สน.พระอาทิตย์/สามยอด
กำลังกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในแวดวงสีกากี
หลังจากพล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล(รองผบช.สกพ.) และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยื่นประวัติและผลงานสมัครเข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่ง “ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ” หรือ “ผบช.รร.นรต.” ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ประกาศรับสมัครข้าราชการตรวจ เพื่อดำรงตำแหน่ง ผบช.รร.นรต. แทนพล.ต.ท.อารีย์ อ่อนชิต ผบช.รร.นรต.ที่จะขยับขึ้นตามลำดับอาวุโสเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่
รวมทั้งเริ่มมีกลิ่นตุตุในการคัดเลือกแบบไม่ชอบมาพากล
การกรอกประวัติและผลงานสมัครเข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่ง ผบช.รร.นรต. ของพล.ต.ต.ปิยะ ไม่ได้ผิดกฎ ผิดกติกา อะไร และเป็นสิทธิที่สามารถทำได้
แต่สิ่งที่ทำให้เกิดข้อฉงนสนเท่ห์ คือ การที่สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อย มีการปรับแก้ประกาศคุณสมบัติผู้รับสมัครคัดเลือกดำรงตำแหน่ง ผบช.รร.นรต. ที่เดิมกำหนดให้ รองผบช.ที่จะยื่นความจำนงสมัครเข้ารับตำแหน่งต้องเป็น รองผบช. มาไม่น้อยกว่า 2 ปีตาม กฏคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) แต่ว่ากันว่า เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อย มีการประชุม และยกเลิกประกาศสภาฯฉบับเดิม และออกประกาศฉบับใหม่
โดยมีการตัดทิ้งข้อกำหนด รองผบช. ที่จะสมัครเข้าคัดเลือกเป็น ผบช.รร.นรต. ต้องดำรงตำแหน่ง รองผบช.มาไม่น้อยกว่า 2 ปีทิ้งไปอย่างมีลับลมคมใน
ทั้งที่ประกาศสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เรื่องการคัดเลือกผู้มีสิทธิดำรงตำแหน่ง ผบช.นรต. ฉบับที่ออกมาก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2556 ลงนามโดย พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต นายกสภาการศึกษาโรงรียนนายร้อยตำรวจ เพิ่งกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเป็น ผบช. ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.รร.นรต.และกฎก.ตร.ว่าด้วยการหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผบ.ตร. พ.ศ.2549 ด้วย
จากนั้นพอวันที่ 2 ก.ค.2556 ก็มีประกาศฉบับใหม่ ตัดคุณสมบัติข้อนี้ออก โดยอ้างว่าฉบับเดิมมีการกำหนดคุณสมบัติที่เข้าข่ายลิดรอนสิทธิ
การเปลี่ยนกฎ กติกาครั้งนี้ ไปสอดรับกับคุณสมบัติของ พล.ต.ต.ปิยะ ที่ดำรงตำแหน่ง รองผบช.สกพ.ไม่ครบ 2 ปี เพราะเพิ่งขยับจากตำแหน่ง ผู้บังคับการกองสารนิเทศ(ผบก.สท.) ขึ้นเป็น รองผบช.สกพ. เพียงแค่ปีเดียว
ทำให้เมื่อมีการยกเว้นหลักเกณฑ์ พล.ต.ต.ปิยะ ก็สามารถยื่นใบสมัครเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในการคัดเลือกเป็น ผบช.รร.นรต.ได้พอดิบพอดี
ต้องยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนกฎ กติกา ครั้งนี้เหมือน “ล็อคสเปก”เอื้อพล.ต.ต.ปิยะมากกว่าคนอื่น ก็เพราะพล.ต.ต.ปิยะ มีความใกล้ชิด พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้นำสีกากีอย่างมาก จนพล.ต.อ.อดุลย์ มอบหมายให้เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งพล.ต.ต.ปิยะก็มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดขั้วการเมือง เนื่องจากดีกรีดอกเตอร์ที่เข้าตา จนได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญทั้ง พล.ต.อ.