xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเตือน “โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม” ทนาย นปช. ระวังหมิ่นศาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการนำผู้กำกับสืบสวน บก.น.1 เบิกความ ระบุเสื้อแดงจัดกิจกรรมเทเลือดหน้าทำเนียบรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ และ 10 เม.ย. 53 ทหารปะทะเดือด กองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่แยกคอกวัว มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ตรวจสอบพบมีการใช้อาวุธสงคราม ระเบิด M 79 ด้านศาลเตือน “โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม” ที่ปรึกษา นปช.ให้สัมภาษณ์ไม่เหมาะสม กระทบการพิจารณาคดีของศาลไทย หากมาฟังอีกจำเลยต้องแจ้งให้ศาลทราบ

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 20 พฤษภาคม 2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลได้กล่าวเตือนกรณีการให้สัมภาษณ์ของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ที่ปรึกษาทางกฎหมาย นปช. ที่ให้สัมภาษณ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีก่อการร้ายต่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่ชาวต่างชาติพูดให้สัมภาษณ์กระทบเกี่ยวกับการพิจารณาคดีของศาลไทย และในการสืบพยานครั้งหน้าหากมีชาวต่างชาติมาร่วมรับฟังการพิจารณาคดี จำเลยจะต้องแจ้งให้ศาลทราบด้วย

จากนั้นอัยการโจทก์ก็ได้แถลงต่อศาลว่า ในวันนี้นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยานโจทก์ปากที่ 2 ติดราชการไปต่างประเทศ ไม่สามารถมาเบิกความต่อศาลได้ พร้อมกับให้ พ.ต.อ.ศณิศร์ชัย มหินทรเทพ ผกก.สส. บก.น.1 พยานโจทก์ปากที่ 3 ขึ้นเบิกความสรุปว่า ได้รับมอบหมายให้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ประกอบด้วย สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สามเหลี่ยมดินแดง โดยการสืบสวนหาข่าวและจำนวนคนของผู้ชุมนุม ซึ่งผู้ชุมนุม นปช.ได้เริ่มมาชุมนุมกันตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2553 เพื่อต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยที่บริเวณสะพานผ่านฝ้าลีลาศ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เริ่มทยอยมากันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีกิจกรรมต่างๆจำนวนมาก อาทิ การเทเลือดที่ทำเนียบรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2553 กลุ่มผู้ชุมนุมได้แยกไปชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ โดยมีการตั้งเวทีปราศรัยด้วย

พ.ต.อ.ศณิศร์ชัยเบิกความต่อว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ได้บุกไปยังรัฐสภาจนกระทั่งรัฐบาลก็ได้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในวันดังกล่าว กระทั่งเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ในช่วงบ่าย รัฐบาลได้ประกาศขอคืนพื้นที่บริเวณแยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน ทำให้มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะนั้นรัฐบาลก็ได้นำกำลังทหารเข้าไปอยู่ในพื้นที่การชุมนุม ซึ่งตำรวจไม่สามารถเข้าไปได้ แต่ทราบว่ามีการปะทะกันในหลายจุด เช่น หน้ากองทัพภาคที่ 1 อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกคอกวัว ทำเนียบรัฐบาล สะพานมัฆวานรังสรรค์ สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งแต่ละจุดมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก หลังเหตุการณ์สงบตนได้เข้าไปตรวจสอบในบางพื้นที่พบว่ามีการใช้อาวุธสงคราม เช่น ระเบิดเอ็ม 79 และอาวุธปืนเอ็ม 16 และได้รับรายงานว่าการปะทะกันในวันดังกล่าวมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายปะปนอยู่ด้วย จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งหมดก็ได้ยกเลิกการชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และได้ไปรวมตัวกันชุมนุมที่แยกราชประสงค์แทน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเหนือเขตรับผิดชอบอำนาจหน้าที่ของตน

ภายหลังเบิกความเสร็จแล้ว ทนายความจำเลยได้แถลงต่อศาลขอเลื่อนการซักค้านพยานโจทก์ปากที่ 3 ไปหลังจากที่ศาลสืบพยาน นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. ซึ่งเป็นพยานโจทก์ปากที่ 2 เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากขณะนี้การสืบพยานของนายถวิลยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นควรให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ออกไปเป็นวันที่ 30 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น.







โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น