xs
xsm
sm
md
lg

คณะทำงานพรรคร่วมฯ ค้านลงประชามติก่อนยกร่าง เล็งยก ม.309 อ้างแก้ รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ (แฟ้มภาพ)
เปิดรายงานพรรคร่วมฯ มุ่งล่อเป้า ม.309 ชำเรา รธน. อ้างทำประกาศ คมช.อยู่เหนือ กม.สูงสุด การบังคับใช้มีปัญหาตั้งแต่ รบ.สมัคร-มาร์ค จนต้องตั้ง กก.ศึกษาแก้ไข ค้านลงประชามติก่อนยกร่าง เหตุแค่ความเห็น 2 ตุลาการ


ผู้สื่อข่าวรายงานถึงเนื้อหาของรายงานที่คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งได้จัดทำรูปเล่มและส่งให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลแล้ว โดยมีการแบ่งประเด็นพิจารณา ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ปัญหาสำคัญโดยรวมของรัฐธรรมนูญ 2550 2. สาระสำคัญและความเห็นคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาล ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และ 3. การดำเนินการลงมติของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระที่ 3

โดยในประเด็นปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ รายงานของพรรคร่วมรัฐบาลระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นต้นเหตุของการเกิดความขัดแย้ง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ยึดมั่นในวิถีรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากมีที่มาจากการรัฐประหาร นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังไม่ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม เนื่องจากมีการแต่งตั้งองค์กรอิสระจากประกาศของคณะรัฐประหารเพื่อมาดำเนินการเอาผิดบุคคลอย่างไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการบัญญัติให้มีรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่สิ่งที่กระทำกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ซึ่งขัดหลักประชาธิปไตยและไร้เมตตาธรรมยังดำรงอยู่ต่อไป โดยไม่มีการคืนความถูกต้องชอบธรรมให้ นอกจากนี้ มาตรา 309 เป็นการทำลายหลักที่ว่ารัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุด เนื่องจากทำให้ประกาศของคณะรัฐประหาร และคำสั่งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เพราะมีมาตรา 309 ระบุให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะผ่านการทำประชามติจากประชาชน 14 ล้านเสียง แต่ภายหลังการประกาศใช้กลับพบว่ามีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 และมีการนำเสนอแนวทางแก้ไขออกมาเป็นระยะ ทั้งในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาอยู่จริง

ในส่วนของสาระสำคัญและความเห็นคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น รายงานระบุว่า คณะกรรมการมีความเห็นตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า ให้มีการทำประชามติก่อนพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการลงประชามติก่อนการยกร่าง เนื่องจากเห็นว่าเป็นความเห็นส่วนของ นายเฉลิมพล เอกอุรุ และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียง 2 คนเท่านั้น ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ได้บัญญัติเรื่องการลงประชามติไว้แล้ว แต่เป็นการลงประชามติก่อนที่จะเป็นกฎหมาย กล่าวคือ เมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว จะนำไปให้ประชาชนลงประชามติว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นชอบและพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วก็จะเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็จะตกไป ดังนั้นจึงสอดคล้องกับคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนญ

“หลักการในการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ค้างอยู่ในวาระ 3 เป็นวิธีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรง ตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่าง ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยตรง จากนั้นเป็นการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ ดังนั้นการที่รัฐสภาจะเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขในวาระ 3 จึงสามารถกระทำได้โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อคำวินิจฉัยหรือคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด” รายงานของพรรคร่วมระบุ

ทั้งนี้ ในรายงานยังระบุถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับความวุ่นวายหากรัฐสภามีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เพราะจะมีบุคคลออกมาต่อต้านและอาจยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา ในประเด็นของการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ซ้ำอีก ดังนั้น คณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความเห็นว่า สมควรให้มีการลงประชามติก่อนการโหวตรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 แต่ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการลงประชามติ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ว่าจะเป็นออก พ.ร.บ.เฉพาะ หรือการดำเนินการของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากเป็นกรณีของคณะรัฐมนตรี สามารถทำได้ 2 แนวทาง คือ การขอข้อยุติหรือขอคำปรึกษา ทั้งนี้ การขอข้อยุตินั้นต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ โดยคณะทำงานฯ มองว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเป็นการขอคำปรึกษาจะใช้เพียงเสียงข้างมากของผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติ

“แม้จะให้มีการออกเสียงประชามตินั้น จะเป็นความปรารถนาดี แต่จะอธิบายยากว่าหากร่างรัฐธรรมนูญ ที่เสนอโดย ส.ส., ส.ว. หรือภาคประชาชนเข้าชื่อ จะสามารถทำประชามติก่อนยกร่างหรือระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาได้อย่างไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติกรณีเหล่านี้ไว้ ดังนั้นคณะทำงานเห็นว่า ควรมีการเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้มีการออกเสียงประชามติอีก 1 ฉบับหรือแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 โดยให้ระบุเพิ่มเติมถึงการทำประชามติ กรณีจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากทำในขณะนี้จะทำให้การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต้องชะลอออกไปจนกว่าการพิจารณากฎหมายหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 จะแล้วเสร็จ”

สำหรับการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 นั้น ความเห็นตามรายงานระบุว่า สามารถลงมติได้ เพราะในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการระบุชัดว่าห้ามรัฐสภาเดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 และมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นมุ่งเน้นไปที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ ส.ส.ร.จะจัดทำขึ้นว่ามีบทบัญญัติใดที่มีผลเป็นการต้องห้ามหรือล้มล้างการปกครองหรือไม่มากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น