xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสืบพยานโจทก์ คดี 24 แกนนำ นปช.ก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ทหารกรมข่าวทหารบก พยานโจทก์ยัน เหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 กลุ่ม นปช. ใช้ความรุนแรง ด้าน “ตู่” จตุพร หนุน ออกตัว พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อ้างแกนนำไม่ได้ประโยชน์ ต้องพิสูจน์ตัวในชั้นศาล

ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (25 เม.ย.) ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีหมายเลขดำ 2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 และกลุ่มผู้ค้าที่ได้รับความเสียหาย 42 ราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ช่วงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค.2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา หรือลาออก

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัด ปรากฏว่าจำเลยทั้ง 24 คน เดินทางมาไม่ครบ ทำให้ศาลต้องเลื่อนเวลาการพิจารณาออกไปกว่า 1 ชั่วโมง กระทั่ง นายสมพงษ์ บางชม จำเลยที่ 23 ได้เดินทางมาเป็นคนสุดท้าย จากนั้นศาลจึงเริ่มกระบวนพิจารณาคดี ในเวลา 10.50 น.ทั้งนี้ศาลได้กำชับว่าการสืบพยานครั้งต่อไปจำเลยต้องมาให้ตรงเวลากว่านี้ โดยเฉพาะจำเลยที่มีตำแหน่งเป็น ส.ส.ขณะเดียวกันศาลมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายสมพงษ์ จำเลยที่ 23 ไว้ เนื่องจากไม่มารายงานตัวต่อศาล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา

จากนั้น ทนายความจำเลยได้ถามซักค้าน พ.อ.ธนากร โชติพงษ์ นายทหารปฏิบัติการ กรมข่าวทหารบก พยานโจทก์ ซึ่ง พ.อ.ธนาการ กล่าวว่า ช่วงการชุมนุมได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่รวบรวมข่าวสารการชุมนุม โดยจุดที่ชุมนุมมีทั้งเฉพาะจุดและดาวกระจาย กลุ่มผู้ชุมนุมมากันจำนวนมาก จนต้องยืนบนถนน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องปิดถนนดังกล่าวไปโดยปริยาย การชุมนุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เป็นการชุมนุมตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ จากการรวบรวมข่าวสารไม่พบหลักฐานว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธปืน แต่มีอาวุธเป็นวัตถุอื่นเช่น ธง ไม้แหลม หนังสติ๊ก ส่วนทหารสัญญาบัตรเท่านั้นจะพกพาอาวุธปืนและกระสุนจริง และใช้ได้เฉพาะยิงปืนขึ้นฟ้า และเมื่อวันที่ 10 เม.ย.นั้น ผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ

จากนั้นพนักงานอัยการได้สอบถามคำนิยามของการก่อการร้ายจากพยาน ซึ่ง พ.อ.ธนากร พยานเบิกความว่า ตามความเข้าใจ การก่อการร้ายต้องมีลักษณะการใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธกระทำต่อสถานที่ เพื่อหวังผลทางการเมือง ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวาดกลัว ผู้ก่อการร้ายอาจเปิดเผยตัวตัวเองหรือไม่เปิดเผยก็ได้

ทั้งนี้ภายหลังทนายซักค้านพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ เวลา 09.00 น.

ด้าน นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.กล่าวก่อนขึ้นฟังการสืบพยานในคดีก่อการร้าย ว่า วันนี้เป็นการสืบพยานโจทก์ปากแรกต่อจากครั้งที่แล้ว เนื่องจากติดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามหลักคดีนี้ศาลระบุว่าการสืบพยานน่าจะไม่ใช้เวลานานประมาณ 10 ปี แต่หากสืบทุกวันน่าจะเสร็จได้ภายใน 2 ปี

และเห็นว่าแกนนำ นปช.ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีก่อการร้ายโดยมิชอบมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีโอกาสต่อสู้คดี ตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน จนมาถึงอัยการ รวมไปถึงยังมีการเร่งรัดในการสั่งฟ้องคดี

ทั้งนี้ภายหลังศาลแพ่ง มีคำพิพากษาเกี่ยวกับเหตุการณ์การเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างเซ็น รวมถึงโรงภาพยนตร์สยาม ว่าไม่ใช่การก่อการร้าย และสั่งบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมให้กับห้างดังกล่าว ทางแกนนำ นปช.จึงอาจจะนำคำพิพากษาของศาลแพ่ง มาเบิกความต่อสู้คดีด้วย

นายจตุพร กล่าวต่อว่า คดีก่อการร้ายของแกนนำ นปช.นั้น ต่างจากคดีของกลุ่มพันธมิตรฯที่ชุมนุมปิดสนามบิน แต่คดีผ่านมา 2 ปีแล้ว คดีเพิ่งจะเข้าสู่ชั้นศาล ส่วนการแก้กฎหมาย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่วนตัวเห็นว่า ควรมีการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมออกมาได้แล้ว เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มได้รับการนิรโทษกรรม ยกเว้นแกนนำที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น