xs
xsm
sm
md
lg

‘จีน’หลบเลี่ยงยังไม่เลิกอุดหนุนราคาน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: วิทยุเอเชียเสรี

China fiddles with fuel price subsidies
By Radio Free Asia
10/04/2013

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

รัฐบาลจีนกำลังพยายามรับมือกับเสียงร้องเรียนในเรื่องราคาน้ำมัน ด้วยการผ่อนคลายการควบคุมราคาของภาครัฐ ทว่าไม่ใช่การยกเลิกการควบคุมไปเลย หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเสียใหม่ ซึ่งเป็นการตัดทอนระยะเวลาที่ราคาขายปลีกจะสะท้อนภาพต้นทุนราคาน้ำมันในระดับโลกนั้น อาจจะช่วยลดการเก็งกำไรของพวกผู้ขายส่งลงไปได้ แต่ก็ยังคงเป็นที่หวั่นเกรงกันอยู่ดีว่าเมื่อถึงเวลาที่จะต้องขยับราคาน้ำมันขายปลีกแล้ว จะเกิดความไม่สงบขึ้นมา

รัฐบาลชุดใหม่ของจีนที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งตอนกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กำลังพยายามที่จะรับมือกับเสียงร้องเรียนในเรื่องราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการผ่อนคลายการควบคุมราคาของภาครัฐ ทว่าไม่ใช่การยกเลิกการควบคุมไปเลย

ความเคลื่อนไหวอันละเอียดอ่อนคราวนี้ประกาศออกมาโดย คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission ใช้อักษรย่อว่า NDRC) ในวันที่ 26 มีนาคม จุดสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ตัดลดระยะเวลาสำหรับการพิจารณาปรับเปลี่ยนราคาให้สั้นลง ซึ่งตามรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการได้แจกแจงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า เพื่อให้ระดับราคาขายปลีกสามารถ “สะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงในตลาดน้ำมันโลกได้ดียิ่งขึ้น”

ระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2009 แล้วนั้น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกจะขยับขึ้นไปหรือจะลดต่ำลงมา ก็ต่อเมื่อต้นทุนราคาน้ำมันระหว่างประเทศมีการแปรผันไปอย่างน้อยที่สุด 4% เป็นระยะเวลา 22 วันทำการแล้ว กฎเกณฑ์เช่นนี้จัดวางกันขึ้นมาเพื่อสกัดกั้นไม่ให้พวกโรงกลั่นน้ำมันของจีนต้องขาดทุนหนักหน่วงจากการขายน้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่รัฐควบคุม ในเวลาเดียวกันก็เป็นการปกป้องคุ้มครองสาธารณชนไม่ให้ต้องเผชิญภาวะช็อกอย่างทันทีทันใดจากการที่ต้นทุนน้ำมันเกิดทะยานพุ่งพรวดขึ้นไป

แต่ก็เหมือนกับมาตรการสะท้อนอุปสงค์-อุปทานของตลาดแบบครึ่งๆ กลางๆ (half-market measure) มาตรการอื่นๆ ระบบนี้มีจุดอ่อนข้อบกพร่องของมันอยู่หลายๆ ประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำให้พวกผู้จัดจำหน่ายและพวกดีลเลอร์มีเวลาอย่างมากมายเหลือเฟือในการอ่านสัญญาณราคา และทำการเก็บกักน้ำมันเชื้อเพลิงเอาไว้ไม่ให้เข้าสู่ตลาด เพื่อรอเวลาที่ราคาขายปลีกจะขยับขึ้นไปตามที่คาดหมายเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการกักตุนเก็งกำไรและการขาดแคลนน้ำมันกันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น จะตัดลดเวลาเฝ้ารอดูให้สั้นลงเหลือ 10 วันทำการ อีกทั้งยังยกเลิกระดับการผันแปรขั้นต่ำก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงราคาขายปลีก ทั้งนี้ยกเว้นแต่ในกรณีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีการผันแปรน้อยมากไม่ถึง 50 หยวนต่อเมตริกตัน (1.10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล)

