อัยการยันไม่ใช่การเสียหน้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ภายหลังศาลพิพากษาคดีทุจริตจัดซื้อรถเรือดับเพลิง หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.จะดำเนินการอายัดทรัพย์ ก็สามารถทำได้
วันนี้ (11 ส.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ชั้น 9 ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวชี้แจงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุก นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย เป็นเวลา 12 ปี และ จำคุก พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ์ เป็นเวลา 10 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง ของ กทม.ว่า สำหรับคดีดังกล่าวทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เคยส่งสำนวนให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา แต่อัยการมีความเห็นต่างกับ ป.ป.ช.ที่สมควรให้ฟ้องจำเลยเพียงบางคน แต่ ป.ป.ช.มีความเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอสามารถฟ้องจำเลยทั้งหมดได้ ทำให้ไม่ได้ข้อยุติ ภายหลังทาง ป.ป.ช.จึงได้ส่งสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอง ซึ่งทางอัยการไม่ได้เสียหน้า แต่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย และในที่สุดคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ก็สอดคล้องกับที่สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่าหลักฐานไม่ฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามสำหรับรถและเรือดับเพลิงนั้น ตนเคยแนะนำให้ทางหน่วยงาน กทม.ควรจะนำรถและเรือดับเพลิงมาใช้ ส่วนเรื่องคดีความก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย
“อัยการไม่ได้มีความขัดแย้งกับทาง ป.ป.ช.แต่อย่างใด คดีที่ ป.ป.ช.ส่งมา กว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้นอัยการก็มีความเห็นสั่งฟ้อง โดยความเห็นของอัยการในสำนวนคดี ก็ตรงกับผลในคำพิพากษาของศาลส่วนรถและเรือดับเพลิงที่ กทม.รับมาแล้วแต่ไม่ได้ใช้นั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรนำรถและเรือดับเพลิงมาใช้ เหมือนกรณีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ระบบสายพานลำเลียง ที่หากไม่ได้นำมาใช้ แล้วสนามบินสุวรรรณภูมิก็จะไม่สามารถเปิดให้บริการได้” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดระบุ
เมื่อถามว่า ปัจจุบันมีจำเลยที่ถูกศาลฎีกาฯนักการเมืองพิพากษาตัดสินจำคุกหลายคนหลบหนีอยู่ต่างประเทศ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตามกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ได้ติดตามนำตัวบุคคลเหล่านนั้นมาลงโทษและมีความคืบหน้าในการติดตามตัวได้มากน้อยเพียงใด นายวินัย ปฎิเสธที่จะตอบคำถามพร้อมกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสำนักงานอัยการฝ่ายต่างประเทศ
ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่การเสียหน้าของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และภายหลังศาลพิพากษาจำคุกจำเลยแล้ว หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.จะดำเนินการอายัดทรัพย์ ตามกฎหมายติดตามยึดทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิด ก็สามารถทำได้
ส่วนแนวทางการทำงานระหว่างหน่วยงานนั้น ตนเพิ่งไปร่วมสัมมนา กับ ป.ป.ช.ซึ่งได้กำหนดแนวทางชัดเจนว่า มติจากการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง ป.ป.ช.และอัยการจะถือเป็นเด็ดขาด แต่หากมีความเห็นไม่ตรงกันในบางเรื่อง ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถที่จะส่งฟ้องคดีเองได้
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีที่อัยการตีกลับสำนวนคดีต่อสัญญารถไฟฟ้า บีทีเอส ที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม. กับพวก ตกเป็นผู้ต้องหาไปให้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่า เพราะอัยการได้ตรวจสำนวนและพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. จึงชัดเจนว่าหากเรื่องใดเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายจะต้องส่งให้ ป.ป.ช.เป็นผู้พิจารณา ซึ่งดีเอสไอจะต้องส่งไปให้ ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน เพื่อ ป.ป.ช.จะได้ดำเนินการต่อไป