xs
xsm
sm
md
lg

ใครต้องรับผิดชอบในความเสียหายจากการรับจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

ข้อ 1. คำว่า “ แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ” “ นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ” “ แผนการตรากฎหมายที่จำเป็น ” “ แผนบริหารราชการแผ่นดิน ” “ การเข้าบริหารราชการแผ่นดิน ” “นโยบายรัฐบาล ” และฯลฯ ในรัฐธรรมนูญไม่มีคำจำกัดความหรือบทนิยามของประโยคดังกล่าว ประโยคดังกล่าวมีความหมายในทางรัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้งตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีความหมายในทางคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกประโยค หลักการใช้รัฐธรรมนูญจึงต้องใช้ทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกัน ทุกมาตราของรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนเป็นเลือดแดงในร่างกายของมนุษย์จะต้องเชื่องโยงถึงกันทั่วร่างกาย

1.1. รัฐธรรมนูญมาตรา 75 วรรคสอง ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่และขอบเขตของการเข้าบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินไว้ให้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และการบริหาราชการแผ่นดินต้องเป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ (เป็นไปตามรธน.มาตรา 77 – 87 ) จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว นโยบายของรัฐบาลจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการตั้งรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน และคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว จึงเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ และนโยบายที่แถลงนโยบายต่อสภาดังกล่าวจึงเป็น “ นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ” หรือ “นโยบายรัฐบาล” ที่จะต้องบริหารราชการแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่เป็นรัฐบาล ( 4 ปี )

อำนาจในการกำหนด “นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ” อำนาจในการ “ ตรากฎหมาย ” จะเกิดขึ้นได้เมื่อมี รัฐสภา” และมี “คณะรัฐมนตรี” ที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ตามนัยรัฐธรรมนูญ 75 วรรคแรก และคณะรัฐมนตรีจะ “เข้าบริหารราชการแผ่นดิน” ต้องชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่า จะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญในหมวด 5 และคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการนั้นๆโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญในหมวด 5 ไม่ได้ ไม่ว่าในกรณีใด

“ นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ” “ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน”
ไม่อาจกำหนดไว้ล่วงหน้าก่อนมี “ รัฐสภา” หรือ ก่อนมี“คณะรัฐมนตรี” ได้ และบุคคลภายนอกพรรคการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่มีอำนาจที่จะกำหนด “ นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน” “ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” ได้

“ นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ”
หรือ “ นโยบายรัฐบาล” จึงไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง และพรรคการเมืองจะนำเอาเรื่อง “ กลยุทธ์” (strategy) หรือ กลวิธี (tactics) ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งโดยขัดต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาเป็น “ นโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ” หรือ “ นโยบายรัฐบาล” ไม่ได้

การกำหนดนโยบายของรัฐบาลจะต้องมีรัฐบาลขึ้นมาก่อน หรือ รัฐบาลกำหนดนโยบายได้ต้องเป็นเวลาภายหลังได้รับเลือกตั้งและมีคณะรัฐมนตรีแล้วเท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถกำหนดนโยบายได้ก่อนเวลาที่เป็นรัฐบาล เพราะไม่ใช่เป็นรัฐบาล ส่วนกลยุทธ์ กลวิธี ที่ได้ใช้โฆษณาในการหาเสียงเลือกตั้งที่เข้าใจกันว่าเป็น “นโยบายรัฐบาล” จึงไม่ใช่เป็น “นโยบายรัฐบาล” โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่เมื่อนำมาใช้เป็น “นโยบายรัฐบาล”
หากไม่เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็น “ นโยบายรัฐบาล ” ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะนำมาใช้ให้เป็นนโยบายรัฐบาลหรือจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน หรือตรากฎหมายเพื่อนำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ตามนัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 7, 75 , 76 และ 176

