xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล เปลี่ยนศรี” พยานโจทก์เบิกความ คดีแดงก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
“ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาฯ สมช.ขึ้นเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดี นปช.ก่อการร้าย เชื่อกลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวนอกสภา สอดรับกับพรรคการเมืองพรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทย

ที่ห้องพิจารณาคดี 701 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (2 พ.ค.) ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย,ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

โดยวันนี้อัยการโจทก์ได้ให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขึ้นเบิกความเป็นพยานปากที่ 2 โดยระบุว่า ช่วง มี.ค.-พ.ค. 2553 รับราชการเป็นเลขาธิการ สมช. มีหน้าที่ให้คำแนะนำ และคำปรึกษานายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการออกนโยบายความมั่นคง สังคม เศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อยต่างๆ โครงสร้าง สมช.มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง มี รมว.กลาโหม, รมว.คมนาคม, รมว.มหาดไทย, รมว.ต่างประเทศ, รมว.คมนาคม และ ผบ.สส.เป็นสมาชิกสภา ประสานด้านการข่าวกับหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ หน่วยข่าวของเหล่าทัพ และตำรวจสันติบาล

นายถวิลเบิกความต่อว่า หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 มีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) บริหารประเทศชั่วคราว จากนั้นได้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. 2550 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนได้รับเสียงข้างมาก ชนะการเลือกตั้งจนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชาชน และมีนายสมัคร สุนทรเวช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้ประมาณ 7 เดือน แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าขาดคุณสมบัติ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้โหวตเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้เพียง 3 เดือนก็พ้นตำแหน่งเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคพลังประชาชน ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าวนั้นมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) จากนั้นประมาณปลายปี 2551 สภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เสียงข้างมาก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเห็นว่าเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขณะที่คนเสื้อแดงเห็นการได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้นไม่ถูกต้อง เป็นการปล้นอำนาจมาจากประชาชน และช่วงนั้นได้มีการจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปก.) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นำคนเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง โดยสรุปบทเรียนและนำการรูปแบบการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯมาใช้เคลื่อนไหว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการชุมนุมที่ได้ผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง ภายนอกสภานั้นก็มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพรรคเพื่อไทย โดยนักการเมืองพรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทย รวมทั้งแกนนำเสื้อแดงก็ได้ออกมายอมรับด้วยตัวเอง อีกทั้งการชุมนุมสัญจรของคนเสื้อแดงแต่ละครั้ง เช่น ที่เมืองทองธานี สนามศุภชลาศัย สนามราชมังคลากีฬาสถาน หรือสนามหลวง จะมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมจำนวนมากประมาณ 3-4 หมื่น ซึ่งการชุมนุมแต่ละครั้งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมทั้งนักการเมืองส่วนหนึ่งที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนหรือพรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายอัยการจะเบิกตัว พ.อ.ธนากร โชติพงษ์ นายทหารปฏิบัติการ กรมข่าวทหารบก พยานโจทก์ปากแรกเพื่อให้ทนายจำเลยได้ซักค้านต่อ ส่วนนายถวิลจะเบิกความอีกครั้งในวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น