xs
xsm
sm
md
lg

กฎ : “ไม่ชอบ” เพราะสื่อความหมาย “ไม่ชัด”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คดีที่ผมนำมาพูดคุยกันในวันนี้น่าสนใจทีเดียวครับ...เพราะเป็นเรื่องการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าออกมาบังคับใช้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่อาจสื่อความหมายให้เข้าใจและปฏิบัติตามอย่างชัดเจนได้ เรื่องราวของป้าดาวผู้ฟ้องคดีในคดีนี้จะเป็นอย่างไร และสุดท้ายป้าดาวจะเป็นฝ่ายชนะคดีหรือไม่ มาดูกันเลยครับ...

ป้าดาวเจ้าของกิจการร้านฟ้ากระจ่างดาว.... ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสารกำจัดศัตรูพืชที่เปิดกิจการมานานแล้ว อยู่มาวันหนึ่ง...เจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรได้เข้าไปตรวจสอบร้านค้าของป้าดาวและพบวัตถุอันตราย 4 รายการที่ห้ามครอบครองตามกฎหมายอยู่ภายในร้าน อันได้แก่ (1) ชื่อการค้า โมบิล 600 ชื่อสามัญ โมโนโครโตฟอส (MONOCROTOPHOS) (2) ชื่อการค้า เอ็มคาริน ชื่อสามัญ พาราไทออนเมทิล (PARATHION-METHYL) (3) ชื่อการค้า ประตูทอง 3-5-9 ชื่อสามัญ พาราไทออนเมทิล (PARATHION-METHYL) และ 4. ชื่อการค้า ซันตานา ชื่อสามัญ พาราไทออนเมทิล (PARATHION-METHYL) เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการอายัดวัตถุอันตรายดังกล่าวไว้และนำตัวอย่างบางส่วนไปตรวจวิเคราะห์

ต่อมาพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ได้ออกหมายเรียกกล่าวหาป้าดาวว่ามีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไว้ในครอบครอง ซึ่งต้องห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครอง หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 43 และมาตรา 74 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535)

งานนี้ป้าดาวถึงกับอึ้ง !!!พร้อมกับร้องหายาดมทันที...เมื่อทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ จึงได้พยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่าวัตถุอันตรายทั้งสี่รายการนั้น เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ป้าดาวได้รับอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองเพื่อขายได้ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2538 แล้วเหตุใดจึงกลายมาเป็นว่าป้าดาวกระทำผิดกฎหมายไปได้ ?

เจ้าหน้าที่จึงชี้แจงว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2546 และประกาศเรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 ซึ่งประกาศที่ออกมาภายหลังทั้งสองฉบับดังกล่าว ได้ยกเลิกรายชื่อวัตถุอันตรายในบัญชีแนบท้ายประกาศฉบับเดิม (พ.ศ. 2538) พร้อมทั้งได้กำหนดให้วัตถุอันตรายทั้งสี่รายการเปลี่ยนจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งต้องห้ามมิให้มีไว้ในครอบครองรวมทั้งกรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งเรื่อง การจัดการทำลายหรือดำเนินการกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2547 ดังนั้นป้าดาวจึงถือเป็นผู้ครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ป้าดาวได้โต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ว่า บัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายที่แนบท้ายประกาศทั้งสองฉบับที่ออกมาภายหลัง ได้ระบุให้วัตถุอันตรายทั้งสี่รายการเปลี่ยนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยใช้ภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ และระบุชื่อวัตถุอันตรายทั้งสี่ชนิดเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว โดยไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยหรือมีภาษาไทยกำกับให้ชัดเจน ทำให้ประชาชนทั่วไปรวมทั้งป้าดาวซึ่งมีอายุมากและอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความจึงไม่อาจปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศดังกล่าวได้

หลังจากนั้นป้าดาวจึงรีบมาขอรับคำปรึกษาแนะนำที่ศาลปกครองว่ากรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นข้อพิพาททางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือไม่ เมื่อได้รับคำตอบว่าเป็นคดีปกครอง ป้าดาวจึงยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศทั้งสองฉบับรวมทั้งคำสั่งของกรมวิชาการเกษตรฯ เนื่องจากตนเห็นว่าประกาศและคำสั่งที่พิพาทออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญสำหรับการออกกฎหมาย รวมทั้งมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นและเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า... ประกาศและคำสั่งที่พิพาท เป็นบทบัญญัติที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงเข้าลักษณะเป็นกฎ ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งจะต้องมีความชัดเจนและมีการประกาศเพื่อให้บุคคลในบังคับกระทำหรืองดเว้นการกระทำด้วย โดยในการออกประกาศและคำสั่งใดๆ ควรนำมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งกำหนดว่า คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ และมาตรา 46 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่บัญญัติให้บรรดากระบวนพิจารณาเกี่ยวด้วยการพิจารณาและตัดสินคดีให้ทำเป็นภาษาไทย มาเทียบเคียงด้วย

คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ประกาศที่พิพาททั้งสองฉบับและคำสั่งของกรมวิชาการเกษตรฯ มีความชัดเจนเพียงพอที่จะประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้หรือไม่ ?

จากข้อเท็จจริง...ประกาศทั้งสองฉบับได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาไทยและมีเนื้อหาสาระที่ชัดเจนเพียงพอที่บุคคลจะเข้าใจเกี่ยวกับการยกเลิกรายชื่อวัตถุอันตรายตามประกาศฉบับเดิมได้ แต่ในการกำหนดให้เปลี่ยนประเภทจากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และการระบุชื่อวัตถุอันตรายทั้งสี่รายการในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ เป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว โดยไม่มีคำอ่านและคำแปลเป็นภาษาไทยกำกับไว้ ทั้งที่วัตถุอันตรายตามที่พิพาทนี้ เป็นสารกำจัดแมลงซึ่งเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ในการกำจัดศัตรูพืช จึงถือได้ว่าไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่บุคคลจะสามารถเข้าใจได้ อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีได้เคยออกประกาศบัญชีแนบท้ายวัตถุอันตรายเป็นภาษาไทยโดยมีภาษาอังกฤษกำกับไว้ก่อนที่จะมีการออกประกาศที่พิพาทในคดีนี้ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะกำหนดชื่อวัตถุอันตรายเป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว

ประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งสองฉบับรวมทั้งคำสั่งของกรมวิชาการเกษตร เรื่องการจัดการทำลายหรือดำเนินการกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ฯ จึงเป็นกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่บุคคลจะเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอน ! (อ.773/2555)

ขอแสดงความยินดีกับป้าดาวด้วยนะครับที่ต่อสู้จนชนะคดีสมชื่อเจ้าของร้านฟ้ากระจ่างดาว... และถือว่าคดีนี้ศาลปกครองได้วางหลักในการออกกฎของหน่วยงานราชการว่า... จะต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่บุคคลทั่วไปจะอ่าน ทำเข้าใจและปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง.... เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นในกรณีนี้ขึ้นอีกครับ !

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น