มาตรา 76 ได้บัญญัติให้ “คณะรัฐมนตรี” ต้องจัดทำ“แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” เพื่อแสดงมาตรการและรายละเอียดของแนวทางในการปฏิบัติราชการในแต่ละปีของการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐและเป็นไปตามนัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 176 ดังนั้น “การเข้าบริหารราชการแผ่นดิน” ของคณะรัฐมนตรี “ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน” และ “ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน ” ต้องสอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มิใช่คณะรัฐมนตรีจะนำเอากลยุทธ์โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไว้มาปฏิบัติราชการแผ่นดินได้แต่อย่างใดไม่

การที่ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อใช้ในการปฏิบัติราชการ
ในแต่ละปี ตามมาตรา 76 และ 176 จึงมีปัญหาว่า “ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน” นั้น “ คณะรัฐมนตรี” จะจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน ตามอำเภอใจของคณะรัฐมนตรีหรือของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี และที่ไม่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้น จะทำได้หรือไม่ แผนของการบริหารราชการแผ่นดินนั้น คืออะไรที่รัฐธรรมนูญมาตรา 76 และ 176 บังคับให้คณะรัฐมนตรี “ต้องจัดทำแผนการบริหารราชการแผ่นดิน” เพื่อนำไปปฏิบัติราชการในแต่ละปี

1. 2 จากประวัติความเป็นมาของการปกครองประเทศ “ตามกฎหมาย”แล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้มี แผนแม่บท ( Master- Plan ) หรือพิมพ์เขียวความคิด ( Schema ) การบริหารราชการแผ่นดินทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2502 โดยมีพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ พ.ศ.2502 ออกใช้บังคับ และได้ถูกยกเลิกโดยมีพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2521 ออกใช้บังคับแทนในสมัยพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี (พ.ร.บ.ดังกล่าวออกใช้บังคับก่อนพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2535) แผนการบริหารราชการแผ่นดินทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเป็นกฎหมายใช้บังคับมานานกว่า 50 ปี และมีผลที่ต้องนำมาบังคับใช้ในทางปฏิบัติเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินมาจนทุกวันนี้ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่เรียกว่า “สภาพัฒน์”ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2493 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยใช้ชื่อว่า “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” มีหน้าที่เสนอความเห็น ให้คำแนะนำ และชี้แจงต่อรัฐบาลในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งต่อมาในปี 2502 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น“ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ” ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้จัดทำแผนแม่บท “ พัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ” เป็นแผนแม่บทหรือพิมพ์เขียวทางความคิดฉบับแรกขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืนตั้งแต่ พ.ศ.2504 เป็นต้นมา โดยได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ใช้เป็นหลักพื้นฐานเพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำไปกำหนดเป็น “ นโยบายรัฐบาล ” เป็น “ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน ” ต่อเนื่องกันมาแล้วจำนวน 11 ฉบับ โดยปัจจุบันใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555 - 2559 เป็น “ แผนแม่บทหรือเป็นพิมพ์เขียวความคิดการบริหารราชการแผ่นดิน ” ที่ต้องนำมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามหลักรัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินนั้นพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน( Legitimacy) โดยมีข้าราชการพลเรือน ( Civil Servant ) เป็นผู้กำกับการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ออกใช้บังคับในแต่ละช่วงไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคใดจะเข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อคุ้มครองปกป้องสิทธิของพลเมืองและรัฐนาวาไทย ให้แล่นไปโดยโดยราบรื่น หนักแน่นและมั่นคงซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ความชอบธรรม ( Legitimacy ) ตามจารีต ประเพณีที่ใช้ปฏิบัติมาเป็นเวลากว่า 50 ปี คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล “ต้องจัดทำแผนบริหารราชการแผ่นดิน ” แสดงมาตรการและรายละเอียด และนำไปปฏิบัติราชการในแต่ละปี และรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีต้องจัดให้มีแผนการ ตรากฎหมายที่จำเป็น ” ( Necessary Clause ) ต่อการดำเนินนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 75, 76, 176 ประกอบกับประเพณีการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 และตามพระราชบัญญัติพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2521 หาใช่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินโดยจะทำการตามที่โฆษณาหาเสียงไว้หรือจะออกกฎหมายเพื่อดำเนินการใดได้ตามที่โฆษณาหาเสียงไว้ หรือยินยอมให้รัฐสภาออกกฎหมายตามอำเภอใจของรัฐสภา เพื่อนำมาบริหารราชการแผ่นดินนั้น หาอาจทำได้ไม่

