xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ฟัน 40 โรงก๊าซ LPG ลักลอบนำก๊าซหุงต้มขายปั๊ม (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ตร.เชิญผู้ประกอบการ 40 โรงบรรจุก๊าซแอลพีจีเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่กองปราบปราม
รอง ผบ.ตร.พร้อมคณะพนักงานสอบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวออกหมายเรียกผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซ 40 แห่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 70 รายมารับทราบข้อกล่าวหา "เป็นโรงบรรจุก๊าซร่วมกันกับผู้อื่นนำน้ำก๊าซที่ได้มาจากการเป็นผู้ดำเนินการบรรจุก๊าซแทนผู้ค้าน้ำมัน มาตรา 7 ไปจำหน่ายหรือใช้ในการอื่นโดยไม่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้มฯ"

ชมคลิป...


วันนี้ ( 2 พ.ค.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ ผบช. ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนการกระทำผิดเกี่ยวกับการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผกก.อก.จ.อ่างทอง ร่วมกับ น.ส.สุวรรณา ตรงตามพันธุ์ ผอ.สำนักงานบริการธุรกิจและการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พร้อมคณะพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซ 40 แห่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 70 รายมารับทราบข้อกล่าวหา "เป็นโรงบรรจุก๊าซร่วมกันกับผู้อื่นนำน้ำก๊าซที่ได้มาจากการเป็นผู้ดำเนินการบรรจุก๊าซแทนผู้ค้าน้ำมัน มาตรา 7 ไปจำหน่ายหรือใช้ในการอื่นโดยไม่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้ม และเป็นสถานีบริการก๊าซรถยนต์ร่วมกันกับผู้อื่นซื้อหรือรับก๊าซจากผู้ค้าน้ำมันที่ไม่ใช่ผู้ค้าตามมาตรา 7 ตามมาตรา 3 และ 8 พ.ร.ก.กำหนดแก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516 มาตรา 83 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง"

ทั้งนี้สืบเนื่องจาก นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.กระทรวงพลังงงาน ตรวจสอบพบว่า ในปี 2555 ยอดการใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ภาคครัวเรือนมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ถึง 16 เปอร์เซ็นต์ จึงทำการตรวจสอบพบว่ามีการลักลอบนำก๊าซที่ใช้ในภาคครัวเรือนไปใช้ในภาคขนส่ง และอุตสาหกรรม โดยไม่ได้นำไปบรรจุลงถังก๊าซหุงต้ม จึงนำข้อมูลทั้งหมดประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบโรงบรรจุก๊าซและสถานีบริการก๊าซทั่วประเทศ โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมายให้ พล.ต.อ.วรพงษ์ เป็นผู้อำนวยการงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง กำกับดูแลกรณีดังกล่าว และมีคำสั่งที่ 231/56 ลงวันที่ 5 เมษายน 2556 แต่งตั้ง พล.ต.ท.โสภณ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ทำการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานกระทั่งมีการออกหมายเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าว

พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวว่า จากการสืบสวนสอบสวน และตรวจสอบโรงบรรจุก๊าซ 460 แห่งทั่วประเทศก็ได้ข้อมูลที่พบหลักฐานค่อนข้างชัดเจนว่ามีการกระทำความความผิด โดยสั่งก๊าซจากผู้ค้าตามมาตร 7 สั่งมาเป็นก๊าซหุงต้ม แต่เมื่อนำไปส่งกลับนำไปส่งที่ปั๊มก๊าซ หรือนำไปจอดที่โรงบรรจุก๊าซหุงต้มแต่ที่โรงนั้นมีการต่อท่อก๊าซตรงไปยังปั๊มจำหน่ายก๊าซรถยนต์ซึ่งมีหลาย ๆ แห่งเป็นเช่นนี้ ซึ่งจากทั้งหมด 460 แห่งนั้นสามารถรวบรวมหลักฐานแจ้งข้อกล่าวหาได้ 40 กว่าแห่งแต่ยังอีกหลายแห่งซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน

พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า หลังจากที่พนักงานสอบสวนเริ่มดำเนินการแล้วจะพบว่าภาพรวมการใช้ก๊าซจากเดิมที่ใช้ก๊าซเพื่อหุงต้มวันละ 8,700 ตันต่อวัน ลดลงเหลือ 6,400 ตันต่อวัน ส่วนภาคขนส่งจากเดิมวันละ 2,900 ตันต่อวันก็เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ตันต่อวัน ค่าเฉลี่ยส่วนต่างวันละ 3,000 ตันต่อวัน ซึ่งรัฐต้องจ่ายเงินชดเชยค่าส่วนต่างนี้ 3 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นเงินที่ต้องจ่ายชดเชยวันละ 9 ล้านบาทต่อวัน และโครงการนี้ผ่านมาแล้วประมาณ 500 วัน เฉพาะการเปลี่ยนจากก๊าซหุงต้มครัวเรือนไปเป็นภาคขนส่งก็เป็นเงินประมาณ 4 พันล้านบาท ยังไม่ได้ตรวจสอบกรณีก๊าซหุงต้มในครัวเรือนไปเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีส่วนต่างถึง 13 บาทต่อกิโลกรัม จะเห็นว่ามูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล

“ผู้ประกอบการบางรายสั่งซื้อก๊าซที่ใช้ในครัวเรือนมาขายเป็นก๊าซรถยนต์ ได้กำไรจากส่วนต่างแต่เงินตรงนี้เป็นเงินจากกองทุนน้ำมันที่รัฐจ่ายให้แต่ถูกนำมาใช้ตรงนี้ ซึ่งตัวเลขการใช้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเงินหมื่นล้านบาท ผู้ประกอบการรายย่อยอาจไม่คิดอะไรแต่จริงๆ แล้วส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจมากมาย ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่ารัฐอาจต้องทบทวนเรื่องนี้” พล.ต.อ.วรพงษ์ กล่าว

