xs
xsm
sm
md
lg

"เลขาฯป.ป.ส." ถกแก้กฎหมายใบกระท่อมยกระดับเป็นสมุนไพร

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


"พงศพัศ" เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ยกระดับเป็น "ยาสมุนไพรชูกำลัง" ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป นัดพิจารณาต่อ 13 ก.ย.นี้
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ ( 10 ก.ย.) ที่ห้องประชุมอาคาร 2 ชั้น 3 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วยนพ.วิโรจน์ วิรชัย รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) นายประพนธ์ ภาคตระกูล ผู้อำนวยการกองวัตถุยา เสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) นายชาญเชาวน์ โชติเวชธำรงค์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดียาเสพติด จัดประชุมคณะทำงานพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม ตามพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522
โดยจาการประชุม ผศ.สมสมร ชิตตระการ อาจารย์ภาคเภสัชวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า จากการทดลองในสัตว์ ในระยะเวลา 30 วัน พบว่าหากให้พืชกระท่อมในปริมาณที่ต่ำ จะไม่ส่งผลใดๆต่อร่างกาย ในทางตรงกันข้าม หากให้ในปริมาณที่สูง ซึ่งหากเทียบกับคนเท่ากับต้องให้ 5 กิโลกรัมต่อวัน จะพบว่ามีพิษหลงเหลืออยู่ในร่างกาย นอกจากนี้ยังพบว่าในใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์ ซึ่งช่วยบรรเทาอาการป่วย เช่นแก้ปวดเมื่อย แก้ไอ แก้ท้องเสีย ฯลฯ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบและพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าหากคนที่ใช้ใบกระท่อมบ่อยๆ และหยุดใช้จะมีอาการข้างเคียง อาทิ อ่อนเพลียง่าย น้ำตาไหล ง่วงนอน ไม่มีแรง ไม่อยากทำงาน หรืออาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ซึ่งผลข้างเคียงดังกล่าวถือว่าน้อยหากเทียบกับสารเสพติดประเภทอื่น
ขณะที่นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า แต่หากถามในความคิดเห็นของนักกฎหมายก็ยังรู้สึกว่า ใบกระท่อมเป็นสารเสพติดอย่างหนึ่ง เพราะถึงแม้ว่าในทางการแพทย์จะพบว่าใบกระท่อมมีสรรพคุณเป็นยา และให้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ แต่หากผู้ใดใช้ใบกระท่อมเป็นเวลานาน ก็จะมีอาการติด ซึ่งมีผลกระทบต่อร่างกายแน่นอน
“คนที่เคยทดลองเคี้ยว ก็จะเพิ่มปริมาณการใช้ใบกระท่อมขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่านั่นคือการติด และถือว่าใบกระท่อมเป็นสารเสพติดอยู่ดี เพราะก็มีผลข้างเคียงต่อร่างกายในแง่ลบ โดยการทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง โดยสังเกตได้จากสถิติการเข้ารักษาตัวของผู้ที่ต้องการเลิกใบกระท่อม”
พล.ต.อ.พงศพัศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรก ซึ่งจากการประชุมทำให้ได้ประเด็นมาทั้งหมด 5 ประเด็นในการฝากให้คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ แห่งอย. พิจารณาดังนี้ 1.มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกาศยกเลิก ถอนใบกระท่อมออกจากพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522 แล้วจัดให้เป็นยาสมุนไพร เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอดต่อไป 2.มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกาศยกเลิกใบกระท่อมจากการเป็นสิ่งเสพติด แต่ให้เป็นสารที่ต้องควบคุมเนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท และกล่อมประสาทผู้ใช้ 3.ไม่ต้องแก้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ นั่นคือให้จัดอยู่ในสารเสพติดประเภท 5 ต่อไป แต่หาแนวทางที่จะทำให้ใบกระท่อมสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ หรือนำมาทำเป็นยาสามัญประจำบ้าน 4.แต่การนำใบกระท่อม ซึ่งเป็นสารตั้งต้นไปเปลี่ยนแปลง แปรรูปเป็นสารเสพติดอื่นๆ อาทิ 4 คูณ 100 หรือ 8 คูณ 100 ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้เสพ หรือความสงบเรียบร้อยของสังคม ควรมีการจัดทำเป็นกฎหมายและระบุโทษให้ชัดเจน เนื่องจากวิธีการนำไปสกัดเป็นสารเสพติดดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522 ทำให้ในจุดนี้ยังไม่มีกฎหมายกำหนดที่แน่ชัด จึงหาบทลงโทษผู้กระทำความผิดยาก และข้อ 5. หากไม่สามารถทำตาม 4 ประเด็นข้างต้นได้ จะมีวิธีการหรือแนวทางใดที่จะทำให้พืชกระท่อมเกิดประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่ โดยหลังการประชุมครั้งนี้ ทางป.ป.ส.จะรีบรวบรวมข้อมูลที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านในการลงพื้นที่ รวมถึงผลการวิจัยต่างๆ ให้เรียบร้อยเพื่อส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะมีการประชุมพิจารณาภายในวันศุกร์นี้ ( 13 ก.ย.) ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น