1.2 การใช้กลยุทธ์ กลวิธี ในการโฆษณาหาเสียงมากำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล ภายหลังได้เป็นรัฐบาลแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจกระทำได้ เพราะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยบุคคล หรือคณะบุคคล ซึ่งเป็นการปกครองประเทศในระบบเผด็จการ
การใช้กลยุทธ์โฆษณาหาเสียงมากำหนดเป็นนโยบายรัฐบาล เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนมีสิทธิที่จะให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รัฐบาลไม่มีเอกสิทธิหรืออภิสิทธิ์ใดๆที่จะบริหารราชการแผ่นดินตามกลยุทธ์โฆษณาหาเสียงได้ การไม่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ย่อมเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อการบริหารราชการแผ่นดินได้ดำเนินการไปตามกลยุทธ์ กลวิธีการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งขัดต่อแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และเกิดความเสียหายอย่างมหาศาล จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะต้องตรวจสอบและดำเนินการต่อไป เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้ควบคุมกลยุทธ์ กลวิธี การโฆษณาหาเสียงไว้ให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในขณะที่มีการเลือกตั้ง แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับรับรองการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งที่ไม่ชอบนั้นกลายเป็นชอบ ทำให้ผู้ชนะการเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้นเข้ามามีอำนาจและใช้อำนาจรัฐในการบริหาราชการแผ่นดินได้ จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ปลูก “ ต้นไม้พิษ ” ไว้ให้ในแผ่นดินไทย ต้นไม้พิษย่อมให้ผลที่เป็นพิษ การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดได้ทำลายระบบการเกษตรระบบการค้าเสรี สร้างการทุจริตในกระบวนการของรัฐบาล ซึ่งเป็นพิษร้ายต่อแผ่นดินไทย ฉันใดก็ฉันนั้น

ข้อ 2. ในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลได้หาเสียงเลือกตั้งโดยได้ประกาศนโยบายลงทุนขนาดใหญ่เพื่ออนาคตประเทศไทยหลายโครงการ เช่น โครงการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครโดยการทำเขื่อนลึกลงไปในทะเล เพื่อสร้างเมืองใหม่, พัฒนาระบบน้ำทั้งประเทศ (หาเสียงก่อนมีน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) สร้างรถไฟฟ้า 10 สาย ในกรุงเทพมหานครโดยเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย ทุกสถานีมีที่พักอาศัยในราคาถูกค่าเช่าเดือนละ 1 พันกว่าบาท มีนโยบายสานต่อนโยบายเดิม เช่น ความยากจน การทุจริตคอรัปชั่น พัฒนาและขยายระบบรางคู่รถไฟทั่วประเทศ ทำรถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่ โคราช และระยอง ขยายแอร์พอร์ตลิงค์ไปฉะเชิงเทรา ชลบุรีและพัทยา ทำสะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ในส่วนด้านการเกษตรกำหนดให้เฉพาะเกษตรกรทำนาข้าวโดยการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด และ ฯลฯ

กลยุทธ์ กลวิธี ที่โฆษณาหาเสียงในการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เป็นนโยบายรัฐบาล เพราะยังไม่มีคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาที่จะแถลงนโยบายได้

กลยุทธ์ กลวิธี โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งไม่ใช่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้จดทะเบียนไว้ต่อนายทะเบียน
นโยบายของพรรคการเมืองต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 9 วรรคแรก มาตรา 12 วรรคแรก และมาตรา 13 (2 ) คือไม่ก่อให้เกิดความแตกแยกฯ ไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และในวิธีการหาเสียงเลือกตั้งต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550