การเปลี่ยนแปลงแก้ไขดังกล่าวนี้ น่าจะทำให้การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของจีน มีการสนองตอบต่อพลังอุปสงค์-อุปทานของตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่กระนั้นมันก็ยังสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลยังคงลังเลใจที่จะยกเลิกการควบคุมราคาของภาครัฐไปเลย

**จำเป็นต้องปฏิรูปต่อไปอีก**

นโยบายที่ปรับเปลี่ยนไปเช่นนี้ ถูกโลกตะวันตกมองว่าเป็นความก้าวหน้าทว่ายังจะต้องทำต่อไปอีก

“ผมเชื่อว่ากลไกกำหนดราคานี้จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปกันต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้า” เควิน เจียนจิว์น ตู (Kevin Jianjun Tu) นักวิจัยอาวุโสในโครงการพลังงานและภูมิอากาศ ณ มูลนิธิคาร์เนกีเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ (Carnegie Endowment for International Peace) ในกรุงวอชิงตัน, สหรัฐอเมริกา แสดงความคิดเห็น

ผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการสะท้อนตลาดแบบครึ่งๆ กลางๆ ล่าสุดนี้ เวลานี้ยังมองไม่เห็นชัดเจน แต่มันก็บ่งบอกให้ทราบว่า คณะรัฐบาลจีนชุดใหม่มุ่งดำเนินนโยบายในเรื่องนี้ด้วยท่าทีที่ระมัดระวังมาก “ราคาพลังงานได้รับการพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องผูกพันกับเสถียรภาพทางสังคม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากๆ สำหรับรัฐบาลที่จะยอมยกเลิกอำนาจการกำหนดราคาของตนไปจนหมดสิ้น” ตู อธิบาย

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ยังอาจเป็นสัญญาณแสดงว่า คณะผู้นำชุดใหม่ของจีนจะมีความรู้สึกไวต่อการร้องเรียนของสาธารณชน ทั้งนี้ในครั้งสุดท้ายที่ คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ ประกาศปรับเพิ่มราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งยังเป็นไปตามกฎเกณฑ์เก่าที่ให้เฝ้ารอดูเป็นเวลา 22 วันนั้น ปรากฏว่าพวกผู้บริโภคแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเกรี้ยวกราดกันบนเว็บไซต์เครือข่ายทางสังคมต่างๆ ภายหลังได้ทราบว่าในไต้หวันนั้น ราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่งมีการปรับลดต่ำลง

“ในเวลาที่สาธารณชนของแผ่นดินใหญ่กำลังมีความรู้สึกอ่อนไหวเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการต่างๆ เช่นนี้ ข่าวคราวเกี่ยวกับการปรับราคาไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงแบบนี้ เปรียบได้กับการยิงตอร์ปิโดเข้าไปในไซเบอร์สเปซ” สำนักข่าวซินหวาระบุในบทวิจารณ์ของตน

สำหรับในคราวนี้ คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ ใช้ความพยายามจนแน่ใจได้ว่า เมื่อประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ที่จะเฝ้ารอดูอยู่ 10 วันแล้ว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกที่กำหนดออกมาในครั้งแรกจะต้องปรับลดลง

โดยปรากฏว่า ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ถูกปรับให้ลดต่ำลงมา 310 หยวนต่อตัน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อตอนที่ราคานี้ขยับสูงขึ้นไปในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการบ่งบอกให้ทราบว่าได้มีการนำเอาส่วนประกอบเรื่องการเมืองมาใช้ในเวลาคำนวณราคาด้วย

**ถ้าราคาขยับขึ้นในอนาคตจะเกิดปฏิกิริยาอย่างไร**

คำถามหนึ่งที่ชวนขบคิดก็คือ ผู้บริโภคจะยินดีกับหลักเกณฑ์ใหม่นี้หรือไม่ ถ้าหากในการประกาศราคาขายปลีกในช่วง 10 วันข้างหน้า ปรากฏว่าจะต้องมีการปรับเพิ่มราคาขึ้นไป “ผมสงสัยว่าผู้คนส่วนใหญ่ก็จะร้องเรียนโวยวายกันอยู่ดี เมื่อราคาเกิดขยับสูงขึ้น” ตู กล่าวให้ความเห็น

