ศาลสืบพยานโจทก์ต่อ คดี 24 เสื้อแดงก่อการร้าย ด้านอัยการเบิกตัว “พ.อ.” นายทหารกรมข่าวทหารบก ตอบคำถามซักค้านทนายจำเลย
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์คดีหมายเลขดำ ที่ อ.2542/2553 ที่ พนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ร่วมกันทำให้ปรากฏกับประชาชนด้วยวาจา มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันชุมนุม หรือมั่วสุม ฝ่าฝืน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ปี 2553
โดยในวันนี้ พนักงานอัยการนำ พ.อ.ธนากร โชติพงษ์ นายทหารปฏิบัติการ กรมข่าวทหารบก ที่เข้าเบิกความในนัดที่แล้ว เข้าเบิกความตอบคำถามซักค้านทนายจำเลย สรุปว่า ลำดับความสำคัญของข่าวถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย มีอยู่ 3 ลำดับ คือ ลับ ลับมาก และลับที่สุด ส่วนลำดับปกติพยานเข้าใจว่าน่าจะถูกยกเลิกไปแล้ว ในการที่พยานปฏิบัติงานใน ศอฉ. พยานสามารถเข้าถึงข่าวในระดับลับมากเท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงข่าวระดับลับที่สุดได้ ซึ่งพยานก็ไม่ทราบว่าจะมีบุคคลใดที่สามารถเข้าถึงข่าวระดับลับที่สุดได้บ้าง โดยในทางการข่าวจะมีข่าวอยู่ 3 ประเภท คือ ข่าวเท็จ ข่าวจริง และข่าวที่จริงบางส่วน ซึ่งข่าวสารทั่วไปจะยังไม่ผ่านการกลั่นกรอง ส่วนข่าวกรองนั้นได้ผ่านการวิเคราะห์แล้ว โดยเมื่อได้รับข่าวจากสายข่าวต่างๆ แล้วจะต้องนำมาทำการลงบันทึกและเปรียบเทียบว่าข่าวไหนผิดแผกแตกต่างกันบ้าง แล้วจึงมาดูความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว ว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใดโดยดูจากประวัติที่เคยส่งข่าวมา ซึ่งตามเอกสารหลักฐานที่ได้ส่งศาลไปก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการรายงานถึงเหตุการณ์ที่ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายด้วยอาวุธสงครามเมื่อเดือนเมษายน 2553
พ.อ.ธนากรตอบคำถามซักค้านทนายจำเลยต่อว่า การชุมนุมที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าฯ ที่ผู้ชุมนุมถูกรัฐบาลใช้เฮลิคอปเตอร์โยนระเบิดควันลงมานั้น ทางการข่าวก็ไม่ได้รับรายงานเหตุการณ์นี้ ส่วนการปฏิบัติการของ ศอฉ.ผู้มีอำนาจสั่งการจะเป็นนายอภิสิทธิ์ หรือ ผอ.ศอฉ.นั้น พยานไม่ทราบ แต่ผู้ที่สั่งการพยานตามสายบังคับบัญชา คือ เสนาธิการ ศอฉ. ส่วนเสนาธิการจะรับคำสั่งมาจากใครนั้นพยานไม่ทราบ ซึ่งในการทำข่าวของ ศอฉ.ไม่เคยปล่อยข่าวลวง และไม่เผยแพร่ให้บุคคลอื่นรับทราบ ส่วนการแถลงข่าวนั้นเป็นหน้าที่ของโฆษก ศอฉ. ซึ่งพยานไม่ทราบว่ามีการแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ใดบ้าง โดยยอมรับว่าทหารที่ปฎิบัติงานส่วนหนึ่งมาจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ นอกจากนี้ยังมีการส่งสายลับเข้าไปหาข่าวในพื้นที่ปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุม ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบรอบนอกบริเวณสถานที่ชุมนุมนั้น สายข่าวของ ศอฉ.ไม่ทราบว่าเป็นการกระทำของใคร
เมื่อทนายจำเลยถามถึงผู้สั่งการในระดับยุทธการเป็นใครชื่ออะไร พ.อ.ธนากรตอบว่า ไม่ขอตอบเพราะจะเป็นการพาดพิงไปถึงบุคคลที่ 3 แต่ทนายจำเลยค้านว่ามีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพื่อที่จะทราบเหตุผลอะไรที่สั่งให้ทหารเข้าไปสลายการชุมนุม ดังนั้นศาลจึงชี้แจงทนายจำเลยว่า ประเด็นนี้ศาลก็มองว่าไม่เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ตามฟ้องมีเพียงว่าพวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานปากนี้เป็นเพียงผู้วิเคราะห์ข่าวก็ได้เบิกความถึงการทำหน้าที่ของพยานแล้ว ที่ศาลให้โอกาสทนายจำเลยถามเนื่องจากเห็นว่าเป็นทนายจำเลยที่ 1 จึงให้โอกาสถามให้คลอบคลุมเพื่อที่ทนายจำเลยอื่นจะได้ไม่ต้องถามซ้ำอีก และที่ทนายจำเลยถามในประเด็นนี้ต้องการจะเอาไปใช้ประโยชน์ในคดี 99 ศพ ที่อยู่ระหว่างการทำสำนวนของดีเอสไอหรือไม่ ซึ่งทนายความยืนยันว่าเกี่ยวข้องในคดีที่จะพิสูจน์ว่าพวกจำเลยไม่ใช่ผู้กระทำผิดและไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในคดีอื่น สุดท้าย พ.อ.ธนากรตอบว่า ไม่ทราบว่าเป็นใคร
ภายหลังศาลสืบพยานในช่วงเช้าแล้วสืบพยานต่อในช่วงบ่ายเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจึงนัดสืบพยานครั้งต่อไปหลังปิดประชุมสภา วันที่ 19 เม.ย. 2556 เวลา 10.00 น.