นโยบายพรรคเพื่อไทยในด้านการเกษตรที่ได้จดทะเบียนไว้คือ “ การ
ส่งเสริมและสนับสนุน การรักษาคุณค่าและเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มภาคเกษตรกรรมด้วยการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตจากเดิมไปสู่เกษตรกรรมที่ส่งเสริมการปลูกพืชเพื่ออุปโภคและบริโภค หรือเพื่อผลิตพลังงานทดแทน การปรับพื้นที่เกษตรให้เหมาะสมกับประเภทของเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยอุตสาหกรรมการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างรากฐานของระบบเกษตรกรรมอันเป็นภาคการผลิตพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้แข็งแกร่ง มีความยืดหยุ่นต่อความผันผวนของระบบเศรษฐกิจโลกด้วยแนวคิดในการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และความมั่นคงของเหล่าพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ”
นโยบายที่จดทะเบียนไว้นั้นเป็นนโยบายที่ดีเพราะจะมีการพัฒนาทางเกษตรได้อย่างยั่งยืน

การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจึงขัดต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้จดทะเบียนพรรคการเมืองไว้ และขัดกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งไม่สอดคล้องตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน หรือพิมพ์เขียวความคิด ตามแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ซึ่งได้จัดทำขึ้นตามกฎหมายและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันมานานกว่า 50 ปี ตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ.2521 การโฆษณาหาเสียงในการเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสัญญาที่พรรคจะกระทำเมื่อได้รับเลือกเป็นรัฐบาลแล้ว โดยรัฐบาลจะรับจำนำข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าราคาตลาดทั้งในประเทศและราคาตลาดโลก อันเป็นการเสนอให้หรือสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์แก่ชุมชนชาวนาทั่วราชอาณาจักร โดยเลือกปฏิบัติให้ประโยชน์เฉพาะเกษตรกรที่เป็นชาวนา ซึ่งเป็น “ชุมชนใหญ่ของเกษตรกร” ทั่วประเทศเท่านั้น จึงเป็นการเลือกปฏิบัติต่อเกษตรกรอย่างไม่เท่าเทียมกัน และปฏิบัติต่อชุมชนชาวนาอย่างไม่เท่าเทียมกัน เพราะชุมชนชาวนาที่ปลูกข้าวนาปลังและนาปี มีความได้เปรียบเสียเปรียบกันในเชิงปริมาณข้าวที่นำมาจำนำได้

กลยุทธ์ กลวิธี โฆษณาหาเสียงโดยรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดในราคาที่แพงกว่าราคาตลาดโลก ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการรับจำนำนั้นจะมิได้มีแต่เฉพาะชุมชนชาวนาไทยเท่านั้น แต่เป็นการรับจำนำข้าวจากชาวนาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะข้าวทุกเมล็ดไม่มีสัญชาติว่าเป็นข้าวของชาติใด จากปริมาณข้าวทั้งในและนอกประเทศที่ไม่อาจคำนวณปริมาณที่รับจำนำได้ การทุจริตโดยถ่ายเทข้าว การหมุนเวียนจำนำข้าว การแสวงหาประโยชน์ในโครงการรับจำนำโดยนำเข้าข้าวจากนอกประเทศในราคาต่ำมาจำนำในราคาสูง หรือกระบวนการรับจำนำข้าวรัฐบาลไม่อาจดำเนินการทั้งประเทศได้โดยลำพังของรัฐบาล แต่ต้องพึ่งพาภาคเอกชนให้ช่วยดำเนินการในกระบวนการรับจำนำด้วยแล้ว โครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นโครงการที่มีการวางแผนเพื่อการทุจริตเงินภาษีอากรของแผ่นดิน โดยมีเกษตรกรชาวนาเป็นตัวประกันการทุจริตในโครงการรับจำนำดังกล่าว

