xs
xsm
sm
md
lg

ศิริราช รักษามะเร็งแนวใหม่ “หญิงไม่ต้องตัดเต้าทิ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศิริราชปลื้มรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ช่วยหญิงไทยไม่ต้องตัดเต้าทิ้ง ยังคงความเป็นหญิงไว้ได้ ชี้ผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้อพร้อมฉายแสงในคราวเดียว ลดขั้นตอนการฉายแสงได้ถึง 25-30 ครั้ง มีความแม่นย่ำ ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย ลดคิวบริการได้ 755 ครั้ง ภาวะแทรกซ้อน และผลข้างเคียง

วันนี้ (23 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ ศีรษะ คอ และเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแถลงข่าว “ศิริราชรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ ผ่าตัดเก็บเต้านมพร้อมฉายแสงในครั้งเดียว ประสิทธิภาพสูง ปลอดภัย ได้ผลดี” โดยมี ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธาน และผู้ดำเนินงาน ว่า อัตราการป่วยโรคมะเร็งเต้านมของผู้หญิง ขณะนี้พบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยในแต่ละปีมีผู้ป่วยหญิงมารับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่โรงพยาบาลศิริราชมากกว่า 1,000 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในประเทศ การรักษาที่ดีในขณะนี้คือการผ่าตัด นำก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งออก ต้องใช้แพทย์สหสาขาวิชา ทั้งการผ่าตัด ฉายรังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด

รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ อาจารย์สาขาศัลยศาสตร์ฯ ผู้ริเริ่มการรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งในอดีตนิยมผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด แต่ปัจจุบันมีการผ่าตัดเก็บเต้านม หัวนม ลานนมไว้ ผ่าเอาเฉพาะก้อนมะเร็งออก ทำให้ผู้ได้รับการผ่าตัดไม่สูญเสียความเป็นหญิง แต่พบอัตราการเกิดมะเร็งซ้ำในผู้ป่วย และต้องมีการฉายแสดงถึง 25-30 ครั้ง เป็นเวลา 5-6 สัปดาห์ แต่การรักษาแนวใหม่ จะเป็นการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อมะเร็งออก จากนั้นฉายแสงซ้ำหลังการผ่าตัดทันที โดยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนทิเนลบางส่วนออก

ผศ.นพ.สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ ผู้ผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่ กล่าวว่า การผ่าตัดแนวใหม่เริ่มทำในประเทศอังกฤษ และอิตาลี มานานกว่า 10 ปี แล้ว ให้การรักษาผู้ป่วยมากกว่า 2,000 ราย โดยผู้ป่วยที่จะรับการผ่าตัดนี้ ต้องผ่านเกณฑ์การประเมิน 5 ข้อ คือ 1.มะเร็งที่เป็นต้องเป็นระยะเริ่มต้น 2.มะเร็งที่เป็นต้องเป็นมะเร็งท่อน้ำนำนมชนิดลุกลาม และมีขนาด 2 เซนติเมตร 3.ผู้ป่วยต้องมีอายุ 55 ปีขึ้นไป 4.เป็นมะเร็งเพียงก้อนเดียว ไม่มีการกระจาย และ 5.ต้องมีตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเซลล์มะเร็ง การรักษาด้วยวิธีการนี้ยังช่วยลดจำนวนการฉายแสงในผู้ป่วยได้ และการฉายแสงหลังการผ่าตัดยังทำให้เกิดการฉายแสงที่ตรงจุดมีความแม่นยำมากขึ้น โดยค่ารักษาพยาบาลสามารถใช้ได้ทั้ง 3 สิทธิการรักษา แต่ยกเว้นค่าฉายแสงจำนวน 38,000 บาท ที่ยังไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทุกสิทธิการรักษา สำหรับ รพ.ศิริราช ได้มีการเริ่มทำการผ่าตัดไปแล้ว 50 ราย ตั้งแต่ปี 2554 และมีการติดตามผลต่อเนื่องอีก 1 ปี พบให้ผลดีเยี่ยม มีอัตราการป่วยซ้ำเพียง 1 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 2 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งวิธีดังกล่าวช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงสามารถช่วยลดงานบริการผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการฉายรังสีได้ถึง 755 ครั้ง

นพ.กุลธร เทพมงคล อาจารย์แพทย์ประจำสาขารังสีรักษา ภาควิชารังสีวิทยา และผู้ฉายรังสีรักษา กล่าวว่า ปัจจุบันการฉายแสงหรือรังสีรักษาเป็นกระบวนการหลักอย่างหนึ่งในการรักษามะเร็งเต้านม เพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรค หรือป้องกันการกลับมาเป็นซึ่งเฉพาะที่ของโรคมะเร็ง ซึ่งข้อดีของการการรังสีรักษาแนวใหม่โดยฉายในห้องผ่าตัดทันที จะช่วยลดระยะเวลาในการฉายรังสีภายนอกได้ 25-30 ครั้ง นอกจากนี้ ยังสามารถกำหนดบริเวณที่เป็นตำแหน่งของก้อนมะเร็งทันที ทำให้มีความแม่นยำมากขึ้น เพิ่มโอกาสการหายขาด และลดปริมาณรังสีต่อเนื้อเยื่อปกติ ซึ่งต่างจากเดิมที่จะฉายรังสีแบบทั้งเต้านม รวมถึงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาลงด้วย และภาวะแทรกซ้อนต่อผิวหนังภายนอกก็ลดลงเช่นกัน จากการศึกษาผู้ป่วยใน รพ.ศิริราช ที่รับการรักษาด้วยวิธีแนวใหม่ พบว่า ภาวะความสวยงามของเต้านมภายหลังการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดีมาก และการประเมินคุณภาพชีวิตหลังการรักษาก็พบว่า อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเช่นกัน ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจกับการรักษา และรู้สึกพึงพอใจที่ไม่สูญเสียเต้านมหลังผ่าตัด

รศ.เยาวมาลย์ เมธาภิรักษ์ ผู้รับการรักษาด้วยวิธีแนวใหม่ กล่าวว่า ตนตรวจหามะเร็งเต้านมเจอจากการทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ ตอนแรกรู้สึกตกใจ แต่เมื่อแพทย์ได้เสนอและอธิบายให้ทราบถึงการรักษาแนวใหม่ที่ว่าจะผ่าตัดเฉพาะก้อนมะเร็งแทนการตัดเต้านมทั้งหมด แล้วฉายรังสีโดยตรงเพียงครั้งเดียว ไม่จำเป็นต้องกลับมาทำซ้ำ 25-30 ครั้ง ก็รู้สึกสนใจจึงตอบตกลง ซึ่งในการรักษาพบว่าเป็นไปอย่างราบรื่น และพักฟื้นเพียงคืนเดียวก็สามารถกลับบ้านได้ ถือว่าเป็นการรักษาที่ช่วยให้ผู้หญิงยังคงมีเต้านม ซึ่งเป็นสิ่งมีค่าบ่งบอกถึงความเป็นผู้หญิงยังอยู่กับเรา

นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ ประธานศูนย์ถันยรักษ์ กล่าวว่า แม้มะเร็งเต้านมจะยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ การตรวจคลำด้วยตัวเอง โดยควรเริ่มเรียนรู้ตอนอายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมร่วมกับอัลตราซาวนด์ หากพบว่ามีสิ่งผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น