อดุลย์ และฝ่ายการเมืองก็เข้ามาบทบาทสำคัญในสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มานั่งเก้าอี้ เป็น นายกสภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีพล.ต.อ.อดุลย์ ทำหน้าที่ อุปนายกสภาการศึกษา นายอภิชาต จิระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน นายวรวิทย์ จำปิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการโรงเรียน รวมทั้งประธานสภาคณจารย์ เป็น กรรมการโดยตำแหน่ง มีพล.ต.ท.อารีย์ อ่อนชิต ผบช.รร.นรต. เป็น เลขานุการ
นอกจากนี้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 9 ด้าน เป็นกรรมการสภา ประกอบด้วย ด้านการศึกษา ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาลี ด้านนิติศาสตร์ นายธนพิชญ์ มูลพงษ์ ด้านรัฐศาสตร์ ผศ.ดร.สมศักดิ์ ดำริชอบ ด้านเศรษฐศาสตร์ นายอาคม เติมพิทยาไพไพสิฐ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ รศ.ดร.สุจิตร บุณยรัตพันธุ์ ด้านอาชญาวิทยา นายนันธี จิตสว่าง ด้านการบริหารงานยุติธรรม รศ.ดร.พรเพ็ญ เพชรสุขศิริ ด้านนิติวิทยาศาสตร์ พล.ต.ท.ดร.ณรงค์ กลนิเทศ และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ผศ.ดร.นพดล อินนา
ความพยายามในการผลักดัน พล.ต.ต.ปิยะ ขึ้นผบช.ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งถือเป็นช่องทางพิเศษช่องทางเดียวที่พล.ต.ต.ปิยะ จะสามารถขยับขึ้น ผบช.ติดยศพล.ต.ท. ได้อย่างเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไปตามขั้นตอนการเสนอเข้าที่ประชุม ก.ตร.ขึ้นเป็น ผบช.ในตำแหน่งอื่นๆ ก็จะติดหลักเกณฑ์ ก.ตร. เนื่องจาก พล.ต.ต.ปิยะ เป็น รองผบช.สกพ. เพียงปีเดียว และหากจะแก้ให้เพื่อเอื้ออำนวย พล.ต.ต.ปิยะ ก็จะกระทบภาพรวมเป็นวงกว้าง การเลือกเจาะจงมาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งมีพ.ร.บ.เฉพาะของตัวเอง จึงเป็นหนทางเป็นไปได้มากที่สุด
แต่ความเป็นไปได้ก็ไม่ใช่สิ่งที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะมีแรงสนุบสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองและพล.ต.อ.อดุลย์จริงๆก็ตาม แต่พล.ต.ต.ปิยะก็ต้องแข่งขันกับพล.ต.ต.วิศิษฐ์ เอมประณีตร์ รองผบช.รร.นรต. ซึ่งยื่นประวัติและผลงานสมัครเข้ารับการคัดเลือกดำรงตำแหน่ง ผบช.รรร.นรต.เช่นเดียวกัน
ซึ่งดูเหมือนว่าความได้เปรียบของ พล.ต.ต.วิศิษฐ์ ที่มีมากกว่า พล.ต.ต.ปิยะ คือ ความเป็นลูกหม้อโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และความอาวุโสในระดับ รองผบช. ที่อยู่ในลำดับ 35 จากทั่วประเทศ และลำดับ 1 ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และจะเกษียณราชการในปี 2558 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่พล.ต.ต.ปิยะ อาวุโสระดับ รองผบช. อยู่ในระดับหลัก 80 กว่าๆ เป็น นรต.รุ่น 38 เกษียณราชการอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้ง “ผบช.รร.นรต.”ครั้งนี้ จะหมดสิ้นคำครหาคงต้องอยู่ที่สภาการศึกษาโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่มีพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน และพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ทำหน้าที่อุปนายกฯ จะพิสูจน์ความโปร่งใส ความเป็นธรรมให้ลูกน้องสีกากีได้เห็น
ไม่เช่นนั้นแล้วแม้แต่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ แหล่งผลิต “สุภาพบุรุษโล่เงิน”ยังไม่มีความเป็นธรรมเกิดขึ้น หน่วยอื่นๆ ที่จะมีการแต่งตั้งในวันที่ 24 ก.ค.นี้ ก็ไม่ต้องไปหวังคำว่า“คุณธรรม”แล้ว.