กลยุทธ์ กลวิธี โฆษณาหาเสียงเพื่อการเลือกตั้งดังกล่าว เท่ากับเป็นการประกาศว่า เมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะดำเนินการผูกขาดตัดตอนการค้าข้าวโดยเสรีโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงรายเดียว อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 84 เพราะรัฐบาลมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี หรือพรรคการเมืองมีนโยบายหรือดำเนินการเป็นผู้ผูกขาดตัดตอนการแข่งขันการค้าเสรีของประชาชนภายหลังได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลแล้วได้แต่อย่างใดไม่ การหาเสียงในการเลือกตั้งที่มิใช่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองและเป็นนโยบายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว การหาเสียงโดยรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจึงเป็นการหาเสียงในระบบประโยชน์นิยม (utilitarianism ) และให้ประโยชน์เฉพาะเกษตรกรที่เป็นชาวนาไม่ว่าจะเป็นชาวนาไทยหรือชาวนาเทศ การหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการหาเสียงตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งต้องหาเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ( public purpose) ของคนในชาติอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลการบริหารราชการแผ่นดินก็ได้บริหารราชการแผ่นดินตาม “ระบบประโยชน์นิยม” โดยมีนโยบาย เรื่อง บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก โดยใช้ปัจจัยพื้นฐานของบุคคลที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์มาเป็นตัวกำหนดที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินตามระบบประโยชน์นิยมนั้นมีความชอบธรรม การบริหารราชการแผ่นดินตาม “ระบบประโยชน์นิยม” ไม่ใช่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยที่ต้องพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคคลแบบยั่งยืน

การหาเสียงเลือกตั้ง มีการแยกประชาชนเป็นชนชั้นอำมาตย์และชนชั้นไพร่มาตั้งแต่การเลือกตั้งจนถึงการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดสัญลักษณ์การแบ่งแยกชนชั้นเป็นพวกเสื้อแดง จัดตั้งหมู่บ้านคนเสื้อแดง มีโรงเรียนเพื่ออบรมคนเสื้อแดง ใช้กองกำลังคนเสื้อแดงเป็นเอกลักษณ์ทั้งในการบริหารราชการแผ่นดินและในการหาเสียงเลือกตั้ง จนคนเสื้อแดงกลายเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ มีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนโดยทั่วไป และกลายมาเป็นกองกำลังที่เข้าไปจัดการหรือขัดขวางในภารกิจที่รัฐบาลไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมายและตามอำเภอใจ เป็นช่องทางให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจนอกกฎหมายได้ทั้งโดยตรง โดยทางอ้อม และโดยปริยาย และเมื่อปรากฏเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและนอกประเทศว่า ทุกภาคส่วนของการเลือกตั้งและทุกส่วนของการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในอาณัติของบุคคลที่มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง กรรมการพรรคการเมืองและคณะรัฐมนตรีทั้งก่อนเป็นรัฐบาลและภายหลังเป็นรัฐบาล การบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาล จึงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินตาม “ ลัทธิบูชาบุคคล ” ( Cult personality ) ซึ่งเป็นไปตามสโลแกนในการเลือกตั้งที่ได้ประกาศโฆษณาในทำนองว่าไว้แล้ว “คนคิดไม่ต้องทำ คนทำไม่ต้องคิด” การเลือกตั้งและการบริหารราชการแผ่นดินตาม “ ลัทธิบูชาบุคคล ” ไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งและการบริหารราชการแผ่นดินตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักความชอบธรรม (Legitimacy) ตามกฎหมายและจารีตประเพณีตามหลักรัฐประศาสนศาสตร์ ไม่มีบรรทัดฐาน( Norm ) ของความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรีในทางกฎหมาย ทางการเมืองและทางสังคม ไม่มีบรรทัดฐานของความรับผิดชอบของรัฐสภาและรัฐบาลในแผนการตรากฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญได้บังคับให้ “ ตรากฎหมายที่จำเป็น ” ( Necessary Clause ) เท่านั้นในการดำเนินการตามนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตาม “ ลัทธิบูชาบุคคล ” และได้ตรากฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนบุคคล การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ และเป็นการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นปรปักษ์ต่อการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองประเทศในระบอบทรชนาธิปไตย ( KAKISTOCRACY )

