สน.พระอาทิตย์/สามยอด
การประกาศลำดับอาวุโสตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการ(รอง ผบช.) ถึง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) ที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว แม่ทัพใหญ่สีกากี สะบัดปากาช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
เป็นสัญญาณการเข้าสู่ห้วงเวลาการแต่งตั้งตำรวจระดับนายพล วาระประจำปี 2556
ตามปฏิทินเดิม สมัยร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รับผิดชอบคุมสำนักปทุมวัน ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.)นั้น วางคิวการแต่งตั้งประจำปีไว้คร่าวๆ เริ่มจากวันที่ 5 ก.ค.2556 ประกาศลำดับอาวุโส และเปิดโอกาสให้ตำรวจที่มีรายชื่อในลำดับอาวุโส หากเห็นว่าลำดับอาวุโสไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องต่อสำนักงานกำลังพลพิจารณาทบทวนได้ ภายใน 7 วัน จากนั้นจะเริ่มทำบัญชีการแต่งตั้งระดับนายพลล็อตแรก ยศ พล.ต.ท.ขึ้นไป ตำแหน่ง ผู้บัญชาการ(ผบช.) ถึง รองผบ.ตร. ระหว่างวันที่ 10-15 ก.ค.2556
แต่พอการเมืองมีการเปลี่ยนแปลง รัฐบาล ปรับคณะรัฐมนตรี(ครม.)ปู 5 สลับหน้าผู้ที่มาดูแลงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติใหม่ จากร.ต.อ.เฉลิม มาเป็น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต อ.ตร. คนสุดท้าย และอดีตผบ.ตร.คนแรกของสำนักปทุมวัน และพล.ต.อ.อดุลย์ ประกาศลำดับอาวุโสตำรวจระดับ รองผบช.-รองผบ.ตร. ออกมาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา
คงต้องจับตาว่าปฏิทินการแต่งตั้งนายพลที่วางกันไว้ จะมีอะไรปรับเปลี่ยนหรือไม่ ทั้งวัน เวลา กำหนดการต่างๆ
โดยเฉพาะ “โผแต่งตั้ง” ที่เชื่อกันว่าเมื่อฟ้าเปลี่ยนสี แวดวงสีกากีเปลี่ยนคนคุม บัญชีรายชื่อก็ต้องมีการเปลี่ยนปลงเป็นสัจธรรม ตำรวจที่มีความใกล้ชิด “อินทรีอีสาน” พล.ต.อ.ประชา น่าจะได้ผงาดขึ้นในตำแหน่งหลักๆ
และมีบทบาทในการทำงานขับเคลื่อนนโยบายของอินทรีอีสานมากขึ้น เพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีการหวนกลับมาคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง แม้ไม่ใช่ในฐานะผู้ปฎิบัติเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ขยับใหญ่มาในฐานะคุมงานนโยบาย ก็คงต้องไว้ลายไอ้เสือเก่าไม่ให้น้อยหน้าอดีตสารวัตรกองปราบอย่างร.ต.อ.เฉลิม
ยิ่งปีนี้ตำแหน่งระดับ “นายพล”ในสำนักปทุมวัน มีตำรวจระดับนายพลเกษียณอายุราชการมากถึง 117 ตำแหน่ง ตัดส่วนแค่ระดับ ผบช. ถึง รองผบ.ตร. ก็ว่างทั้งสิ้น 34 ตำแหน่ง
แยกเป็น รองผบ.ตร. 5 ตำแหน่ง ผู้ช่ววยผบ.ตร. 11 ตำแหน่ง ผบช. 18 ตำแหน่ง ไม่นับรวมการโยกระนาบอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่า น่าจะมีเยอะอยู่เหมือนกัน เพราะนโยบายพล.ต.อ.อดุลย์ ไม่ได้ให้ทำบัญชีแต่งตั้งนอกฤดู ก็เลยต้องยกยอดมาประจำปีทั้งหมด
เด็กใคร สายไหน มีผลงาน ไร้ผลงาน โดนโทษ ถูกหมายหัว จะปรากฏในการโยกย้ายครั้งนี้อย่างชัดเจนที่สุด!!!
