xs
xsm
sm
md
lg

ชมรมแพทย์ชนบทร้องดีเอสไอ สอบ สธ.ส่อทุจริตปมสั่งซื้อชุดตรวจวัดน้ำตาลในเลือด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ปธ.ชมรมแพทย์ชนบท ร้อง “ดีเอสไอ” สอบ “สธ.” ส่อทุจริตปมสั่งซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดแจก อสม.ทั่วประเทศ ระบุไม่มี กม.รองรับอนุญาตให้ อสม.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยการเจาะเลือดจากปลายนิ้วเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดผู้อื่นได้

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ (9 พ.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นายเกรียงศักดิ์ วัชรกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เพื่อขอให้ตรวจสอบโครงการการส่งเสริมศักยภาพ อสม. ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น (เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดเแบบพกพา) ของกระทรวงสาธารณะสุข ซึ่งทางชมรมแพทย์ชนบทได้ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการสั่งซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดจำนวน 81,685 เครื่อง เพื่อแจกให้ อสม.ทั่วประเทศในราคาเครื่องละ 1,800 บาท ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 147,033,000 บาทนั้น ส่อไปในทางทุจริต

สืบเนื่องรูปแบบการจัดซื้อเครื่องวัด/แถบตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในประเทศไทย โดยปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไม่ได้มีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดน้ำตาล แต่ใช้วิธีการซื้อแถบตรวจวัดระดับน้ำตาล โดยทางบริษัทจะแถมเครื่องตรวจฯ โดยไม่คิดมูลค่ามูลค่าแทนทั้งสิ้น และราคาแถบตรวจนั้นจะมีราคาแถบละ 5-7 บาทเท่านั้น โดยจะแถมเครื่องตรวจฯ ไม่จำกัด เพื่อใช้ในการแจกสถานีอนามัย หรืออาคารผู้ป่วยต่างๆ เนื่องจากหากใช้วิธีการจัดซื้อเครื่องแล้วจะทำให้รัฐต้องตกเป็นเบี้ยล่างของบริษัทเจ้าของเครื่อง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้แถบตรวจวัดระดับน้ำตาลของบริษัทเดิมเท่านั้น ซึ่งทำให้ราคาแถบตรวจวัดขึ้นอยู่กับการกำหนดราคาของบริษัทเดิม ดังเช่น อบจ.จังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน ได้จัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดของบริษัทแห่งหนึ่งในราคาชุดละ 2,500 บาท และเมื่อแถบตรวจที่แถมมาจำนวน 30-50 แถบหมดไป จึงต้องสั่งซื้อแถบตรวจน้ำตาลในเลือดแจกใหม่กว่า 600,000 แถบ ในราคา 11 บาทต่อแถบ ซึ่งแพงกว่าท้องตลาดถึง 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีหลายจังหวัดเริ่มกระบวนการการจัดซื้อไปมากแล้ว เช่น จังหวัดที่ได้รับงบประมาณเกินกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้วิธีการ e-auction และได้มีกระบวนการกำหนด TOR ไปแล้วหลายจังหวัด อาทิ จ.เชียงราย จ.นครพนม จ.นครราชสีมา และจ.อุบลราชธานี ส่วนจังหวัดที่วงเงินต่ำกว่า 2 ล้านบาท จะใช้วิธีการสอบราคา โดยจังหวัดที่มีการสอบราคาเสร็จแล้วคือ จ.อำนาจเจริญ และจังหวัดที่อยู่ระหว่างการยื่นซองประมูลคือ จ.อ่างทอง

ทั้งนี้ จากพฤติกรรมดังกล่าวจะเห็นได้ว่า กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งส่อไปในทางทุจริต จึงได้ส่งเรื่องมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการหาผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หรือส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.โดยเร่งด่วน

ส่วนเอกสารที่นำมานั้นระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขได้โอนเงินงบประมาณและสั่งการให้จังหวัดต่างๆ ทำการจัดซื้อเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อแจก อสม. ทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับอนุญาต ให้ อสม.ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยการเจาะเลือดจากปลายนิ้วเพื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดผู้อื่นได้ โดยมีกระบวนการในการดำเนินการ ดังนี้ 1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เห็นชอบและอนุมัติในหลักการ และแนวทางการปฏิบัติงาน ควบคุมป้องกันโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตามบันทึกเลขที่ สธ.0100.1/4831 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2555 2. กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้แจ้งจัดสรรเงินและสั่งให้จังหวัดต่างๆ มีการซื้อเครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดแจก อสม.ทั้ง 76 จังหวัด เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 56 โดยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ (1) กลุ่มตำบลนำร่องและตำบลจัดการสุขภาพ ตำบลละ 15 ชุด รวม 27,375 ชุด และ (2) ตำบลทั่วไป ตำบลละ 10 ชุด รวม 54,310 ชุด รวมทั้งสิ้น 81,685 ชุด รวเป็นเงิน 147,033,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น