ข้อ 3. ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจและเป็นทรัพยากรทางอาหารที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารของประเทศและของมนุษยชาติ กลยุทธ์ กลวิธี โฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดในราคาสูงกว่าตลาดโลก และดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินไปตามที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้โดยรับจำนำข้าวทุกเมล็ด เป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ว่า เกษตรกรผู้จำนำข้าวจะไม่ไถ่ถอนการจำนำ จึงเป็นการที่รัฐบาลรับซื้อข้าวไว้ทั้งหมด อันเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงต่อเสรีทางการค้าของประเทศในโลกเสรี รัฐบาลต้องรับภาระเป็นผู้เก็บรักษาและการจัดจำหน่าย ซึ่งก็ไม่อาจจำหน่ายได้ในราคาที่รับจำนำเพราะเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง รัฐบาลต้องใช้เงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลภายหลังที่ได้เป็นรัฐบาลและเข้าบริหารราชการแผ่นดินเพื่อตอบแทนการได้มาซึ่งการเป็นรัฐบาลตามที่ได้โฆษณาให้สัญญาไว้ในการเลือกตั้ง การโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยสัญญาจะให้หรือจะทำโครงการ ซึ่งไม่ใช่เป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมืองและไม่ใช่นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ขัดต่อแผนบริหารราชการแผ่นดินที่ได้ทำไว้ตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 เพราะเพียงเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง โดยไม่ได้คำนึกถึงรายได้และรายจ่ายประชาชาติ ( National income and expenditure ) แล้ว การใช้เงินเพื่อตอบแทนตามกลยุทธ์ กลวิธี ที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้ จึงเป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวม แต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อตอบแทนที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล จึงเป็นการใช้เงินแผ่นดินตามระบบ ผลาญเงินของชาติ
( boondoggling ) ซึ่งอยู่ในข่ายของการบริหารราชการแผ่นดิน โดยขัดต่อรัฐธรรมนูญส่วนที่ 3 มาตรา 78 ( 1 ) ( 4 ) ( 6 ) ส่วนที่ 7 มาตรา 83 , 84 มิใช่เป็นแผนการบริหารราชการแผ่นดินตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด


ข้อ 4. ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากกลยุทธ์ กลวิธีโฆษณาหาเสียงโดยสัญญาจะให้แก่เกษตรกรเฉพาะชุมชนชาวนาซึ่งเป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศก็ตาม เมื่อมีความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการปฏิบัติตาม กลยุทธ์ กลวิธี โฆษณาหาเสียงดังกล่าว จึงเป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการหาเสียงเลือกตั้ง ( Electioneering ) ซึ่งเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 ( 1 ) ( 2 ) ซึ่งมีโทษทางอาญาในขณะกระทำการเลือกตั้ง และมีผลต่อเนื่องเกี่ยวพันมาเป็นการบริหารราชการแผ่นดิน จึงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าว จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามกฎหมาย เพราะเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ อันเป็นความผิดตามมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการต่อพรรคการเมือง กรรมการพรรคการเมืองและ/หรือสมาชิกพรรคการเมืองตามอำนาจหน้าที่ โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิทางคณะกรรมการเลือกตั้งได้ประการหนึ่ง

และเมื่อปรากฏผลมีความเสียหายเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดิน อันเป็นการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งต้องรับผิดในทางอาญาประการหนึ่ง และเมื่อการรับจำนำข้าวเป็นกลยุทธ์ กลวิธี ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งไม่อาจนำมากำหนดเป็น “ นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ” หรือ “ นโยบายรัฐบาล ” ได้ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดจึงไม่ใช่เป็นความเสียหายอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินหรือตามนโยบายรัฐบาล ในความหมายของคำว่า “ นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน ” หรือ“ นโยบายรัฐบาล ” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรีและพรรคการเมืองที่ร่วมกันบริหารราชการแผ่นดิน จึงอยู่ในข่ายที่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องข้าวหาย ข้าวเน่า ความไม่สมดุลของเงินที่ใช้รับจำนำและที่ได้จากการระบายข้าวที่จำนำ ตลอดจนประโยชน์ที่ชาวนาได้รับจากการนำข้าวมาจำนำ อันเป็นความเสียหายที่ต้องรับผิดในทางแพ่งเป็นการส่วนตัวด้วยอีกประการหนึ่ง


18 ก.ค. 56
กำลังโหลดความคิดเห็น