แม้ทุกสายตาจะมองกันว่าเด็กสายพล.ต.อ.ประชา น่าจะผงาดยกแผง โดยเฉพาะ นรต.35 รุ่นเดียวกับพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ที่ปรึกษา(สบ.10) ลูกเขยใหญ่อินทรีอีสาน แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะหวือหวาถึงขนาดยกโขยง เพราะสไตล์การทำงานของ พล.ต.อ.ประชา ไม่หวือหวาเท่า ร.ต.อ.เฉลิม การจะทุบโต๊ะขอคนตัวเองเป็นเป็นบัญชีหางว่าวคงๆไม่น่าจะเกิดขึ้น
ตั๋วที่เคยว่ากันว่าถูกส่งแยกสายแยกกอ ตั๋วนายใหญ่ ตั๋วทำเนียบ ตั๋วบางบอน ตั๋วตร. น่าจะถูกลดทอนลง ไม่เช่นนั้นนายใหญ่ดูไบคงไม่ส่งพล.ต.อ.ประชา ซึ่งสนิทสนมกับพล.ต.อ.อดุลย์ ในฐานะนายกับลูกน้องเก่ามาประสานงานจับมือกันบริหารสำนักปทุมวัน
ซึ่งน่าจะเหลือเพียง ตั๋วนายใหญ่ ตั๋วทำเนียบ ส่วนตั๋วประชาคงถูกนำมามัดรวมกับอดุลย์ ซึ่งก็จะทำให้ส่วนแบ่งไปเพิ่มขึ้นทางฝ่ายการเมือง
ตำรวจสายการเมือง ที่ใช้บริการ “ตั๋วทักษิณหญิงอ้อ” น่าจะได้ผงาดยกแผง หรือไม่ก็ยังรักษาฐานที่มั่นในตำแหน่งสำคัญไว้เหนียวแน่น หรือโยกมาอยู่ตำแหน่งที่สำคัญมากกว่า นรต.35 เด็กสายตรงพล.ต.อ.ประชา
ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.ภ.2 หลานเขยคุณหญิงอ้อ พจมาน ณ ป้อมเพช็ร อดีตภรรยาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่คาดว่าจะขยับขึ้น ผู้ช่วย ผบ.ตร. เพื่อปูทางเป็นใหญ่ในอนาคต พล.ต.ท.หาญพล นิตย์วิบูลย์ ผบช.ภ.7 ลูกน้องคนสนิทพล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตผบ.ตร. อาจโยกมาคุมงานปราบปรามยาเสพติด พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผบช.ภ.4 สายพ.ต.ท.ทักษิณ โยกมาคุมทะเลตะวันออกเป็น ผบช.ภ.2
พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. ผลงานการทำคดีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล เข้าตาได้โบนัสผงาดตำแหน่งหลัก นั่ง ผบช.ภ.3 พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น ผบช.สพฐ. ดีกรีดอกเตอร์ที่ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากพ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไปสะดุดขาเด็กเจ๊เลยกระเด็นกระดอนมาอยู่ สพฐ. ตอนนี้เคลียร์ปัญหาได้แล้ว ขยับไปเป็น ผบช.ภ.6
ส่วน นรต.35 หรือสายพล.ต.อ.ประชา ก็น่าจะขึ้นมาสอดแทรกเพียงบางส่วน ยกเว้นพวกที่นอกจากอิงรุ่น 35 เด็กในบ้าน “ประชา” แต่ก็มีตั๋วการเมืองระดับนายใหญ่ นายหญิง หรือซูสีจันทร์ส่องหล้า หรือเจ๊แดงจากทางเหนือ สนับสนุนสมทบก็คงได้เชิดหน้าชูตาสมใจ อย่างพล.ต.ท.ธีระศักดิ์ กลิ่นพงษา ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. อดีตนายเวรพล.ต.องประชา ขยับไปคุมอีสานนั่งเก้าอี้ ผงบบช.ภ.4 พล.ต.ต.วิรุฬ เอี่ยมไพจิตร์ รองผบช.ภ.1 ขึ้นแค่ ผบช.ประจำสง.ผบ.ตร.เท่านั้น
ขณะที่ในระดับ รองผบ.ตร. และผู้ช่วย ผบ.ตร. ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะตามกฎก.ตร.ต้องขยับเรียงลำดับอาวุโส ซึ่งเมื่อพล.ต.อ.อดุลย์ ประกาศลำดับอาวุโสออกมาเช่นนี้ ตำแหน่งที่ปรึกษา(สบ.10) เทียบเท่า รองผบ.ตร. ที่จะได้โยกมาอยู่ตำแหน่ง รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ 3 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งหลัก คงเป็น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ มือกฎหมายที่พล.ต.อ.ประชาเคยใช้งานเป็นกระบอกเสียงตำรวจสมัยเป็น ผบ.ตร. พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง และพล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ปล่อยให้พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ น้องชายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ยังเป็นที่ปรึกษา(สบ.10) ตามเดิม ไม่มีสิทธิ์เข้าเป็น ก.ตร.โดยตำแหน่ง
ผู้ช่วย ผบ.ตร. ก็ขยับไล่เรียงตามอาวุโส มีพล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ผบช.สกบ. พล.ต.ท.อุดม ชัยมงคลรัตน์ จเรตำรวจ พล.ต.ท.อารีย์ อ่อนชิต ผบช.รร.นรต. พล.ต.ท.อำนาจ อันอาตม์งาม ผบช.สยศ.ตร. พล.ต.ท.ชัยยง กีรติขจร จเรตำรวจ พล.ต.ท.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ จเรตำรวจ พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอำพันธุ์กุล จเรตำรวจ พล.ต.ท.วันชัย ถนนัดกิจ ผบช.ภ.6 พล.ต.ท.มล.พันธศักดิ์ เกษมสันต์ จเรตำรวจ พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ท.เจษฎา อินทรสถิตย์ ผบช.สง.นรป. ยกเว้นเข้าโค้งสุดท้ายอาวุโสอาจโดนตัดทอนลง เพื่อเปิดทางให้ “ขาใหญ่”บางรายสอดแทรกก็มีโอกาสเป็นไปได้
ไม่อยากจะคิดว่าอาการ “ปรี๊ดแตก”!!! ของร.ต.อ.เฉลิม ตั้งแต่รู้ว่าตัวเองพ้นจากการคุมงานตำรวจไปเป็น รมว.แรงงาน ก่อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจประจำปี จะเกี่ยวข้องกันหรือไม่
แต่ใครๆก็รู้เค้กก้อนงามในการแต่งตั้งตำรวจแต่ละครั้ง ช่างมหาศาลและสบายกระเป๋าขนาดไหน.