ดีเอสไอออกหมายจับหัวหน้าแก๊งคอเชิ้ตขาวชาวอเมริกัน พร้อมสมุนชาวสิงคโปร์อีก 8 ราย เผยมีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 300 รายเข้าร้องทุกข์ ชี้มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท
สืบเนื่องจากกรณีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประกาศแจ้งเตือนกองทุน Standard Morgan ซึ่งเป็นกองทุนที่ไม่มีการจดทะเบียนขออนุญาตจาก ก.ล.ต.เพื่อขายกองทุนในประเทศไทย และมีการชักชวนให้คนไทยเข้าร่วมลงทุนผ่านเว็บไซต์ www.standardmorgan.com และเฟซบุ๊กชักชวนหาสมาชิก โดยกองทุนดังกล่าวอ้างบนหน้าเว็บไซต์ว่าเปิดดำเนินการมา 35 ปี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีสาขาทั่วโลก อีกทั้งยังแอบอ้างใช้รูปบุคคลสำคัญและบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นผู้บริการกองทุนเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ร่วมลงทุนประมาณ 3,000 คนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท พร้อมร้องต่อดีเอสไอให้สอบสวนดำเนินคดี
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 5 ก.ย.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ พ.อ.สุรศักดิ์ ณ ลำปาง ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ และ พ.ต.ท.อุดมวิทย์ เนียมอินทร์ รอง ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าการสอบสวนดำเนินคดีกองทุน Standard Morgan ประเทศไทย หลังหลอกลวงผู้เสียหายให้นำเงินมาลงทุนแลกกับผลตอบแทนสูงแต่ไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้ตามสัญญา จนมีผู้เสียหายที่หลงเชื่อกว่า 300 ราย เข้าร้องทุกข์ต่อดีเอสไอ มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท
พ.อ.สุรศักดิ์ ณ ลำปาง ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับกรณีการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร้องทุกข์ให้ดีเอสไอดำเนินคดีต่อกองทุน Standard Morgan ประเทศไทย หลังระดมเงินจากสมาชิกผ่านเว็บไซต์เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงก่อนจะปิดตัวไม่จ่ายเงินปันผลและเงินต้นคืนให้กับสมาชิกผู้เสียหาย ทั้งนี้ จากการสืบสวนสอบสวนดีเอสไอพบว่า กองทุน Standard Morgan มีการจดทะเบียนเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2555 และมีการเปิดตัวพร้อมแนะนำกองทุนอย่างยิ่งใหญ่ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2555 โดยอ้างว่าจะนำเงินของสมาชิกไปลงทุนในต่างประเทศทั้งธุรกิจค้าน้ำมัน ทองคำ หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก และมีบริษัทประกันในประเทศสวิตเซอร์แลนด์การันตีเงินต้นของสมาชิก 100 เปอร์เซ็นต์
ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ กล่าวอีกว่า จากพฤติการณ์ที่น่าเชื่อถือทำให้ผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อนำเงินมาลงทุนผ่านแม่ข่ายในลักษณะแชร์ลูกโซ่ เพื่อแลกกับเงินปันผล 9 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือ 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อวันจากเงินลงทุน ส่วนแม่ข่ายก็จะได้รับผลตอบแทน 12 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนของลูกข่าย ทำให้เป็นแรงจูงใจในการหาลูกทีม โดยสมาชิกผู้เสียหายเมื่อจ่ายเงินลงทุนให้แม่ข่ายที่มาชักชวน ก็จะได้ยูสเซอร์เนมและพาสเวิร์ด เข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจสอบยอดเงินของตัวเองที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยช่วงแรกสมาชิกสามารถถอนเงินปันผลได้ทำให้หลายคนเพิ่มเงินลงทุน ส่วนเงินต้นห้ามถอนก่อน 2 ปี จนกระทั่งเดือน ส.ค. 2556 สมาชิกก็ไม่ได้รับผลตอบแทนส่วนเงินต้นก็ถอนคืนไม่ได้ เมื่อพยามติดต่อออฟฟิศของกองทุนดังกล่าวที่เช่าอยู่ย่านซอยลาดพร้าว 85 ถนนลาดพร้าว ก็ปิดตัวไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงรวมตัวกันร้องเรียนต่อ กลต.ก่อนมีการร้องทุกข์ให้ดีเอสไอสอบสวนดำเนินคดีดังกล่าว
พ.อ.สุรศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนและการสอบปากคำพยานแล้วบางส่วน ทำให้สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ ขอศาลอาญาอนุมัติหมายจับตัวการในการกระทำความผิด เป็นชาวต่างชาติ จำนวน 9 ราย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ประกอบด้วย 1. นายโรนัลด์ ฮอดเกส (Ronald Hodges) สัญชาติอเมริกัน เป็นผู้จัดการกองทุนฯ และผู้มาเปิดตัวกองทุนในประเทศไทย 2. นายเดวิด ลิม (David Lim) สัญชาติสิงคโปร์ ผู้นำของกองทุน 3. นายยูจีน ยีล จิน เหว่ย (Eugene Yew Jin Wei) สัญชาติสิงคโปร์ ผู้นำของกองทุน 4. นายหวัง ร็องเบียว (Wang Rongbiao) สัญชาติสิงคโปร์ ผู้นำของกองทุน 5. นายวิก ฟัว (Vic Phua) สัญชาติมาเลเซีย ผู้บรรยายและแนะนำการลงทุน และผู้ประสานงาน 6. นายไรยัน เอ็นวาย (Ryan NY) สัญชาติสิงคโปร์ ผู้ดูแลด้านการเงิน ระบบคอมพิวเตอร์ของเว็บไซต์ และผู้ประสานงานกองทุน 7. นายจิมมี (Jimmy) ไม่ทราบนามสกุล สัญชาติสิงคโปร์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด 8. นายแอนดี (Andy) ไม่ทราบนามสกุล สัญชาติสิงคโปร์ ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด และ 9. นายเหลียว ลี ชาน (Leo Lee Chan) สัญชาติสิงคโปร์ ผู้ช่วยฝ่ายการตลาด ขณะนี้ได้ประสานส่งหมายจับ สตม.สกัดการเดินทางออกนอกประเทศ พร้อมเร่งสืบสวนติดตามจับกุมหากผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางออกนอกประเทศ ก็จะขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน
ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ ดีเอสไอ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการติดตามเงินดีเอสไอได้มีการอายัดบัญชีธนาคารที่ต้องสงสัยว่าใช้ในการกระทำผิดจำนวนกว่า 20 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้ทราบว่าระหว่างเดือน ม.ค.-ก.ค. 2556 มียอดเงินหมุนเวียนในกองทุนประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมยอดเงินหมุนเวียนตั้งแต่มีการเปิดตัวกองทุนตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 2555 โดยคาดว่ามีเงินหมุนเวียนในกองทุนตั้งแต่ ก.ค.2555 - ส.ค. 2556 ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยพบว่ายอดคงเหลือของกองทุน Standard Morgan ประมาณ 15 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ดีเอสไอขอให้ผู้เสียหายที่ร่วมลงทุนที่ได้รับความเสียหายที่ได้มาร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดี พร้อมขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการถูกชักชวนให้ร่วมลงทุนเพื่อแลกกับผลตอบแทนในอัตราที่สูงเพราะไม่มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจขอให้ปรึกษาผู้รู้ไม่อย่างนั้นจะถูกชักชวนจนเกิดความเสียหายกันทั้งครอบครัว โดยกองทุน Standard Morgan เคยไปเปิดในประเทศอินโดนิเซีย และได้ปิดตัวลงแล้ว