นายกฯ เป็นประธานถอดโซ่ตรวนนักโทษในเรือนจำกลางบางขวาง 563 คน พร้อมเร่งขยายไปทั่วประเทศ เพื่อยกระดับสิทธิมนุษยชน “หมอวิสุทธิ์” หนุนเต็มที่ เผยความรู้สึกใส่ตรวนเปรียบเสมือนสัตว์นรก
ที่เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 15 พ.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธี “วันประกาศถอดตรวนผู้ต้องขัง” โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ นายชาติชาย สุทธิกลม เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศ์พัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายสุชน ชาลีเครือ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และนายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.ร่วมในพิธี โดยมี พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ให้การต้อนรับ พร้อมนำชมนิทรรศการประวัติการควบคุมนักโทษด้วยโซ่ตรวนตั้งแต่โบราณกาลสมัยกรุงศรีอยุธยา พร้อมสาธิตโซ่ตรวนขนาดต่างๆ ที่ถูกยกเลิกในครั้งนี้ พร้อมแสดงโซ่ตรวนใหม่ซึ่งมีขนาดเล็กน้ำหนักลดลงใส่แทนหากต้องนำนักโทษออกนอกเรือนจำ รวมทั้งแสดงอาวุธปืนสเปรย์พริกไทย ใช้ระงับเหตุนักโทษจราจล โดยนายกฯ ได้ใช้กรรไกรตัดโซ่ตรวนเป็นสัญลักษณ์การเลิกพันธนาการนักโทษในเรือนจำด้วยโซ่ตรวน ท่ามกลางบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีนักโทษประหารและนักโทษจำคุกตลอดชีวิต พร้อมครอบครัวกว่า 500 คน เข้าร่วม มีการจัดอาหารพร้อมเครื่องดื่มให้นักโทษด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงยุติธรรม ได้กำหนดให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตามภารกิจเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญและประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมจึงได้มอบหมายให้กรมราชทัณฑ์ ศึกษาข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ในการผ่อนปรน หรือปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการโดยเฉพาะ “ตรวน” ให้แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ต้องจำตรวนตลอดเวลาภายในเรือนจำ
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้มอบหมายภารกิจให้นายวสันต์ สิงคเสลิต ผบ.เรือนจำกลางบางขวาง ดำเนินการ ซึ่งเรือนจำกลางบางขวาง เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงรับควบคุมผู้ต้องราชทัณฑ์สูงสุดถึงโทษประหารชีวิต และเป็นเรือนจำแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีแดนประหารชีวิต เรือนจำกลางบางขวางได้เริ่มดำเนินการทดลองถอดตรวนให้กับผู้ต้องขังที่จำตรวนทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2556 โดยผู้ต้องขังที่ได้รับการถอดตรวน ได้แก่ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษต่ำกว่า 50 ปี จำนวน 16 ราย ผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิต จำนวน 34 ราย และผู้ต้องขังที่มีกำหนดโทษประหารชีวิต จำนวน 513 ราย รวมจำนวน ผู้ได้รับการถอดตรวนทั้งสิ้น จำนวน 563 ราย
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า การถอดตรวนในครั้งนี้ ปรากฏว่าเกิดผลดีในเชิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังและญาติ โดยผู้ต้องขังและญาติล้วนมีทัศนคติในเชิงบวกต่อแนวนโยบายดังกล่าว ถึงแม้ว่าวันนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหลายนี้จะยังถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ แต่การที่ได้ถอดตรวนได้นำมาซึ่งความสุขในอิสรภาพที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ ปราศจากพันธนาการแห่งโซ่ตรวน และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่มีการกระทำผิดวินัยผู้ต้องขังแต่อย่างใด ขณะนี้กรมราชทัณฑ์จะได้ขยายแนวนโยบายนี้ไปยังเรือนจำ และทัณฑสถาน ทุกแห่งทั่วประเทศต่อไป โดยการประกาศถอดตรวน เป็นการถอดตรวนให้แก่ผู้ต้องขังที่จำตรวนอยู่ในเรือนจำตลอด 24 ชั่วโมง