบ.8) (หน.จต.) เทียบเท่า ผบช. ลาออกจากตำแหน่ง วงประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตีตราประทับอนุมัติตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว แม่ทัพสีกากี เสนอทั้ง 3 ตำแหน่ง
พล.ต.ท.อุดม ชัยมงคลรัตน์ จเรตำรวจ(สบ.8) โยกมาเป็น จเรตำรวจ(สบ.8) (หน.จต) แล้วตั้งพล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผบช.น. ขึ้นเป็น จเรตำรวจ(สบ.8) และพล.ต.ต.โกศล พัวเวส รองผบช.ภ.8 ขึ้นเป็น จเรตำรวจ(สบ.8)
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งนายพลนอกวาระประจำปีครั้งนี้ เป็นโผ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ไม่ใช่แต่งตั้งนอกฤดูที่ทำเพื่อปรับปรุงการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดีขึ้น ตามวัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งข้าราชการในแต่ละครั้งของทุกๆทบวง กระทรวง กรม เพราะมีการแต่งตั้งเพียงแค่ 3 ตำแน่ง ซึ่งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็น “ผบช.”ติดยศ “พล.ต.ท.”ป้ายแดง ทั้ง 2 ราย ล้วนเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจ(นรต.) รุ่น 29 รุ่นเดียวกับพล.ต.อ.อดุลย์ ทั้งหมด
ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวตลอดว่า มีข้อตกลงระหว่างเพื่อนร่วมรุ่นด้วยกันที่ต้องช่วยเหลือเพื่อนให้ขยับขึ้นติดยศ พล.ต.ท. ก่อนเกษียณราชการปลายปี โดยพล.ต.ท.พจน์ นรต.29 ยอมลาออกตามมติรุ่น เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.ต.โกศล ซึ่งมีอาวุโสลำดับที่ 1 ในระดับ รอง ผบช. ขึ้นเป็น ผบช.หรือเทียบเท่า ติดยศ พล.ต.ท.
เช่นเดียวกับพล.ต.ต.วรศักดิ์ แม้จะขึ้นตามความเหมาะสมและมีผลงานตามบัญชีความเหมาะสมลำดับที่ 1 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเมืองบางส่วน อีกส่วนก็ได้รับการสสนับสนุนจากพล.ต.อ.อดุลย์ เพื่อนร่วมรุ่นเช่นกันที่ดันให้ขึ้น จเรตำรวจ โดยเจรจาให้พล.ต.ท.ยงยศ นรต.28 รุ่นพี่เสียสละลาออกเปิดตำแหน่งให้
ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ทั้ง รองผบช.น. รองผบช.ภ.2 ที่ว่างลงของพล.ต.ต.วรศักดิ์และพล.ต.ต.โกศล รวมทั้งตำแหน่ง ผบก.สกัดกั้นยาเสพติด ที่มีการเปิดใหม่ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ยังไม่มีการแต่งตั้ง โดยมีรายงานว่าน่าจะยกยอดไปแต่งตั้งกันในวาระการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลประจำปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้
เช่นเดียวกับตำแหน่ง ผบก. และ ผกก. ที่มีปัญหาบกพร่องปล่อยให้มีบ่อนการพนัน อบายมุข ในพื้นที่จนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกหน่วย และเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ บุกเข้าจับกุม จนพล.ต.อ.อดุลย์ ต้องสั่งให้มาช่วยราชการที่ ศปก.ตร. ก็ไม่มีการแต่งตั้งโยกย้ายเช่นกัน
ทั้งๆที่น่าจะเป็นตำแหน่งที่ควรทำ ควรเปลี่ยนแปลง เพราะมีข้อบกพร่องในการทำงาน เอาตำแหน่งมาหากิน เช่นพื้นที่ในกทม.ย่านยานนาวาและทุ่งมหาเมฆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของทั้งสองสน.มีบ่อนการพนันขนาดใหญ่เปิดกันอย่างเอิกเกริก ตำรวจท้องที่ไม่รู้ได้ยังไง พวกนี้ต้องโดนลงโทษสถานหนัก แต่ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้ พล.ต.อ.อดุลย์ กลับไม่ยอมแตะ และเลือกที่จะทำการแต่งตั้งนอกวาระประจำปีเพียงการช่วยเพื่อนนรต.29 ให้ขยับขึ้นเท่านั้น