ด้าน น.ส.สุวรรณา กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พยายามบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นมาโดยตลอดแต่บางครั้งก็เกิดปัญหาไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ แต่เมื่อมาทำงานควบคู่กับตำรวจก็ได้ผลดี ภาพรวมตัวเลขการใช้ก๊าซดีขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ทางตำรวจคงจะมีการตรวจสอบและสอบสวนขยายผลต่อไป

แหล่งข่าวพนักงานสอบสวน เผยว่า จากการสอบสวนเชื่อว่ามีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่งที่เข้าข่ายเป็นบริษัทนอมินีเพื่อมาดำเนินการในลักษณะนี้โดยเฉพาะ และจากการตรวจสอบในเรื่องการขนส่งก๊าซพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายมีรถบรรจุก๊าซมาส่งถึง 700 เที่ยวต่อเดือน

สำหรับความผิดเกี่ยวกับการนำก๊าซไปจำหน่ายหรือใช้ในการอื่นโดยไม่บรรจุใส่ถังก๊าซหุงต้มตาม พ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นโรงบรรจุก๊าซกระทำผิดตามกฎหมายฉบับนี้นอกจากมีโทษจำคุกและปรับเงินแล้วยังอาจถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ประกอบการโรงบรรจุก๊าซและสถานีบริการในส่วนนิติบุคคลที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในครั้งนี้ แบ่งเป็นนิติบุคคลประเภทโรงบรรจุก๊าซ 41 ราย ได้แก่ 1.บจก.สมบูรณ์แก๊ซ (1990) 2.หจก.ชัยนาทแก๊ส 3.บจก.โรจนอินดัสตรี 4.หจก.แม่สอดก๊าซซัพพลาย 5.หจก.วรวุฒิปิโตรเลียม (นครนายก) 6. หจก.วรวุฒิปิโตรเลียม (ปราจีนบุรี) 7.หจก.เอี่ยมสอาดปิโตรเลียม 8.หจก.วิน วิน แอลพีจี 9.หจก.ซี.พี.กรุ๊ป 10.หจก.ชัยภูมิสยามแก๊ส 11.หจก.ศรีไทยปิโตรเลียม 12.บจก.ทีจีดีบรรจุแก๊ส 13.บจก.ออนไซด์เซอร์วิส 14.บจก.ก๊าซสยามด่านขุนทด 15.บจก.ธรรมชาติปิโตรเลียม 16.บจก.เม่งเต็กปิโตรเลียม 17.บจก.ชวลิตพรแก๊ส 18.หจก.ชวลิตพรแก๊ส 19.หจก.บุรีรัมย์มิตรประชาแก๊ส 20.หจก.กรอกสมบูรณ์บรรจุแก๊ส 21.หจก.ป.ศรีมหาโพธิบริการ 22.หจก.ธนวรรณ์แก๊ส

23.หจก.วรวุฒิปิโตรเลียม (ปราจีนบุรี) 24.บจก.แก๊สพรพิชัย 25.บจก.อยุธยาแอลพีจี 26.บจก.ออกัสแอลพีจี (พิษณุโลก) 27.หจก.บุรีรัมย์กาญจนชัย 28.บจก.สุริยการแก๊ส 29.บจก.สุริยการแก๊ส สาขา 1 30.บจก.สุรีย์ยง แก๊ส 31.บจก.อุสาหกรรมแก๊สเพชรบุรี 32.บจก.ชินพัฒน์ ปิโตรเลียม 33.หจก.ลพบุรีธนแก๊ส 34.บจก.จิราภัณฑ์ก๊าซ 35.บจก.ชัยพรรณปิโตรเลียม 36.บจก.อุสาหกรรมแก๊สเลิศนิยม 37.บจก.วี.ไอ.พีปิโตรเลียม 38.บจก.อุตสาหกรรมแก๊สเอเชี่ยน 39.บจก.กิจสมรปิโตรเลียม 40.บจก.ออกัสแอลพีจี 41.หจก.เดิมบางประกอบพาณิช 42.บจก.สิงห์บุรีอุตสาหกรรมแก๊ส และ43.บจก.เดย์เอ็นเนอร์ยี่

ส่วนผู้ประกอบการประเภทสถานีบรรจุก๊าซมี 21 ราย ได้แก่ 1.บจก.สยามเอ็นเอสปิโตรเลียม 2.บจก.กิจสมรบริการก๊าซ 3.บจก.เคเอสเอ็มเอ็นเนอร์จี 4.บจก.เคเอสเอ็มปิโตรเลียมไทย 5.หจก.แสงเจริญปิโตรเลียม 6.หจก.แสงรุ่งเรืองปิโตรเลียม 7.หจก.เอส.ที.แก๊ส 8.หจก.ปากพลีแก๊ส 9.หจก.ป.ศรีมหาโพธิบริการ 10.หจก.เมืองช้างแก๊ส 11.หจก.ชัยภูมิสยามแก๊ส 12.หจก.พีเอ็มแอล เซอร์วิส 13.วิทยาบริการเดช 14.อุบลนันทพัทธ์ 15.บจก.แอดวานซ์แอลพีจี 16.หจก.สิทธิพรแก๊ส 17.บจก.ก๊าซสยามด่านขุนทด 18.หจก.ศรีไทยปิโตรเลียม 19.หจก.ขัยภูมิสยามแก๊ส 20.หจก.ซี.พี.กรุ๊ป และ21.บจก.เอสบีออโต้แก๊ส
กำลังโหลดความคิดเห็น