เหตุที่เรือนจำและทัณฑสถาน ต้องใช้เครื่องพันธนาการ หรือตรวน แก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ ภายในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2475 เพื่อป้องกันเหตุอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายในเรือนจำ และลดความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ส่วนผู้ต้องราชทัณฑ์ ที่ถูกควบคุมตัวไปนอกเรือนจำ ปัจจุบันยังต้องมีการจำตรวนอยู่หากในอนาคต กรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือมาทดแทนการจำตรวนได้ จะสามารถยกเลิกการจำตรวนผู้ต้องราชทัณฑ์ในรูปแบบเดิมทุกเรือนจำต่อไป
ด้าน นช.วิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อายุ 60 ปี นักโทษในคดีฆ่า พญ.ผัสพร บุญเกษมสันติ ภรรยา กล่าวถึงนโยบายการถอดโซ่ตรวนนักโทษว่า ตนเหลือโทษอีก 17 ปี 1 เดือน โดยเข้าอยู่ในเรือนจำมาแล้วกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาตนเคยใส่ตรวนมา 4 ปี นโยบายถอดโซ่ตรวนตนเห็นว่าเป็นนโยบายที่วิเศษสุดเท่าที่นักโทษจะได้รับ เพราะโซ่ตรวจมันกัดกร่อนสภาพจิตใจตลอดเวลา การเป็นอยู่หลับนอน ทำกิจวัตรประจำวันต้องใส่โซ่ตรวนตลอด 24 ชม.ตนจึงเห็นด้วยอย่างมากกับการถอดตรวจนักโทษในเรือนจำครั้งนี้ เพราะตอนใส่โซ่ตรวจมีความรู้สึกว่าเราเป็นสัตว์ร้าย หรือสัตว์นรก สภาพจิตใจตอนนั้นมันแย่ และคิดว่าการยกเลิกการใส่โซ่ตรวจจะไม่ส่งผลกระทบต่อการควบคุมนักโทษ ตรงกันข้ามจะทำให้ความร่วมมือในการอยู่ร่วมกันระหว่างนักโทษกับเจ้าหน้าที่จะดีขึ้นมาก เพราะเป็นความรู้สึกที่ออกจากใจ และส่งผลให้นักโทษมีกำลังใจในการออกไปเป็นพลเมืองดีช่วยกันพัฒนาประเทศชาติต่อไป ส่วนตนตอนนี้ก็เป็นผู้ช่วยแพทย์ในแดนพยาบาล ก็มีความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้ต้องขัง ไม่ได้มีความเครียดอะไร
นช.ภูมินทร์ เสียงอ่อน อายุ 53 ปี และอดีต ส.ท.ลำพูน นักโทษประหารชีวิตคดีพยายามฆ่านักการเมือง คดีอยู่ระหว่างชั้นศาลฎีกา กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะมีผลต่อสภาพจิตใจของนักโทษ เห็นความจำเป็นว่านักโทษที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีบาดแผลจะได้รับอันตรายจากการใส่โซ่ตรวน ในระหว่างที่นักโทษบางคนอยู่ระหว่างสู้คดี แต่บางครั้งต้องมาพิการขาลีบหลายรายหรือนักโทษที่เป็นเบาหวานก็ต้องติดเชื้อเป็นบาดทะยัก ส่วนนักโทษที่เกเรตนก็เห็นด้วยที่ต้องใส่ตรวน แต่ความเป็นจริงนักโทษจะมีปัญหาหลบหนี หรือเล่นการพนัน หรือยาเสพติด ถ้าไม่มี 3 เรื่องนี้ ก็จะไม่มีการทะเลาะวิวาทหรือทำร้ายผู้คุม ซึ่งมีจำนวนน้อยมากที่สร้างปัญหา ด้านนักโทษประหาร คดีอยู่ระหว่างศาลอุทธรณ์ ไม่เปิดเผยชื่อและคดี กล่าวว่า เวลานักโทษประหารอยู่ในแดนประหารกันเป็น 100 คน เมื่อใส่โซ่ตรวนก็มีเสียงดังเหมือนอยู่ในสวนสัตว์ ส่วนการถอดโซ่ตรวนจะทำให้นักโทษจะหลบหนีได้ง่ายหรือไม่ ตนคิดว่าอยู่ที่ความรู้สึกภายใน นับจากมีเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามา การควบคุมนักโทษในเรือนจำ ไม่ได้ก่อให้นักโทษเกิดความเครียดมาก ถ้าการควบคุมมีความสมดุล และมีการถอดตรวนนักโทษทำให้นักโทษไม่เครียด ได้ออกกำลังกาย เชื่อว่านักโทษส่วนใหญ่จะไม่ก่อเหตุ เพราะต้องกลับไปใส่ตรวนและต้องไปอยู่ในแดนที่ไม่มีใครอยากอยู่ พวกนักโทษพร้อมจะต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม สังคมไม่ต้องเป็นห่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโซ่ตรวนข้อเท้าที่มีการยกเลิกในครั้งนี้มี 3 ขนาดประกอบด้วย ขนาด 17 มม.หนัก 5 กิโลกรัม ขนาด 12 มม.หนัก 2.6 กิโลกรัม และขาด 10 มม.หนัก 1.7 กิโลกรัม ส่วนโซ่ตรวนใหม่ที่จะมีการนำมาใช้จะมีขนาดเล็กลง มีน้ำหนักเพียง 0.6 กิโลกรัม เป็นทั้งแบบใส่ข้อเท่า และแบบโซ่ตรวนรัดเอวพร้อมมีกุญแจมือ โดยทั้งหมดถูกสั่งซื้อมาจากอเมริกา เพราะโซ่ตรวนมีความแข็งแรงยากแก่การทำลาย โดยจะใช้ใส่นักโทษเฉพาะออกนอกเรือนจำขณะออกไปศาลหรือย้ายเรือนจำ