ตรงกันข้ามสิ่งที่ควรรีบเร่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไม่รีบเร่ง แต่สิ่งที่ไม่ควรรีบเร่งปรับปรุงเลี่ยนแปลงกับรีบเร่ง เพราะช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์ ออกคำสั่ง ตร.ที่ 323/2556 ลงวันที่ 15 พ.ค.2556 แต่งตั้ง พ.ต.อ.รณกร ศุภสมุทร รองผบก.สพ.(สรรพาวุธ) นรต.รุ่น 35 มาดำรงตำแหน่ง รองผบก.สท.(กองสารนิเทศ) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างจากผู้ดำรงตำแหน่งรายเดิมลาออกไป โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.2556
จริงอยู่หากเห็นว่าตำแหน่ง รองผบก.สท. ซึ่งมีหน้าที่ในการทำงานด้านสื่อประชาสัมพันธ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้องค์กร ต้องใช้กำลังคนทุกตำแหน่งให้ครบถ้วน ถ้าขาด รองผบก.สท.ไปคนใดคนหนึ่ง อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรด้อยลง พล.ต.อ.อดุลย์ จะแต่งตั้งผู้ที่มาดำรงตำแหน่งแทน ในช่วงกลางปีทันที ก็ถือเป็นเรื่องที่สมควรตามการบริหารงานบุคคลที่ถูกต้อง
แต่พอคำสั่งมีผลแค่เพียงวันเดียว พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผบช.ศชต. ในฐานะ ผบ.ศปก.ตร.สน. ก็มีหนังสือแจ้งมาว่า พ.ต.อ.รณกร ปัจจุบันได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติหน้าที่ ศปก.ตร.สน. ต้องมาปฏิบัติราชการต่อเนื่องจนครบกำหนดระยะเวลาหรือจนกว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นก่อนครบกำหนดระยะเวลา
คำถามที่เกิดขึ้น คือ พล.ต.อ.อดุลย์ ไม่รู้เชียวหรือว่า พ.ต.อ.รณกร ติดภารกิจยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่สามารถมาทำงานในตำแหน่ง รองผบก.สท. ได้ทันทีทันใด ซึ่งในฐานะผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ย่อมต้องรู้อยู่แล้ว
คำถามที่ตามมา คือ เมื่อรู้แล้วเหตุไฉนถึงต้องรีบแต่งตั้ง พ.ต.อ.รณกร มานอกวาระเช่นนี้ ทั้งที่ตัวก็ยังต้องทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมไม่รอแต่งตั้งวาระปกติประจำปี ซึ่งจะมีขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะเมื่อไม่สามารถมาทำงานที่กองสารนิเทศได้ตามที่มีการแต่งตั้ง งานกองสารนิเทศก็คงไม่จำเป็นเร่งด่วนขนาดนั้น
เหตุใดถึงรีบเร่งแต่งตั้ง???
คือคำถามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ น่าจะเป็นผู้ที่ให้คำตอบดีที่สุด
แต่ถ้าให้วิเคราะห์ตามธรรมชาติชาวสีกากี การดำเนินการลักษณ์เช่นนั้นส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงไปถึงการวางอนาคตในการแต่งตั้งโยกย้าย ลักษณะเข้าช่องทางที่จะได้เปรียบมากที่สุด ซึ่งกรณีของ พ.ต.อ.รณกร ก็อาจมองได้เช่นนั้น แม้ตำแหน่ง รองผบก.สพ. ของพ.ต.อ.รณกร จะอยู่ในสังกัดหน่วยขึ้นตรงเหมือนตำแหน่งใหม่ รองผบก.สท. จะไม่มีผลต่อการจัดเรียงลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งในกลุ่มหน่วยขึ้นตรง สง.ผบ.ตร.มากนัก
ทว่าถ้ามองกันในแง่ความรู้สึกลับต่างกัน เพราะการอยู่ในสังกัดกองสรรพาวุธ พ.ต.อ.รณกร อาจถูกเสนอชื่อระดับกองกับการในลำดับรองๆ เพราะเป็นหน่วยงานที่ตำรวจในสังกัดเติบโตก้าวหน้ากันช้า ทำให้มีพวกอาวุโสอยู่จำนวนมาก แต่พอมาอยู่ กองบังคับการกองสารนิเทศ พ.ต.อ.รณกร จะมีอาวุโสสูงสุดขึ้นมาทันที พอถึงช่วงการแต่งตั้ง หากมีการเสนอชื่อระดับ บก. พ.ต.อ.รณกร ก็จะติดอยู่ในลำดับอาวุโสสูงสุดทันที
อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ตามธรรมชาติชาวสีกากี แต่เหตุผลข้อเท็จจริงการแต่งตั้งครั้งนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ รู้ดีที่สุดว่า ทำเพื่อประโยชน์องค์กรจริงๆ หรือผลประโยชน์ส่วนตัว.