ในกรณีเช่นนั้น รัฐบาลอาจจะใช้วิธีเข้าแทรกแซงและเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกกลไกราคาเช่นนี้เสีย เหมือนกับที่ได้เคยกระทำมาในอดีตด้วยเหตุผลที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อและมีความหวั่นวิตกว่าจะเกิดความไม่สงบในสังคม โดยตามรายงานข่าวของซินหวาซึ่งอ้าง คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ ก็ระบุเอาไว้ว่า การปรับราคาให้สูงขึ้น “อาจจะถูกระงับเอาไว้ก่อน, ถูกชะลอออกไป, หรือทำการปรับขึ้นราคาให้น้อยลงกว่าหลักเกณฑ์ ในเมื่อเกิดกรณีพิเศษต่างๆ ขึ้นมา เป็นต้นว่า อัตราเงินเฟ้อภายในประเทศพุ่งสูงลิ่ว, เกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ, หรือราคาน้ำมันโลกมีการเหวี่ยงตัวแกว่งไกวอย่างแรงมาก”

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ สูตรคำนวณใหม่จะมีความแตกต่างมากน้อยแค่ไหนในทางปฏิบัติ จากระบบเก่าที่เป็นระบบควบคุมราคาแบบเต็มตัว หรือว่าสูตรคำนวณใหม่นี้จะส่งผลแค่ไหนในเรื่องการลดการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างฟุ่มเฟือย, ความสูญเปล่าทางด้านพลังงาน, และการเกิดหมอกควันพิษในอากาศ

ระดับราคาขายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิงมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ที่ว่า เพียงแค่การคาดการณ์เรื่องราคาพลังงานจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็มีอำนาจบงการเหนือพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว โดยในวันที่ 27 มีนาคม คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งซึ่งระบุว่า รายงานข่าวที่คาดการณ์ว่าจะมีการขึ้นราคาก๊าซธรรมชาติ เป็นรายงานข่าวที่ “ไม่มีมูล” และ “ปราศจากความจริงโดยสิ้นเชิง” ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวดาวโจนส์

คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ เคลื่อนไหวเพื่อกำจัดข่าวลือคราวนี้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่หนังสือพิมพ์ ไชน่า บิสซิเนส ไทมส์ รายงานว่าราคาก๊าซธรรมชาติจะกระโจนพรวดขึ้นไปถึง 30% ทำให้เกิดการไล่ซื้ออย่างตื่นตระหนก และมีแถวรอยาวเหยียดที่สถานีเติมก๊าซในบางมณฑล ทั้งนี้ตามข่าวของสื่อมวลชนของทางการ

รายงานของ ไชน่า บิสซิเนส ไทมส์ แท้ที่จริงเป็นการสอดรับกับความคาดหมายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลชุดใหม่คงไม่แคล้วที่จะต้องปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติ เพื่อชดเชยการขาดทุนจากที่ต้องขายก๊าซนำเข้าราคาสูงในอัตราราคาภายในประเทศซึ่งถูกตรึงเอาไว้คงที่ คำแถลงของ คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ จึงต้องแจกแจงเน้นย้ำว่า การปรับขึ้นราคาใดๆ ก็ตามจะกระทำได้ ต้องภายหลังมีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเท่านั้น

หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ ของทางการจีนรายงานเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาว่า คณะกรรมการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งฉางชุน (Changchun Development and Reform Commission) ในมณฑลจี๋หลิน (Jilin) ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ วางแผนการจะปรับขึ้นราคาก๊าซสำหรับใช้ในครัวเรือนสูงขึ้นถึง 40% แต่การเพิ่มราคาคราวนี้มีขึ้นหลังจากที่มีการทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ระบุ

วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น